เมื่อชาวพุทธตามหา “พระจริง-พระแท้” พบ ‘พระป่า ‘ห่มจีวรจากเศษผ้าย้อมเปลือกไม้ ไม่ฉันเนื้อสัตว์-ไม่รับปัจจัย!!

วันที่ 24 พ.ค.65 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมามี มีรายงานว่า มีพระภิกษุอยู่ในสำนักสงฆ์ ใช้เศษผ้าเหลือใช้ ผ้าบังสุกุล หรือผ้าห่อศพนำมาเย็บต่อกัน แล้วนำไปย้อม ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันมื้อเดียว และไม่รับปัจจัย  อยู่ที่ สำนักสงฆ์สวนกัน หมู่ที่ 13 ตำบลโพสังโฆ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี  จึงเดินทางไปดูพบ พระปัญญา มงฺคโล ประธานสงฆ์สำนักสงฆ์สวนกัน ที่ใช้จีวรนุ่งห่มจากผ้าเก่าที่มาเย็บต่อกันใช้เป็นจีวร สอบถามไปยังพระปัญญา เล่าว่า ได้บวชเดินตามรอยพระพุทธเจ้า โดยใช้สถานที่แห่งนี้ปฏิบัติติธรรม ซึ่งโยมพ่อถวายที่แห่งนี้ให้เป็นสำนักสงฆ์มากว่า 20 ปี ปัจจุบันมีพระสงฆ์ 3 รูป มีโยมอุบาสก อุบาสิกา คอยหมุนเวียนมาปฏิบัติธรรมและอยู่ช่วยงาน

เมื่อถามถึงการปฏิบัติธรรมว่าพระคุณเจ้านิกายใด ปฏิบัติธรรมเช่นไร ได้คำตอบว่า ปฏิบัติมหานิกาย โดยยึดมรรค 8 ยึดตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การรู้สภาวะกายและจิต อบรมจิต อบรมกายตน รู้พูด รู้เดิน รู้การกระทำ และไม่ฉันเนื้อสัตว์ หรือวัตถุดิบจากสัตว์ หรือฉันเจ การฉันมื้อเดียวในบาตร จากการเดินบิณฑบาต ซึ่งญาติโยมในพื้นที่จะทราบดีว่าพระที่นี้ฉันมังสวิรัติ ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่รับกิจนิมนต์ ไม่รับสวด (นอกจากญาติโยมที่เคยมาปฏิบัติที่นี้มาขอให้สวด) และไม่รับปัจจัย ของที่ญาติโยมมาถวายส่วนใหญ่คือ อาหารมังสวิรัติ น้ำดื่ม พระสงฆ์ที่สำนักสงฆ์สวนกันจะสีข้าวเปลือกเอง มียุ้งข้าว ทำน้ำซีอิ้วเต้าเจี้ยวเอง ปลูกพืชสมุนไพร ใช้น้ำบาดาล มีไฟฟ้าใช้เฉพาะจำเป็นและเปิดปิดตามเวลาโดยค่าไฟในแต่ละเดือนอยู่ที่ 40 บาท ผ้าจีวร ใช้เศษผ้าเหลือใช้ ใช้ผ้าบังสุกุล หรือผ้าห่อศพ มาเย็บต่อกัน จากนั้นนำเปลือกไม้ต้นประดู่มาแช่น้ำในโอ่ง 1 คืน แล้วนำผ้าจีวรที่เย็บแล้วนั้นไปหมักโคลนอีก 1 คืน จนได้เป็นจีวร (พระทำเองทุกขั้นตอน)

ส่วนข้อวัตรกิจที่ทำเป็นประจำคือ ตื่นตี 2 ฝึกโยคะ ตี 3 ดื่มน้ำ 2 ลิตร เพื่อผลักดันให้ขับถ่าย สรงน้ำกิจส่วนตัว พอตี 5ครึ่ง ออกบิณฑบาตโปรดญาติโยมตามชายแม่น้ำน้อย จากนั้น 6 โมงครึ่งกลับมาจัดอาหารสถานที่เตรียมฉันอาหาร จัดที่นั่งทั้งพระและโยม โดยจะมีญาติธรรม จัดอาหารเสริม เริ่ม 9 โมง กราบพระพุทธเจ้า แสดงธรรมแก่ญาติโยม เวลา 10.00 – 12.00 ฉันอาหารในบาตร แบบเลื่อนอาหาร คือตักใส่บาตรแล้วเลื่อนให้พระรูปอื่นพร้อมญาติธรรม ที่มาปฏิบัติธรรม เวลา 12.00 ทำกิจ เช่นปลูกผัก เลื่อยไม้ สีข้าว เขียนหนังสือ จนเวลา 16.00 เตรียมสรงน้ำ จัดสถานที่จำวัด เวลา 17.00 – 19.00 ทำวัตรเย็น, ดูข่าวสาร, ฟังพระจากดาวเทียม เวลา 19.00 น. เดินจงกรม จากนั้นนั่งสมาธิพิจารณากิจในวันนี้ทบทวนว่าทำอะไรไปบ้าง มีอะไรผิดพลาดไหม มีอะไรแก้ไขต่อไปบ้าง แล้วจึงจำวัด คือทำจิตให้ว่างคือกำหนดลมหายใจ จนจิตดับ โดยพระปัญญา กล่าวว่า ได้บวชมา 30 กว่าพรรษา ก่อนมาตั้งเป็นสำนักสงฆ์ได้จาริกธุดงค์มา 10 ปี แต่ด้วยพระปัญญาไม่ฉันเนื้อสัตว์และไม่รับปัจจัย จึงไม่อยากไปอยู่วัดด้วยการขบฉันและการทำกิจวัตรที่ต่างกัน กลัวว่าไปเป็นภาระให้กับวัดอื่นๆ จึงได้มาตั้งเป็นสำนักสงฆ์โดยมีโยมพ่อถวายที่ตรงนี้ให้ 7 ไร่ 3 งาน โดยปกติไม่มีญาติโยมมากนัก ไม่ได้รับของถวายที่เป็นวัตถุหรือปัจจัย มีแต่จะออกบิณฑบาตเท่านั้น จึงอยู่ที่นี่อย่างสงบมากว่า 20 ปี

ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนมากกำลังเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของพระสงฆ์และความฟุ้งเฟื้อของพระภิกษุจำนวนหนึ่งในเมืองกรุงและเมืองใหญ่ ๆ ที่นำเงินบริจาคของชาวพุทธไปใช้ชีวิตแบบหรูหรา “สวนทาง” กับวัตรปฎิบัติของพระภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้โดยเฉพาะพระวินัย 227 ข้อ

จึงมีคนจำนวนมากมุ่งแสวงหา “นาบุญ” ที่มีวัตรปฎิบัติตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงฝากเอาไว้เป็น “ตัวแทน” ของพระองค์ในการที่จะสืบทอดพระศาสนาต่อไป

นักวิชาการและนักอภิธรรมหลายคน มีความเห็นตรงกันว่า “เงิน” เป็นต้นตอสำคัญในการที่ทำให้พระสงฆ์จำนวนมากหลงระเริงกับการใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาส หากเป็นไปได้ขอให้ชาวพุทธถวายแต่พอสมควร และร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลด้วยการ “รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา” ซึ่งจะมีอานิสงค์หรือได้บุญมากกว่าการถวายทานที่เป็นตัวเงิน

 

Cr:แนวหน้า

Leave a Reply