รายงานพิเศษ:ไทม์ไลน์ พ.ร.บ.“การศึกษาพระปริยัติธรรม” กว่าจะถึงวันที่ ครม.อนุมัติงบกลางให้ “346” ล้านบาท

ในขณะที่บุคลากรเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม หรือมีชื่อย่อว่า “จศป.” จำนวน 3,320 อัตรา ได้รับเงินอุดหนุนงบกลางมา จำนวน 346,726,400 บาท กำลังดีอกดีใจกับสิ่งที่ควรได้ หลังรอคอยมานานถึง 4 ปีกว่า ตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562

ความจริงเรื่องนี้ “งบประมาณกลาง” ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เมื่อวาน หากยึดตามหนังสือของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ พศ.0002/8924 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ที่อ้างถึงกระทรวงการคลังมีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค.0408.3/8872 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 กระทรวงการคลังเห็นชอบ 596,957,350 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม จำนวน 3,963 อัตรา มิใช่แค่ 346 ล้านบาทและ 3,320 อัตราเท่านั้น

แต่เอาเถอะ “กำขี้ดีกว่ากำตด”  และเรื่องนี้ชาว “จศป.” ก็อย่าดีใจ อย่าไว้วางใจ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จนละเลยไม่ติดตาม “สิทธิ” สิ่งที่พวกท่านควรได้ เพราะสิ่งที่ “ครม.” อนุมัติมานี้เป็นแค่ “งบฉุกเฉิน” เท่านั่น..คำถามต่อไปคือ “เงินเดือน -สิทธิประโยชน์”  ในอนาคตแบบยั่งยืน

ในกฎหมายลูกที่เป็นข้อบังคับคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยโครงการการบริหารงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้  แบ่งออกเป็น 4 แท่งใหญ่ คือ 1.สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง 2.สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง 3. สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และ 4. ศูนย์พระปริยัตินิเทศแห่งคณะสงฆ์

เห็นไหม..ในอดีต “โรงเรียนพระปริยัติธรรม”  เสมือน “ลูกนอกใส้” ของมหาเถรสมาคม วันนี้ต้อง “เลี้ยงดู” ครอบคลุมการศึกษาของคณะสงฆ์เกือบทั้งหมด

“เมื่อดื่มน้ำจากบ่อ อย่าลืมคนที่ขุดบ่อ”

“ผู้เขียน” ขอปูพื้นความเป็นมาพอสังเขป การศึกษาพระปริยัติธรรมสายสามัญกว่าจะถึงวันนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง  เดิมการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ คณะสงฆ์จัดกันเองภายในวัดเพื่อสร้างศาสนทายาท เพื่อนำเด็กที่ “ตกหล่น” จากระบบการศึกษาของรัฐมาไว้ที่วัด และการศึกษา “พระปริยัติธรรม แผนกสามัญ” ในอดีต “มหาเถรสมาคม” ก็ไม่นับว่าเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นประเภท “นอกคอก”  เพราะเชื่อว่า “สามเณรกลุ่มนี้” เรียนเพื่อออกไปใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ มิได้อยู่เพื่อเป็น “หน่อเนื้อ” ของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง

นอกจากการศึกษา “นักธรรม -บาลี” แล้วมหาเถรสมาคมยุคก่อน ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั้ง พระจะไปเรียน “พิมพ์ดีด -ภาษาอังกฤษ” ก็มองว่า “เดรัจฉานวิชา”  เจ้าอาวาสบางวัดจึงมีกฎว่า “พระภิกษุ -สามเณร” รูปใดเรียนวิชาทางโลก “เชิญออก” จากวัด  ยุคก่อนหาวัดอยู่ยากพระ -เณร  “ยอมจำนน” บ้าง “แอบเรียน” บ้าง ไม่เหมือนยุคนี้ “พระภิกษุ -สามเณร” มีคุณค่า มีราคา แม้กระทั้ง  “หลวงตา” เจ้าอาวาสบางวัดก็รับไว้เพื่อให้ครบรับ “องค์กฐิน” หรือบางวัดต่างจังหวัด  “จ้างอยู่” ก็มี

ยุคก่อนปี 2540  โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญ ซึ่งมีสามเณรเรียนอยู่จำนวนมาก  มีพระเถระหลายรูปมองว่า ควรได้รับการส่งเสริม แต่ก็มีปัญหาว่า จะให้โรงเรียนปริยัติธรรมสายสามัญ ไปขึ้นกับแท่งการศึกษาไหน จะให้ไปขึ้นกับกรมสามัญศึกษา เหมือนโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษาทั่วไป ก็ไม่ได้ จะให้ไปขึ้นกับแท่งโรงเรียนเอกชน เหมือนกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้ เรียกว่า ไม่รู้จะจัดโรงเรียนสามเณรเข้าในโรงเรียนประเภทไหน

