เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เฟซบุ๊ก ทองย้อย แสงสินชัย ได้โพสต์ข้อความว่า ใช้หนี้พระศาสนากันบ้างหรือยัง
พระเดชพระคุณรูปหนึ่งซึ่งเป็น “คีย์แมน” หรือบุคคลคุณภาพในการบริหารการศึกษาทางพระศาสนา ท่านเล่าถึงสำนักเรียนบาลีที่ท่านเคยไปเล่าเรียนศึกษาสมัยเป็นสามเณร เป็นสำนักเรียนที่คึกคักที่สุด ด้วยฝีมือการบริหารจัดการชั้นเซียนเหยียบเมฆของ “หลวงพ่อ”
พอสิ้นบุญหลวงพ่อ ก็สิ้นบุญของสำนักเรียน ทุกวันนี้สำนักเรียนแห่งนั้นร่วงโรยถึงที่สุด ฟังแล้วสะเทือนใจอย่างยิ่ง
สำนักเรียนบาลี-วัดมหาธาตุ ราชบุรี-ที่ผมเคยเรียนก็มีสภาพแบบเดียวกัน ผมเชื่อว่าคงจะเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วประเทศ
สำนักเรียนบาลีเป็นเพียง “กรณีศึกษา” ส่วนหนึ่งเท่านั้น กิจการพระศาสนาด้านต่างๆ ของเรารุ่งเรืองเพราะฝีมือบริหารของตัวบุคคลทั้งสิ้น
พอตัวบุคคลล่วงลับ กิจการนั้นๆ ก็ร่วงโรย
ผมเห็นว่า ความหวังเดียวของพระศาสนาก็คือ-อย่าฝากความหวังของพระศาสนาไว้กับใครคนเดียว ที่ผ่านมาเราบริหารกิจการพระศาสนาด้วยความคิดของบุคคลคนเดียว ต่อไปนี้ถ้าคิดจะรักษาพระศาสนาเราต้องเปลี่ยนวิธีการ จากตัวบุคคลมาบริหารเป็นคณะหรือเป็นองค์กร
คณะหรือองค์กรยั่งยืนกว่าตัวบุคคล แต่ก็เข้ารอยเดิมของทุกปัญหา นั่นคือ ใครล่ะจะเป็นคนลงมือเปลี่ยน ใครล่ะจะเป็นคนเข้าไปขับเคลื่อนผู้มีอำนาจมีตำแหน่งมีหน้าที่ให้ลงมือขับเคลื่อนงานพระศาสนาในแนวทางใหม่-คือฝากความหวังไว้กับคณะหรือองค์กร เราไม่ควรฝากอนาคตของพระศาสนาไว้กับตัวบุคคล แต่แล้วอนาคตของเราก็มาเจอทางตันที่ตัวบุคคลทุกทีไป ผมคิดเรื่องนี้จนอยากจะตกลงใจว่า-แบบนี้ก็ตัวใครตัวมันเถอะ
เอาตัวรอดก่อนดีกว่า
พระศาสนารอด เราก็รอด
พระศาสนาไม่รอด เราก็ยังรอด
ดีกว่าพระศาสนาก็ไม่รอด เราก็ไม่รอด
เก็บบุญใส่ย่าม ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมไปตามลำพัง
ไม่ทำบาปทั้งปวง
ทำกุศลให้ถึงพร้อม
ทำจิตของตนให้ขาวรอบ
เรียนมาแล้ว
ทำเองเป็นแล้วนี่
การพระศาสนาจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องสนใจ
ผมเชื่อว่าชาวพุทธส่วนใหญ่บ้านเราคิดแบบนี้
ผู้บริหารการพระศาสนา ซึ่งมีตำแหน่ง มีหน้าที่ มีทั้งอำนาจ ก็ดูเหมือนจะคิดแบบนี้
ผมเองก็อยากคิดแบบนี้มั่ง แต่มาคิดอีกที – เหมือนคนยืมเงินเขาไปแล้วไม่ใช้คืน
ได้ความรู้ไปจากสำนัก ได้ดีไปจากวัด มีวันนี้ได้ก็เพราะสำนัก ก็เพราะวัด ก็เพราะพระศาสนาแล้วเราใช้หนี้พระศาสนากันบ้างหรือยัง และถ้าคิดจะใช้ ใช้ยังไง?
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย
Leave a Reply