“ปฎิรูปคณะสงฆ์” ปี’65  เพื่อการสร้างสังฆะ จาก ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี 

วันที่ 3 ม.ค. 64    ศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี  รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ได้โพสต์เฟชบุ๊ค เรื่อง “ข้อเสนอเพื่อการสร้างสังฆะ” ความว่า

มีคนขอให้ออกรายการคุยเรื่องการปฏิรูปคณะสงฆ์ ว่าผมมีข้อเสนออย่างไร

ผมว่าถ้าออกรายการพูดตามธงที่เขาตั้งไว้ทุกอย่างก็ Happy แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างที่จะถูกคอถูกใจเขามันก็จะกร่อย   เป็นอันว่าขอโบกมือบ๊าย บ่าย    แต่ขอให้มาติดตามข้อมูลในเฟสแล้วกัน

ผมก็คงพูดได้ในแบบฉบับของนักวิชาการนั่นแหละ

ไม่อยากพูดอะไรที่มันเกินเลยความจริงที่จะเป็นไปได้

พูดก็ต้องพูดที่พอจะเป็นไปได้ มันจึงจะทำให้พอเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เป็นไปสู่สิ่งที่อยากให้เป็นได้

..ผมเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า องค์กรสงฆ์มีขนาดใหญ่โต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบโดยวางระบบให้อำนาจรวมศูนย์ไว้ที่เดียวหรือไม่…

…ผมคิดว่า การจัดระเบียบด้วยกฎหมายที่เน้นอำนาจรวมศูนย์ เหมาะสมกับองค์กรทั่วๆไป ที่วางหลักการก่อกำเนิดและการดำรงอยู่ให้เป็นระบบ ดังเช่น ระบบราชการ

..แต่ระบบกฎหมายเป็นระบบที่ขัดแย้งกับสถานะขององค์กรสงฆ์ที่มุ่งเน้นความผูกพันในรูปแบบ “สังฆะ” ซึ่งน่าจะเรียกว่าชุมชนมากกว่า องค์กร ด้วยซ้ำ ความผูกพันที่กล่าวมาวางอยู่บนพื้นฐานของพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้

ความขัดแย้งต่ออุดมการณ์การก่อเกิดคณะสงฆ์ จึงส่งผลให้เกิดลัทธิ นิกาย กลุ่มก้อน เครือข่ายศรัทธาที่กระจัดกระจายกันไป ต่างกลุ่มต่างดัดแปลงศาสนธรรมมาปลูกศรัทธาสาวก กลุ่มก้อนคนคอเดียวกันจนกลายเป็นพระพุทธศาสนาหลากสายพันธุ์ ธรรมะข้อเดียวตีความกันไปจนหาความเป็นเอกภาพไม่ได้

เมื่อโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น ในขณะที่อุดมการณ์ความเป็นเสรีชน

กลายเป็นศาสนาใหม่ที่ปลุกผู้คนไม่ให้กลัวต่ออำนาจที่ถูกตีกรอบโดยรัฐในนามของกฎหมาย แดนสนธยาที่เคยรักษาอำนาจคนชั้นนำบางกลุ่มจางหายไป

เราก็เห็นภาพชัดว่า องค์กรสงฆ์ก็ซวนเซเช่นกัน เพราะอำนาจการปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่หลักประกันความเข้มแข็งขององค์กรสงฆ์ได้อีก มีพระสงฆ์บางกลุ่มเปลี่ยนท่าทีถอยห่างจากอำนาจ

ผมเชื่อว่านี่เป็นผลมาจากความไม่ลงตัวของการนำกฎหมายมาปกครององค์กรสงฆ์ที่มีระบบแบบแผนคือพระวินัยยึดเป็นหลักในการจัดระเบียบอยู่แล้ว

ผมคิดว่า คุณลักษณะขององค์กรที่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบ คือ

1.ไม่มีกฎใดเป็นสากลในการจัดระเบียบองค์กร

2.ต้องการให้การใช้อำนาจมีความชอบธรรม

3.เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบและวางระบบให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

แต่สถาบันสงฆ์อยู่ตรงข้ามกับคุณลักษณะ 3 ประการดังกล่าวนั้น

1.สถาบันสงฆ์มีกฎเป็นสากลในการจัดระเบียบอยู่แล้ว คือ พระวินัย กฎหมายสามารถเข้ามาเป็นส่วนเสริมไม่ใช่เข้ามาสวมทับและทำให้วินัยถูกลดระดับความสำคัญลง ที่ผ่านมาเกิดความสับสนมากเมื่อเกิดกรณีพระสงฆ์กระทำความผิด แทนที่จะยกวินัยขึ้นว่าก่อน กลับเอากฎหมายมาดำเนินการก่อน เมื่อหาความผิดไม่เจอจึงย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อบทลงโทษในทางพระวินัย

2.การใช้อำนาจในทางคณะสงฆ์มีหลักการทางพระวินัยที่จัดวางไว้เป็นระบบอยู่แล้ว อำนาจในทางพระวินัยไม่ได้มีเพื่อจัดลำดับให้คนอยู่เหนือคนเหมือนกฎหมาย แต่เป็นไปด้วยความเคารพต่อทุกคน ถึงแม้พระวินัยจะมีลำดับขั้นของความหนักเบาตามแต่กรณี และหากเหลือวิสัยที่พระวินัยจะก้าวเข้าไปจัดการได้ ก็จะเป็นหน้าที่ของกฎหมายบ้านเมืองตามหลักการ “ราชูนัง อนุวัตติตุง”

3.สถาบันสงฆ์ไม่ใช่องค์กรใหม่ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล มีพระวินัยเป็นฐานรองรับ แต่เมื่อกฎหมายเข้ามา หน้าตาการปกครองคณะสงฆ์จึงมีลักษณะเป็น Hybrid ลูกผสม เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัดลำต้นส่วนบนออกแล้วนำลำต้นไม้พันธุ์อื่นมาสวมต่อ ยังไงก็เติบโต แต่ไม่งดงาม

ความเห็นส่วนตัวผม จึงอยากเสนอให้ปี 2565 เป็นปีที่ ควรต้องกลับมาทบทวนเพื่อการ ปฏิรูปคณะสงฆ์ โดยมีเป้าหมาย

1.เพิ่มบทบาทของพระธรรมวินัย ลดบทบาทของกฎหมายที่มีอยู่ ถามว่าทำอย่างไร คงต้องพูดกันอีกยาว แต่ทำได้จริง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการที่พระผู้ปกครองมีความมั่นใจที่จะใช้อำนาจตามพระธรรมวินัยตัดสินวินิจฉัยหรือหยิบยื่นความเป็นธรรมให้พระสงฆ์ด้วยกันเอง

2.จัดระบบความสัมพันธ์ในสถาบันสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์สายปกครอง สายป่า สายวิชาการ สายบ้าน สายเผยแผ่ สายพัฒนา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ความแตกต่างในวิถีปฏิบัติมาก จะทำให้เกิดกลุ่มมาก เมื่อเกิดกลุ่มมาก จะทำให้ความเข้มแข็งน้อย

Leave a Reply