ขอนำเสนอชีวประวัติของพระเถราจารย์รามัญแห่งเมืองดอกบัวหลวง พระมหาเถระผู้ทรงอภิญญาภูมิขั้นสูง ผู้เปรียบประดุจดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวลาดหลุมแก้ว สุดยอดพระเกจิอาจารย์เชื้อสายรามัญผู้สร้างตำนานสุดยอดพระเครื่องยอดนิยมจังหวัดปทุมธานี พระมอญรูปนี้ก็คือ.
พระครูบริรักษ์ธรรมากร (บุญเทียม ภูริปญฺโญ)
อดีตเจ้าคณะตำบลลาดหลุมแก้ว
อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดหลุมแก้ว ต. ลาดหลุมแก้ว อ.ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี
***************************
พระครูบริรักษ์ธรรมมากร หรือ หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ เทพเจ้าแห่งความเมตตาของชาวลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ท่านมีนามเดิมว่า บุญเทียม นามสกุล เอกเอี่ยม ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ บ้านหมู่ที่ ๔ ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี (เรียกชื่อตามสมัยนั้น ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๑ ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี) โดยท่านเป็นบุตรชายของโยมพ่อ เมฆ เอกเอี่ยม และโยมแม่ เล็ก(มิด๊วด) เอกเอี่ยม ซึ่งท่านมีพี่ต่างบิดา ๒ คน และมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๗ คน ซึ่งตัวท่านเองเป็นบุตรคนที่ ๗
ในวัยเด็ก หลวงพ่อบุญเทียม ท่านได้เรียนหนังสือไทยที่ โรงเรียนประชาบาลวัดระแหง(ปัจจุบันคือ โรงเรียนชุมชนวัดบัวแก้วเกษร วรพงษ์อนุกูล) โดยในขณะนั้น ครูทัน รุจิเรข เป็นครูใหญ่ ซึ่งท่านมีอุปนิสัยส่วนตัวคือชอบอ่านหนังสือ และชอบความสงบ โดยในช่วงแรกท่านยังอ่านเขียนมิค่อยคล่องนัก แต่ท่านชอบดูรูปภาพต่าง ๆ จึงทำให้มีความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น ท่าน ได้เล่าเรียนหนังสือจนกระทั่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ กระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านจึงไปขอบิดามารดามาเป็นเด็กวัด เพื่อที่จะได้เล่าเรียนหนังสือในวัดกับพระกับเณรด้วย ซึ่งบิดามารดาก็เห็นด้วยที่จะได้ให้ลูกชายอยู่ใกล้พระใกล้วัด ท่านจึงได้มาเป็นเด็กวัดอยู่ที่วัดลาดหลุมแก้ว ซึ่งมี พระอธิการเขียน เป็นเจ้าอาวาสวัดอยู่ในขณะนั้นต่อมาท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ในขณะที่อายุท่านได้ ๑๓ ปี ณ วัดระแหง(วัดบัวแก้วเกษร) เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็ได้มาอยู่ที่วัดลาดหลุมแก้ว ซึ่งในขณะนั้นที่วัดลาดหลุมแก้ว มี่พระเณรจำพรรษาอยู่เพียง ๓ รูปเท่านั้น และสภาพพื้นที่เดิมของวัดลาดหลุมแก้วในสมัยนั้นยังเต็มไปด้วยป่าที่รกชัฏ ยังไม่มีผู้คนเข้าไปหักป่าถางพงกันมากนัก ทำให้บริเวณของวัดนั้นร่มรื่น และวังเวง ดูน่ากลัว ในสมัยที่ท่านบวชเณรอยู่นั้น หลวงพ่อบุญเทียม ท่านเป็นคนที่กลัวผีเป็นทุนเดิม ท่านจึงได้ทำการถางป่าจนเตียนโล่ง สามเณรบุญเทียม ได้บวชเป็นสามเณรอยู่เพียง ๒ ปี และได้จำต้องสึกออกมาช่วยบิดามารดาทำนา เพราะพี่ ๆ น้อง ๆ ของท่านได้แยกย้ายไปมีครอบครัวกันหมด หลังจากที่สึกจากเณรออกมา ท่านก็กำลังเป็นหนุ่มแตกพาน คือ อยู่ในวัยกำลังเที่ยว กำลังสนุก คึกคะนองตามวัย แต่หลวงพ่อบุญเทียม หาได้เป็นเหมือนวัยรุ่นหนุ่มทั่ว ๆ ไปไม่ ท่านกลับชอบการทำบุญ เข้าวัดเข้าวา สร้างความดีด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นตลอด เช่น ช่วยชาวบ้านปลูกบ้าน ขุดสระ ลอกคลอง เป็นต้น จึงเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้านในย่านนั้นเป็นอย่างยิ่ง
