“นักวิชาการศาสนา” มหาวิทยาลัยชื่อดัง..ชำแหละเป็นพระภิกษุทำไมต้องสวดมนต์ พร้อมเตือนประชาชน “ฟังหูไว้หู”

วันที่ 3 ธันวาคม 2567  ดร.มงคล นาฏกระสูตร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร นักวิชาการด้านศาสนา ได้โพสต์กรณีมีพระภิกษุรูปหนึ่งได้พูดว่า “ไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์” โดยมีรายละเอียดข้อความโพสต์ว่า ปรากฎมีพระภิกษุรูปหนึ่งกล่าวเทศนาแบบอวดตนว่า ไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์ ยังปรามาสพระผู้ทรงพระปาฏิโมกข์และการสวดพระปาฏิโมกข์ เมื่อท่านหิวแสง วันนี้คงจะต้องชำแหละเรื่องนี้กันบ้าง

เป็นพระได้เพราะการสวด

ปัจจุบันการอุปสมบทของสงฆ์เถรวาท เป็นระบบญัตติจตุตถกรรมวาจา คือการสวดญัตติ โดยพระคู่สวด (พระกัมมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์) ส่วนพระอุปัชฌาย์ก็สวดบอกอนุศาสน์แก่อุปสัมปทาเปกขะ (ผู้ขอบวช) การบอกว่าไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์ ถ้าไม่มีการสวดญัตติกรรม พระคุณเจ้าผู้กล่าวจะมาเป็นพระได้อย่างไร ทราบบ้างหรือไม่ !

การสวดในพระพุทธศาสนามีมาแต่พุทธกาล

 การสวด (สังคีติ) คือการกล่าวขึ้นพร้อมกัน มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 4 ประการ

1.การสวดในวินัยกรรม เช่น สวดตั้งญัตติ สวดเผดียงสงฆ์ สวดปาฏิโมกข์ ฯลฯ เป็นสังฆกรรมตามพระวินัยใช้การสวดทั้งนั้น

2.การสวดพระปริตร คือ การสวดเพื่อปกป้องภัยต่างๆ เช่น สวดรัตนสูตร เพื่อป้องกันทุพภิกขภัย, สวดกรณียเมตตสูตร เพื่อป้องกันภูตผี,สวดโพชฌังคสูตร เพื่อรักษาโรคภัย ฯลฯ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตและประทานบทสวดด้วยพระองค์เอง

3.สวดสรภัญญะ คือ การสวดทำนอง ทรงยกย่อง พระโสณกุฏิกัณณะเป็นเอตทัคคะในด้านนี้

4.สวดระลึกคุณของพระรัตนตรัย เพื่อให้เกิดอนุสติในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน เป็นอุบายให้จิตน้อมเข้าสู่สมาธิได้เร็วขึ้น

สังเกตุเห็นว่าทั้ง 3 ข้อแรกมีปรากฎในพระไตรปิฎกชัดเจนและมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ส่วนข้อสุดท้ายไม่ชัดเจนว่าเกิดเมื่อไร แต่นิยมสวดมนต์กันถึงปัจจุบัน การบอกว่าไม่ได้บวชมาเพื่อสวดมนต์จึงพูดขัดกับพระธรรมวินัยว่าเอาเอง ส่วนการสวดอ้อนวอนบวงสรวงขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็มิใช่ทัศนะพุทธในความหมายนี้เช่นกัน.

พระสร้างคอนเท้นต์ : ชอบสอนขัดกับพุทธประเพณี

 ช่วงนี้โซเซี่ยลมีเดียมีอิทธิพลทางสังคมมาก คนนิยมสร้างcontent เป็นดราม่าให้ดูมีประเด็น(issue) เพื่อการโต้แย้งเรียกยอดวิว พระบางรูปก็ทำตามชาวบ้าน ด้วยการพูด ทำสิ่งที่ขัดกับพุทธประเพณี เช่น ไม่ไหว้พระพุทธรูป เจดีย์ ต้นโพธิ์ พูดแปลกๆ จนล่าสุดเรื่องสวดมนต์ว่าสวดทำไม ไม่ได้ประโยชน์ ผู้ปฏิบัติธรรมไม่จำเป็น พาญาติโยมสับสนว่า ที่ทำกันมาเป็นพันปีจะผิดหรือไร ! โดยอาศัยว่าชาวบ้านรู้เรื่องศาสนาแบบผิวเผิน อยากจะพูดจะว่าอะไรก็ว่า โดยไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรต่อพระศาสนาในภาพรวมบ้าง ตัวผู้พูดอาจจะมีชื่อเสียงขึ้น แต่ญาติโยมงงและอาจจะขัดแย้งกับฝ่ายเดิมๆที่ปฏิบัติอยู่ได้ คุ้มแล้วหรือที่ทำเช่นนั้น ถ้าถูกต้องดีงาม…ตามพระธรรมวินัยก็ขออนุโมทนา…สาธุ

แต่ถ้าผิด…นอกจากตัวเองได้รับผลกรรมและยังจะพาสาวกพลอยติดร่างแหไปด้วย…ดังนั้นชาวพุทธอย่าเชื่อง่าย พระเดี๋ยวนี้บางรูปไม่ใช่อุชุปฏิปันโนเหมือนอดีต…ต้องฟังหูไว้หูบ้าง…จะได้ไม่เสียความรู้สึกในภายหลัง

Leave a Reply