จนเมื่อปี 2553 “สมเด็จเกี่ยว” สมเด็จพระพุฒาจารย์  อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ออกประกาศมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อให้ “มหาเถรสมาคม” ให้การรับรองว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญ ก็เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์เช่นเดียวกับ “การศึกษานักธรรม-บาลี”

“ผู้เขียน” ถามจาก “แหล่งข่าว” ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มา ตั้งแต่ทำงานร่วมกับ “สภาการศึกษาแห่งชาติ” ระบุว่าตอนนั้น คณะกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติหลายคน “ทึ่ง” กับตัวเลขสามเณรที่อยู่ที่กำลังศึกษาอยู่ 3 -4 หมื่นรูป แต่ “รัฐไม่ได้ดูแล” และเห็นด้วยว่าคณะสงฆ์ รัฐบาล “ต้องอุ้มสามเณร” กลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา แม้กระทั้งตัวแทน “คนมุสลิม” ในสภาการศึกษาแห่งชาติก็สนับสนุน พร้อมทั้งแนะนำให้เลียนรูปแบบการบริหารจัดการแบบ “โรงเรียนปอเนาะ” ในศาสนาอิสลาม ซึ่งจะมี “งบประมาณ” จากรัฐบาลเข้าไปสนับสนุน สุดท้ายที่ประชุมได้จัดตั้ง “อนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง” เพื่อศึกษาเรื่องนี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 มหาเถรสมาคมโดย “สมเด็จวัดปากน้ำ” สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม ขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย กรรมการมหาเถรสมาคม 6 รูป พระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 รูป รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ พร้อมด้วยข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมคณะกรรมการทั้งหมด 22 รูป/คน เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม เสนอ มหาเถรสมาคมเห็นชอบ เพื่อมอบต่อให้กับรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

“เจ้าคุณพล-สุวพันธุ์-พงศ์พร-มหาฉัตรชัย”  สานฝันให้คณะสงฆ์เป็นจริง ก่อเกิด พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม

“ผู้เขียน” ติดตามและเกาะติดการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ “ตั้งไข่” โดยมี “พระเทพเวที”  หรือ “เจ้าคุณพล” เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร ในฐานะ “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” ของคณะกรรมาธิมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  “คอยป้อน” ข้อมูลมาให้ไม่ขาด  และทั้งตั้งคำถามว่า ทำไมเจ้าคุณพลไม่ได้เป็น “คณะกรรมาธิการ” เหตุผลท่านบอกว่าเกี่ยวกับ “งบประมาณ”  เกี่ยวกับ เงิน ๆ ทอง ๆ ทางฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่อยากให้พระเข้ายุ่งมาก และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นี้ มี พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย จาก มมร. มาร่วมด้วยอีกรูป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม” อันนี้เกิดขึ้นได้ นอกจาก “ฝ่ายบ้านเมือง” อันประกอบด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุคนั้น “สนับสนุน” ผลักดันอย่างจริงจังแล้ว

ในคณะสงฆ์เอง “เจ้าคุณพล” ทำงานได้อย่างราบรื่นเพราะมี “แบ็คดี” คอยทะลวง “ปัญหาและอุปสรรค” ทั้งฝ่ายการเมืองและมหาเถรสมาคมให้นั่นคือ  “สมเด็จพระวันรัต” อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ในฐานะประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ในขณะที่มี “พระสมเด็จ” อีกรูปที่เกี่ยวข้องกับ “งบประมาณ” ยึกยักขี้กลัว เพราะช่วงนั้นในสังคมสงฆ์ เกิดปรากฎการณ์ “คดีเงินทอนวัด” ไม่กล้า แม้จะเรียกประชุมคณะกรรมการ ปล่อยปละละเลย เสียเวลาหลายเดือน จนต้องมีคนไป “อ้อนวอน” ขอให้จัดประชุมไม่งั้น “เอกสาร” กระบวนการยื่นขอไม่ครบ

“วันสังฆประชาปีติ” คือวันแห่งประวัติศาสตร์ “การศึกษา” ของคณะสงฆ์

ในหนังสือ “บันทึกประวัติศาสตร์” พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 พระเทพเวที ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้ ท่านเขียนไว้เล่าอย่างละเอียดว่า “วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 ถือว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ได้รับอาราธนาจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาให้มาร่วมฟังการพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พระพุทธศาสนาร่วมด้วย เวลา 10.45 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติโหวตเห็นชอบ 152 ท่าน งดออกเสียง 6 ท่าน ไม่ลงคะแนน 2 ท่าน จากผู้ประชุมทั้งหมด 160 ท่าน ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ ทุกท่านที่ร่วมรับฟังดีใจและปรบมือ ทั้งสาธุการเป็นการใหญ่..