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในขณะที่ท่านมีอายุครบ ๒๒ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ พัทธสีมาวัดระแหง(วัดบัวแก้วเกษร) เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยมี พระครูปราโมทย์ศีลขันธ์(หลวงพ่อปลื้ม) วัดระแหง(วัดบัวแก้วเกษร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมี พระอธิการโนรี ภาวณฺโณ วัดลาดหลุมแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมี พระอธิการสุมนต์ วัดบัวสุวรรณประดิษฐ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “ภูริปญฺโญ”
หลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดลาดหลุมแก้ว และได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยขั้นต้นกับพระอธิการโนรี ภาวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดลาดหลุมแก้วในขณะนั้น ต่อมาท่านได้เรียนพระปริยัติธรรม และได้เข้าสอบนักธรรมสนามหลวง จนสอบไล่ได้นักธรรมชั้น ตรี-โท-เอก ตามลำดับ เมื่อท่านได้เรียนรู้ในพระธรรมวินัยเป็นที่เข้าใจแล้ว ท่านก็มุ่งมั่นศึกษาต่อในวิชาอาคมจากพระอาจารย์ต่างๆที่มีความรู้ความสามารถในยุคนั้นด้วย ซึ่งในระยะแรกหลวงพ่อบุญเทียม ท่านได้เริ่มต้นเล่าเรียนวิชาอาคมสายมอญ และวิชากรรมฐาน จาก พระอธิการโนรี ภาวณฺโณ วัดลาดหลุมแก้ว ก่อนเป็นเบื้องต้น ต่อมาท่านได้เดินทางไปศึกษาในทางพุทธาคมกับ หลวงพ่อทองสุก แห่งวัดตาล ตำบลบางตะไนย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยหลวงพ่อทองสุก ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาทางด้านอยู่ยงคงกระพัน มหาอุตม์ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ลูกหาสืบไป ต่อมาหลวงพ่อบุญเทียม ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนวิชากับ หลวงพ่อชื่น แห่งวัดตำหนัก จังหวัดนนทบุรี ด้วย ซึ่งหลวงพ่อชื่น ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชา การเสริมดวง สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ซึ่งเป็นวิชาที่หลวงพ่อชื่น ท่านถ่ายถอดให้กับหลวงพ่อบุญเทียม อย่างละเอียดลึกซึ้ง และนำมาใช้ช่วยผู้คนได้ผลเป็นอันมาก หลังจากที่หลวงพ่อบุญเทียมได้ไปเรียนกับหลวงพ่อชื่น แล้ว ท่านก็ได้ไปเรียนวิชากับอาจารย์ฆราวาสด้วย คือ หมอเปลี่ยน ซึ่งท่านเก่งทางด้านยาสมุนไพร ยาโบราณ รักษาโรค หลวงพ่อบุญเทียมจึงตั้งใจที่จะศึกษาและค้นคว้ายาสมุนไพร เพื่อมาใช้รักษาโรคแก่ผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยไร้ที่พึ่ง ต่อมาท่านได้ไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ พระมหาพูน ท่านได้อยู่ฝึกเรียนวิปัสสนากรรมฐานจนชำนาญ แล้วท่านจึงเดินทางไปเรียนต่อยังสำนักหลวงปู่กลิ่น จันทรังษี แห่งวัดสะพานสูง โดยท่านได้มาศึกษาวิชาการทำตะกรุด เครื่องราง และวิชาการเขียนยันต์ตรีนิสิงเห จากหลวงปู่กลิ่น ซึ่งในช่วงนี้เองท่านจึงมีความสนิทสนม และเป็นสหธรรมมิก กับหลวงพ่อทองสุข อินทสาโร วัดสะพานสูง ด้วย
หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ เป็นพระที่คงแก่เรียน ชอบศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ แม้กระทั่งท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดลาดหลุมแก้วแล้วนั้น ท่านก็ยังเที่ยวเดินทางไปแลกเปลี่ยนวิชากับพระอาจารย์ต่างๆอยู่เสมอๆ อาทิเช่น หลวงปู่เส็ง วัดบางนา , หลวงปู่หลุย วัดท่าเกวียน , หลวงปู่ภักดิ์ วัดสุทธาวาส เป็นต้น พระอาจารย์ที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็น พระสหธรรมมิกกับหลวงพ่อบุญเทียมทั้งสิ้น กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอธิการโนรี ภาวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดลาดหลุมแก้วในขณะนั้น ได้ถึงกาลมรณภาพลง เจ้าคณะพระสังฆาธิการพร้อมด้วยชาวบ้านจึงมีมติแต่งตั้งให้ พระบุญเทียม ภูริปญฺโญ เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดลาดหลุมแก้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านจึงได้รับตราตั้ง แต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดลาดหลุมแก้ว และเป็น พระอธิการ
ในสมัยที่หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปัญโญ เป็นเจ้าอาวาสนั้น ท่านได้พัฒนาปรับขยายพื้นที่บริเวณของวัดให้กว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆขึ้นใหม่ และทดแทนของเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาทิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ วิหาร หอระฆัง และกุฏิสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าในยุคสมัยนั้นเป็นยุคทองของวัดลาดหลุมแก้วก็ว่าได้ เพราะหลวงพ่อบุญเทียม ท่านได้พัฒนาวัดให้เจริญทัดเทียมกับวัดอื่น ๆ ในย่านนั้น อีกทั้งท่านยังได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรตลอดทั้งบุตรหลานของชาวบ้านให้มีความรู้ อ่านเขียนหนังสือได้ ซึ่งหลวงพ่อบุญเทียม ท่านได้เมตตาสอนหนังสือและอบรมสั่งสอนอันเตวาสิกอันสัทธิวิหาริกของท่านด้วยตัวท่านเอง โดยท่านมักนำเอานิทานธรรมบท ในพระไตรปิฎกเรื่องต่าง ๆ มายกกล่าวอ้างและเปรียบเทียบให้เหล่าลูกศิษย์ลูกหาได้ฟังกันอยู่เสมอๆ จึงทำให้มีญาติโยมนิยมมาฟังท่านเทศน์เป็นจำนวนมาก เพราะท่านเป็นพระนักเทศน์ที่มีไหวพริบปฏิภาณ สามารถเทศน์ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ท่านจึงเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าอธิการ เจ้าคณะตำบลลาดหลุมแก้ว และในปีเดียวกันท่านก็ได้เป็น พระอุปัชฌาย์
กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปัญโญ ท่านจึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ในราชทินนาม ที่ “พระครูบริรักษ์ธรรมากร”
อีกทั้ง หลวงพ่อบุญเทียม นั้นท่านเป็นพระหมอที่ประชาชนทั้งในเขตและนอกเขตให้การยอมรับนับถือเป็นอย่าง โดยท่านเป็นทั้งหมอยาสมุนไพรรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆของชาวบ้าน อีกทั้งท่านยังเป็นพระหมอที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องแก้คุณแก้ไสย เสริมดวง สะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอีกด้วย หลวงพ่อบุญเทียม ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงอภิญญาอีกรูปหนึ่งของเมืองปทุมธานี ท่านเป็นพระที่มีวาจาสิทธิ์ กำหนดรู้กาลล่วงหน้าได้ แต่ท่านก็มิเคยอวดตนว่าเก่ง แต่ชาวบ้านสามารถทราบถึงบารมีของท่านได้ และท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังมีชื่อเสียงในยุคนั้น