“ปู่ทองย้อย” ซัดแรง “มัวรออะไรอยู่อีก” โดนถ้วนหน้า “ทั้งพระ -โยม”

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๗:๕๙ เฟชบุ๊ค “ทองย้อย แสงสินชัย” หรือ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา ได้โพสต์ข้อความว่า  เมื่อคราวที่มีการณรงค์ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีคนออกมาคัดค้านว่า ในบ้านเมืองเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย จะเอาศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน

ทุกปีที่คนไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะฮ์ รัฐบาลไทยอำนวยความสะดวกให้ทุกสิ่งทุกประการตั้งแต่ไปจนกลับโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีอันเก็บไปจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

แต่ในเวลาที่ชาวพุทธเดินทางไปไหว้พระที่อินเดียดินแดนแห่งพุทธภูมิ หรือชาวศาสนาอื่นเดินทางไปแสวงบุญที่ดินแดนต้นกำเนิดศาสนาของตน รัฐบาลไทยไม่เคยอุดหนุนด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น
ผู้ที่เคยบอกว่าในบ้านเมืองเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย ทำไมไม่ออกมาร้องถามบ้างว่า รัฐบาลเอาศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน แต่เราไม่ต้องหวังหรอกครับว่ารัฐบาลจะตอบว่าอย่างไร เพราะรัฐบาลไม่เคยตอบเรื่องนี้ และเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าคำตอบคืออะไร

รัฐบาลเอาพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ เอามาแต่อำนาจ ไม่ได้เอาหน้าที่มาด้วย
โดยเฉพาะหน้าที่ในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก ถ้าอยากรู้ว่าในฐานะเอกอัครศาสนูปถัมภก พระมหากษัตริย์ของไทยทรงทำอะไรบ้าง ก็จงไปศึกษาเรื่องราชานุกิจดูเถิดเอาง่าย ๆ แค่ ๒ เรื่อง  “เช้าทรงบาตร ค่ำทรงธรรม”

คนที่เอาพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาบริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ารัฐบาลจนถึงรัฐมนตรีคนสุดท้าย หรือผู้นำผู้บริหารในหน่วยงานใด ๆ ก็ตาม เคยใส่บาตร เคยฟังเทศน์บ้างไหม
ไม่ต้องทุกวันอย่างพระมหากษัตริย์หรอกครับ เอาแค่เดือนละครา สัปดาห์ละครั้งก็พอ  ตอบได้ว่า ไม่เคย ถึงบางท่าน-หรือหลายท่าน-จะเคย หรือทำอยู่เป็นประจำ ก็ทำอย่างเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับบ้านเมือง

แต่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติในฐานะเป็นงานของผู้ครองแผ่นดินครับ ไม่ใช่ในฐานะส่วนพระองค์
เคยมีคนแย้งคำว่า “ศาสนูปถัมภก” ว่า จะบอกว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศาสนูปถัมภก” ไม่ได้ ประเดี๋ยวจะหมายถึงทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระพุทธศาสนา

ต้องใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก” จะได้หมายถึงทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา  พระมหากษัตริย์ไทยทรงอุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนาอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว คนที่เอาอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ต่างหากที่อุปถัมภ์บำรุงเฉพาะบางศาสนา  ด้วยข้อเท็จจริงดังว่ามา จึงไม่ต้องหวังอะไรจากผู้บริหารบ้านเมือง และไม่ต้องรอว่าจะมีพระเอกขี่ม้าขาวจากที่ไหนมาช่วย เราต้องช่วยตัวเราเอง ด้วยวิธีที่ทุกคนสามารถทำได้เดี๋ยวนี้  ย้ำ! ทำได้เดี๋ยวนี้เลยครับ ไม่ต้องรอ

ถ้ายังไม่รู้ว่าหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องทำอะไร ก็รู้เสียตรงนี้เลย –
ภิกฺขู ภิกฺขุนิโย อุปาสกา อุปาสิกา วิยตฺตา วินีตา วิสารทา พหุสฺสุตา ธมฺมธรา ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา สามีจิปฏิปนฺนา อนุธมฺมจาริโน สกํ อาจริยกํ อุคฺคเหตฺวา อาจิกฺขนฺติ เทเสนฺติ ปญฺญเปนฺติ ปฏฺฐเปนฺติ วิวรนฺติ วิภชนฺติ อุตฺตานีกโรนฺติ อุปฺปนฺนํ ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคเหตฺวา สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสนฺติ ฯ
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕
สกัดความได้ดังนี้  พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน –
(๑) ศึกษาเล่าเรียน
(๒) พากเพียรปฏิบัติ
(๓) เคร่งครัดบำรุง
(๔) มุ่งหน้าเผยแผ่
(๕) แก้ไขให้หมดจด

(๑) เริ่มด้วยการศึกษาให้รู้ถูก รู้ชัด ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร

และอะไรที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอน  เวลานี้เป็นกันมาก บูชาคำสอนคำสอนของอาจารย์เจ้าสำนัก แต่ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า  ถอยมาตั้งหลักกันเสียให้ถูกครับ  คำสอนของพระพุทธเจ้ายังมีอยู่ครบ ระวังอย่าเข้าเรียนผิดหลักสูตร

(๒ ศึกษาเรียนรู้แน่ชัดแล้ว ต้องปฏิบัติตามด้วย
เรียนเพื่อรู้ รู้เพื่อปฏิบัติ อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว  แต่ก็อย่าปฏิบัติโดยไม่รู้ รู้ให้แน่ รู้ให้ถูกเสียก่อน แล้วจึงลงมือทำ  สำหรับชาวบ้าน เริ่มด้วยการรู้จัก “ให้”  เรายังอยู่กับสังคม อย่ามุ่งแต่จะ “เอา” ลูกเดียว
ให้กันบ้าง ให้ให้เป็น แต่ละคนอยู่ได้ สังคมก็อยู่ได้  สังคม คือสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน  อยู่ได้ แต่ละคนก็มีโอกาสที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป สำหรับบรรพชิต ท่านให้เริ่มด้วย “ศีล” ศีลไม่บริสุทธิ์ ก็เหลวตั้งแต่เริ่ม
ศีลบริสุทธิ์ ก็ไปได้สวย

(๓) ถึงตอนนี้ก็เข้าทาง – เคร่งครัดบำรุง
ชาวบ้านบำรุงพระศาสนา พระศาสนาก็ช่วยบำรุงชาวบ้าน    บำรุงเพื่อให้กันและกันมีกำลังที่จะทำหน้าที่พัฒนาตัวเองต่อไปได้  มีกำลังทรัพย์ บำรุงด้วยทรัพย์  มีกำลังกาย บำรุงด้วยกำลังกาย (สละเวลาไปขวนขวาย วิ่งเต้น ติดต่อ รับเป็นธุระ ฯลฯ ไม่ดูดาย)  มีกำลังความรู้ กำลังปัญญา ก็เอาความรู้ ความคิด สติปัญญาเข้าช่วย  ใครถนัดทางไหน ก็บำรุงในทางนั้น  เมื่อยังมีกำลัง แต่ไม่ช่วยอะไรเลย ไม่ถูกหรอกครับ

(๔) ต่อไป – มุ่งหน้าเผยแผ่
ศึกษาเรียนรู้แล้ว ปฏิบัติได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังไม่พอควรสามารถที่จะถ่ายทอด สื่อสาร บอกกล่าว อธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้พอสมควรแก่กรณีพูดได้ พูด เขียนได้ เขียนพูดไม่เนียน เขียนไม่ถนัด ปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง ก็เอา ก็ทำเข้าเถิด  ที่เป็นกันมากในเวลานี้ก็คือ แทนที่จะเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า กลายเป็นเผยแผ่คำสอนของตัวเอง หรือของอาจารย์ เจ้าสำนักไปเสียฉิบ
บางสำนักยกป้ายเจ้าสำนักยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก
ฟังเทศน์ – พระสมัยก่อนท่านเอาพระธรรมของพระพุทธเจ้า จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มาเทศน์
แต่พระสมัยนี้ส่วนมากเอาความคิดเห็นและคารมของตัวเองออกมาเทศน์   ทำแบบนั้นก็ดังได้เหมือนกัน แต่ดังไม่ถาวร ขอให้สังเกตดูเถอะ
ข้อควรระวังคือ ต้องเผยแผ่ (1) คำสอนของพระพุทธเจ้า และ (2) ตามแนวทางของพระพุทธเจ้า
อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็น “พระธรรมสามี” คือเจ้าของพระธรรม ผู้เผยแผ่อย่าตั้งตัวเป็นเจ้าของพระธรรมเสียเอง

และในฐานะผู้ฟัง ก็ต้องฉลาดหน่อย อย่าสนใจเพียงแค่ว่า หลวงพ่อนั่นท่านสอนว่าอย่างนี้ หลวงปู่นี่ท่านสอนว่าอย่างนั้น  แต่ให้ถามต่อไปอีกว่า – แล้วพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างไร
ประเดี๋ยวจะเหลือแต่ศาสนาของหลวงพ่อนั่นหลวงปู่นี่ แต่ไม่มีศาสนาของพระพุทธเจ้า

(๕) เรื่องที่หนักหนาสาหัสยังมีอีก คือพูดผิด สอนผิด อธิบายผิด รวมทั้งปฏิบัติผิด ทั้งที่มาจากคนนอก หรือที่งอกอยู่ในวงในนี่เอง
การกระทำอย่างนี้ท่านเรียกว่า “ปรัปวาท” (ปะ-รับ-ปะ-วาด)  ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง  ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข แต่ต้องฉลาดทำ ทำด้วยวิธีละมุนละไม มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไปทะเลาะกันที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แทบทุกคนรู้อยู่แล้วทั้งนั้นแต่ไม่ทำ

ผมจึงตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า – จะมัวรออะไรอยู่อีก

Leave a Reply