ซึ่งต่อมาพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลง วันที่ 16 เมษายน 2562 ประการใช้อย่างเป็นทางการ

รอคอย  4 ปี 5 เดือน กว่าจะได้งบกลางมาสนับสนุน “346 ล้านบาท

หลักจากพระราชบัญญัติพระปริยัติธรรม ประกาศใช้ ผลที่ตามมาคือ ต้องทำ “กฎหมายลูก” เป็นไปด้วยความล่าช้า “ติดขัด” เนื่องจากเป็น “งานใหม่” ของคณะสงฆ์  เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ถือว่า “งานใหม่” การออกกฎหมายลูกเหมือน “ตาบอดคลำทาง”  ทำงานท่ามกลาง “ความคาดหวัง” ของเจ้าหน้าที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม รวมทั้งบุคลากรอีก 3 หน่วยงาน คือ แม่กองบาลี แม่กองธรรม และศูนย์พระปริยัตินิเทศก์  การรอคอยงบประมาณที่ยาวนาน เกิดมีการประท้วง ยื่นหนังสือ หลายครั้ง ทั้งเกิดการ “ชุมนุม” ที่หอประชุมใหญ่พุทธมณฑล มีการยื่นหนังสือเร่งรัดงบประมาณที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม  ในขณะที่ คณะสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนา “เร่งรัด” ทำข้อมูลส่ง กระทรวงการคลัง ก็ถูกตีกลับให้แก้ไขปัญหา 11 ประเด็นสำคัญ เช่น ความซับซ้อนของตำแหน่ง อัตรากำลัง เป็นต้น

แม้กระทั้ง “ผู้เขียน” ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศาสนาก็เคยนิมนต์ “เจ้าคุณพล” พระเทพเวที และ “พระเทพปวรเมธี” รองประธานศูนย์ปริยัตินิเทศหนกลาง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มาร่วมหาทางออก ในขณะที่ชุดใหญ่ อันมี คุณพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล  ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ดร.ณพลเดช มณีลังกา  และอีกหลายท่าน ร่วมกันเชิญสำนักงบประมาณ งบบัญชีกลาง มาร่วมพูดคุย รวมทั้ง ดร.นิยม เวชชากามา ในฐานะคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ ก็ร่วมกับบี้ แต่..กระทรวงการคลัง ก็ ยังนิ่ง อ้างว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่งเอกสารมาผิดบ้าง บกพร่องบ้าง สุดท้าย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำงานด้าน นี้ ในขณะที่รอบนอก เจ้าหน้าที่ บุคคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรม “ฮึ่ม” พร้อมคลื่อนพลบุกมาพุทธมณฑลตลอดเวลา จนล่าสุดมีข่าวว่า ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งกองขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ในขณะที่ “คณะสงฆ์” หลังจากสิ้น “สมเด็จพระวันรัตน์” การออกฏหมายลูกหยุดชะงักพักใหญ่ จนมหาเถสมาคมมีมติมอบหมายงานให้กับ “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร รับผิดชอบต่อในตำแหน่ง “ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม” โดยมี “สมเด็จชิน”สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่จับเรื่องนี้มา ตั้งแต่ครองสมณศักดิ์เป็น “พระพรหมมุนี” คอยเป็น “แบคอัพ” อยู่ด้านหลัง

จนล่าสุด “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เดินทางไปจังหวัดขอนแก่นมีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งยื่นหนังสือให้ติดตามเรื่องนี้ พร้อมทั้งอีกวันมีเจ้าหน้าที่ครูสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรมมายื่นต่อที่พรรคเพื่อไทยโดยมี ดร. เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ดร.นิยม เวชชกามา พร้อมทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยรับมอบและรับปากไว้ว่า 1 เดือนต้องเคลียร์จบ

และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีก็อนุมัติงบกลางให้เพื่อเป็นค่าตอบแทนรายเดือนแก่เจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) จำนวน 3,320 อัตรา จำนวน 346,726,400 บาท ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอ นขณะอีก 3 แท่ง คือ สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ส่วนกลางได้รับเงินเดือนแล้วจำนวน 31ท่าน สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวงจำนวน 59 ท่าน ส่วน สำนักงานศูนย์พระปริยัตินิเทศแห่งคณะสงฆ์ได้รับเงินเดือนแล้วจำนวน 6 ท่าน ทั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565  ในขณะที่ต่างจังหวัดยังไม่มีท่านใดได้รับเลยแม้คนเดียว

ตอนหน้าหากมีโอกาส “ผู้เขียน” จะสัมภาษณ์ เรื่องนี้จาก “พระเทพเวที” เจ้าคณะภาค 6 คีย์แมนคนสำคัญที่ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น รวมทั้งความรู้สึกของชาว “จศป.” ด้วยเช่นกัน..

Leave a Reply