วันที่ 23 พ.ย. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อยอดนโยบายการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาหนี้นอกระบบ” และ “ปัญหาหนี้สินรายย่อย” ที่ต้องดำเนินการเชิงรุกด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการทวงถามหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมายเชิงรุกให้กับพี่น้องประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากหนี้นอกระบบได้ทันที ตนจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ เร่งตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ” ให้แล้วเสร็จและให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบทันที พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือนตามที่เห็นสมควร และประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือหรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังได้สั่งการให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบและให้คำปรึกษาเรื่องหนี้นอกระบบ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันที
“นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนด “มาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกัน” โดยได้สั่งการให้อำเภอใช้กลไกการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามกฎหมายในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ พร้อมทั้งกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นผู้กระทำความผิด เช่น นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ การทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ฯลฯ แล้วรายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ และในส่วนของ “มาตรการปราบปราม” หากพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบหรือการเรียกรับดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองจังหวัดและชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการปราบปรามผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของพี่น้องประชาชนและมีความสำคัญ เพราะประชาชนที่ไปกู้หนี้ยืมสินล้วนแต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อดำรงชีวิตประจำวันหรือใช้ในเหตุจำเป็น ซึ่งมักจะมีผู้ไม่ประสงค์ดีใช้วิกฤตของคนอื่นมาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดหรือข่มเหง ข่มขู่ ทำให้ประชาชนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ ความเครียด ความเดือดร้อนอยู่ก่อนแล้ว ต้องเพิ่มทวีความเครียดนั้นมากขึ้น หรือซ้ำร้ายบางคนถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรม ถูกฆ่า “ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” กระทรวงมหาดไทยจึงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก ดังนั้น หากพี่น้องประชาชนกำลังประสบปัญหาหนี้นอกระบบหรือปัญหาหนี้สินรายย่อย สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง หรือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานครทุกเขต หรือโทรสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ร่วมหาแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไป
Leave a Reply