ท่านเคยได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเศกงานสำคัญๆอยู่หลายครั้ง และท่านยังสร้างวัตถุมงคลไว้ใช้แจกแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น พระพิมพ์สมเด็จฯ พิมพ์ต่าง ๆ , พระปิดตา พิมพ์ต่างๆ , ตะกรุด , พระเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน , พระเหรียญพระพุทธ , ผ้ายันต์ , พิรอด , พระเนื้อผงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งวัตถุมงคลของท่านที่โด่งดัง และเป็นที่ต้องการของนักสะสมในยุคปัจจุบันนี้ก็คือ ตะกรุดโทน และเหรียญรูปเหมือนตัวท่าน รุ่นแรก ซึ่งนับเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมอีกชิ้นหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี วัตถุมงคลของหลวงพ่อบุญเทียม ทุกชนิดล้วนแล้วแต่ดีมีประสบการณ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ทำให้มีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้ขอพร ขอของขลัง ให้ท่านอาบน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ทุกวันมิได้ขาดสาย ทำให้ท่านต้องสูบดมควันธูปที่ประชาชนมาทำพิธีทุกวันๆ ทำให้สุขภาพของท่านมิค่อยแข็งแรงนัก ประกอบกับท่านเป็นคนที่มีร่างกายเล็ก ผอม และมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือ โรคภูมิแพ้ ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านต้องอยู่กับควันธูปทุกวัน ๆ โดยมีอาการของโรคปอดกำเริบ ทำให้ร่างกายของท่านซูบผอมลงและทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาเมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านได้มีอาการอาพาธอย่างหนัก เหล่าศิษยานุศิษย์ใกล้ชิดจึงจะพาท่านไปทำการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่านมิยอมไป ทำให้อาการของท่านได้กำเริบหนักมาตามลำดับ แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ตามปกติ และท่านยังเปิดกุฏิรับแขกที่มาหาท่าน มาให้ท่านทำพิธีให้ตามปกติ โดยเสมือนว่าร่างกายของท่านยังแข็งแรงอยู่ กระทั่งเมื่อช่วงงานพิธีผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดลาดหลุมแก้ว โดยทางคณะกรรมการวัด ได้ทำเรื่องกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จมาเป็นองค์ประธานตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ ท่านก็ได้มีอาการอาพาธดีบ้างทรุดบ้างตามลำดับ กระทั่งเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านได้อาพาธหนักขึ้น บรรดาลูกศิษย์จึงได้นำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ จึงได้ละสังขารลงอย่างสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาศิษยานุศิษย์และชาวบ้านวัดลาดหลุมแก้วเป็นอย่างยิ่ง สิริรวมอายุท่านได้ ๖๘ ปี พรรษา ๔๖
หลังจากที่หลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ ได้มรณภาพลงแล้วนั้น คณะสงฆ์และบรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้จัดงานการบำเพ็ญกุศลศพ และบรรจุสรีระสังขารของหลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ ลงในโลงแก้ว แล้วตั้งบำเพ็ญกุศลไว้เป็นเวลา ๔ ปีเศษ และจึงได้จัดให้มีพิธีการพระราชทานเพลิงศพ พระครูบริรักษ์ธรรมากร(บุญเทียม ภูริปญฺโญ) ณ เมรุลอยวัดลาดหลุมแก้ว เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
เรียบเรียงโดย : ขุนแผน แดนรามัญ
Leave a Reply