หมู่บ้านรักษาศีล 5 : ปฎิบัติการคณะสงฆ์ ทวงคืนวัดให้เป็น “ศูนย์กลาง” ชุมชน!!

 “ผู้เขียน”  ได้รับคำชวนจาก “พระเทพปวรเมธี”  ในฐานะประธานหมู่บ้านรักษาศีล 5 หนกลาง ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยมีเป้าหมายให้ครบ 23 จังหวัดภายในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566 นี้

โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เกิดขึ้นในห่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหามากมาย ประกอบด้วยการกระทำผิดกฎหมาย ปัญหาอาชญากรรม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การระบาดของสิ่งเสพติด และอบายมุข การแตกแยกทางความคิด การเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และการจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันหลักของชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดสติ จิตสำนึก ศีลธรรมและคุณธรรมจริยธรรมอันจะส่งผลให้สังคมเกิดความขัดแย้ง

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดำริที่จะเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน โดยให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักศีล 5 มาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน กอรปกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้ทุกภาคส่วนในประเทศร่วมมือกันดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และทำให้ประชาชนมีความรักความสามัคคีกันโดยเริ่มจากครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งจะนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างปลอดภัยยั่งยืน

ดังเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ให้โอวาทไว้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ตอนหนึ่งว่า

“อันว่าศีล 5 เป็นการสำคัญมนุษย์ เมื่อทุกคนมีศีล 5 ด้วยกัน สังคมนั้นๆ คือ ประชาชนย่อมจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อเป็นไปได้ ขอให้ชื่อหมู่บ้านนั้นว่า “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มอบหมายภารกิจให้ส่วนราชการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ แก่ประชาชนในชาติ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด..”

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะสงฆ์ทั้ง 2 นิกาย ร่วมกันทำงานเรื่อยมาภายใต้ปณิธานความคาดหวังที่มุ่งหวังให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข รู้รักสามัคคี  ปัจจุบันมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็น “แม่ทัพ”

“ผู้เขียน” ติดตามลงพื้นที่กับคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งจังหวัดสระบุรี และจังหวัดอยุธยา ส่วนจังหวัดอ่างทอง ไม่ได้ไปร่วมด้วย เท่าที่ฟังจาก “พระเทพปวรเมธี” เหตุผลที่เลือกลงพื้นที่จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดแรก เนื่องจากจังหวัดสระบุรีเป็น “จุดกำเนิด” ของหมู่บ้านรักษาศีล 5  ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า “จังหวัดสระบุรีถือว่าเป็นต้นกำเนิดของหมู่บ้านรักษาศีล 5 โครงการนี้เริ่มโดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ภายใต้การสนับสนุนของคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าสระบุรีสมัยนั้น ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย จำได้ว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มอบป้ายหมู่บ้านรักษาศีล 5  ที่วัดพระพุทธบาท หลังจากนั้นประกาศปูพรมขับเคลื่อนทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยมี  6 ขุนพลศีล 5 ร่วมขับเคลื่อน  ปัจจุบันเรียกตามสมณศักดิ์ของท่าน คือ พระพรหมเสนาบดี วัดปทุมคงคา กรุงเทพ ฯ พระธรรมรัตนมงคล วัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.อยุธยา  พระธรรมวชิรานุวัตร วัดไร่ขิง จ.นครปฐม  พระเทพเสนาบดี วัดกวิศราราม จ.ลพบุรี  พระราชวัลภาจารย์ วัดหนองหอย จ.ราชบุรี  และ พระศรีสมโพธิ วัดปากน้ำภาษีเจริญ  เป็นแม่งานหลัก  ออกแรง และการสร้างเครือข่าย ทั้ง 6ท่านนี้ทุ่มเททำงานหมู่บ้านศีล 5 มาตั้งแต่ต้น..”

“ผู้เขียน”เคยลงพื้นที่ดูงานลักษณะแบบนี้ ทั้งติดตาม “ปลัดเก่ง” คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยและทั้งลงพื้นที่แบบส่วนตัวไม่ต่ำกว่า  7 ครั้ง ทั่วประเทศ เพื่อติดตามดูงานการดำเนินงานโครงการ “โคก หนอง นา” และอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  และทั้งมีส่วน เป็นอนุกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการ “สว.พบประชาชน” อันมี ท่านจิรชัย มูลทองโร่ย เป็นประธาน ทุกครั้งที่ลงพื้นที่จะมีหน่วยงานภาครัฐและประชาชนมาร่วมในลักษณะนี้

แต่โครงการ สว.พบประชาชน จะมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการสำนักนายก รวมทั้งกรมประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง

อันนี้เล่าให้ฟังว่าในฐานะโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มหาเถรสมาคมมีบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) กับกระทรวงมหาดไทยเอาไว้ เป็นได้หรือไม่ว่า ควรเชิญชวนเชื่อมกับกระทรวงมหาดไทยจาก  “ส่วนกลาง” ร่วมลงพื้นที่ด้วย รวมทั้งควรชวนผู้บริหารส่วนกลาง จาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นด้วยเช่นกัน  หน่วยงานเหล่านี้หากคณะสงฆ์ทำหนังสือชวนคงไม่ยาก และไม่ต้องเสียงบประมาณอะไรเลย เพราะแต่ละหน่วยงานเขามีภารกิจเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมี “ทีมประสาน”

ส่วนการลงพื้นที่ของคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5  นอกจากติดตามผลงานแล้ว มันต้องร่วมลงแก้ปัญหาด้วย เช่น คนไร้ที่ดิน  วัดหลายแห่งมีที่ดินเป็นจำนวนมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่า ควรแบ่งให้ประชาชนในพื้นที่ทำมาหากินได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คนไม่มีบ้าน “ผู้เขียน” ลงพื้นที่ดูงานอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” หลายจังหวัดคณะสงฆ์มักเป็นแกนเข้าไปช่วยเหลือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มคนพิการและการส่งเสริมอาชีพ

“สิ่งเหล่านี้” คณะสงฆ์ในฐานะ “ผู้นำจิตวิญญาณ” ผู้นำแห่งศรัทธา คงทำได้ไม่ยาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา  ดังที่ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เคยพูดไว้ว่าเป้าหมายหลักเพื่อให้ “วัดเป็นศูนย์กลางแห่งชุมชนหมู่บ้าน” รวมทั้งวางเป้าหมายเพื่อให้ “เจ้าอาวาส” ในฐานะผู้นำชุมชน ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ หันกลับมาสู่บทบาท พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของประชาชนในชุมชนหมู่บ้านของตนเองได้

บทความท่อนนี้แค่เกริ่นนำยังไม่ได้ลงรายละเอียดการลงพื้นที่ ซึ่งพยายามจะเขียนเป็นเรื่องเล่าว่า การลงพื้นที่กับคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ร่วมกับคณะสงฆ์ ประทับใจอะไรบ้าง ได้ไปพบไปเจออะไร รวมทั้งจากการแอบสอบถาม คณะสงฆ์ ข้าราชการ และประชาชน นักเรียนในพื้นที่แล้ว พวกเขารู้สึกอย่างไรกับคณะสงฆ์และโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5   บทความหน้าว่ากันใหม่ครับ..

Leave a Reply