“สมศักดิ์” เร่งตั้งศูนย์ “ไกล่เกลี่ย” ภาคประชาชน ลดความขัดแย้งในชุมชน กพยช.บูรณาการหลักธรรมทุกศาสนา มุ่งถวายความรู้กม.ไกล่เกลี่ยพระสงฆ์ทั่วประเทศ

“สมศักดิ์”เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ ตั้งศูนย์ “ไกล่เกลี่ย” ภาคประชาชนทั่วประเทศ หวังช่วยลดคดี-ลดความขัดแย้งในชุมชน ให้ชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว กพยช.บูรณาการหลักธรรมทุกศาสนา มุ่งถวายความรู้กม.ไกล่เกลี่ยพระสงฆ์ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 68 กำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินควร จึงได้ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำเนินการตราพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ขึ้น เพื่อนำกระบวนการ “ไกล่เกลี่ย” ข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาบางประเภท มากำหนดเป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน หรือ ศูนย์”ไกล่เกลี่ย”ข้อพิพาทประชาชน ใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาท และได้สร้างผู้ทำหน้าที่ “ไกล่เกลี่ย”ข้อพิพาทในชุมชน รวมถึงขึ้นทะเบียนผู้ทำหน้าที่”ไกล่เกลี่ย”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้ง ศูนย์”ไกล่เกลี่ย”ภาคประชาชน ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้จัดตั้ง ศูนย์ “ไกล่เกลี่ย”ข้อพิพาทภาคประชาชน ครบ 50 เขต ครอบคลุม 180 แขวง ในกรุงเทพมหานคร และในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกจำนวนกว่า 406 แห่ง เพื่อเป็นจุดเชื่อมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกรวดเร็ว เป็นธรรม และเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก เพื่อช่วยลดคดี ลดความขัดแย้ง ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีผลบังคับตามกฎหมาย ประชาชนสามารถติดต่อใช้บริการได้ที่ ศูนย์ “ไกล่เกลี่ย”ข้อพิพาทภาคประชาชน ได้ทุกแขวงในเขตกรุงเทพมหานคร โดยจากนี้จะเร่งตั้งให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้สามารถยื่นคำร้องผ่านระบบ www.emediation.rlpd.go.th ได้หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77

“การตั้งศูนย์”ไกล่เกลี่ย”ข้อพิพาทประชาชน เป็นการช่วยเหลือและเยียวยา ตามหลักสังคมสมานฉันท์ สร้างวัฒนธรรมการ”ไกล่เกลื่ย” เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว สามารถช่วยลดคดีต่างๆ รวมทั้งความขัดแย้งในชุมชน ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเป็นการนำความยุติธรรมสู่มือประชาชน ตามนโยบาย ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน นายสมศักดิ์ กล่าว

กพยช.บูรณาการหลักธรรมทุกศาสนา มุ่งถวายความรู้กม.ไกล่เกลี่ยพระสงฆ์ทั่วประเทศ

ขณะที่พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร นักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่น 17 กระทรวงยุติธรรม(ออนไลน์) เปิดเผยว่า ภาคบ่ายวันนี้(4ม.ค.) เข้ารับการเรียนรู้และฝึกอบรม “หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง” รุ่น 17 ในฐานะเลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชร มจร ซึ่งดูแลยุติธรรมทางเลือกบริการสังคมให้เกิดสันติสุข จัดโดย สถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ภายใต้หัวข้อ #การพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยภายใต้คณะกรรมการพัฒนาบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) บรรยายโดย พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ หรือ กพยช.ฃ

พ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร กล่าวประเด็นสำคัญว่า โดยปัจจุบันมีการใช้แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562-2565) ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการจัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อให้มียุทธศาสตร์ แนวทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน มีความทันสมัยสอดรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมมุ่งด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านบุคลากร ด้านวิจัย และด้านตัวชี้วัดและIT ปัจจุบันมีการแก้ไขฟื้นฟูให้คนผิดกลับคืนสู่สังคม ไม่ต้องการให้พลัดพลาดจากสังคม ทำให้การปรับตัวมีความยากถึงจะมองว่าคนทำผิดต้องถูกลงโทษ แต่จะให้คนผิดกลับคืนสู่สังคมอย่างไร จึงต้องให้ทุกคนมีที่ยืนสู่สังคม ด้วยมีวิธีการอื่นๆ แทนการลงโทษ มีการลงโทษที่มีความเหมาะสม โดยมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูแลอยู่ ถือว่าเป็นกลไกในการทำงานด้านยุติธรรมจึงต้องอาศัยความร่วมมือในการพัฒนางานยุติธรรม จึงต้องขับเคลื่อน กพยช.เพื่อนำเสนอต่างๆ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

โดยดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการดำเนินการเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SCGs) รวมถึงการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย โดยการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย การสร้างรับรู้กฎหมายให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน เช่น เด็กนักเรียนทุกระดับชั้น รวมถึงพระสงฆ์ในชุมชนต่างๆ จึงต้องเพิ่มความรู้ให้กับพระสงฆ์ในชุมชนทั่วประเทศผ่านการประยุกต์คำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อป้องกันมิติต่างๆ ผ่านการใช้ศีล 5 เป็นฐาน รวมถึงบูรณาการไปทุกศาสนาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดแนวทางลดความแออัดในเรือนจำ ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวกับยุติธรรมจะต้องทำงานร่วมกันผ่านการวิจัย โดยไม่ต้องการให้วิจัยขึ้นหิ้งแต่ต้องการงานวิจัยที่ขึ้นห้างสามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงจำเป็นต้องระดมสมองของคนทำงานและคนรุ่นใหม่ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม นำไปสู่การประสานความร่วมมือยุติธรรม

นอกจากนี้มีกิจกรรมกลุ่มในการพัฒนานวัตกรรมสร้างการรับรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ภายใต้หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลางของกระทรวงยุติธรรม ในหัวข้อ #กิจกรรมถอดบทเรียนครั้งที่ 2 วิทยากรโดย พ.ต.ท.ดร.สืบสกุล เข็มทอง ผศ.ดร.พีรพล เจตโรจนานนท์ และดร.โกสินทร์ เตชะนิยม โดยกลุ่มการเวกมองถึงการสร้างนวัตกรรมการเข้าถึงกระบวนการทางเลือกของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยมองถึงการประชาสัมพันธ์ การสร้างความเชื่อมั่นของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน และงบประมาณการสนับการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นการป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งสมาชิกกลุ่มการเวกมีความตั้งใจเป็นอย่างดียิ่ง

Leave a Reply