แกนนำบีอาร์เอ็นตอบรับร่วมโต๊ะพูดคุย “บิ๊กเมา”แย้มไม่เสนอเงื่อนไขหยุดยิง

     มีความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ โดยฝ่ายความมั่นคงไทยยืนยันว่า 2 แกนนำคนสำคัญจากกลุ่มบีอาร์เอ็นตอบรับเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทยแล้ว 

dullah1

แกนนำสำคัญ 2 คนของบีอาร์เอ็นที่ตอบรับเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย คือ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำสูงสุดคนใหม่ของบีอาร์เอ็น หลังการเสียชีวิตของ นายสะแปอิง บาซอ ขณะที่อีกคนหนึ่งคือ นายเด็ง อะแวจิ ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็น

เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงของไทยยังปฏิเสธข่าวที่ว่า 2 แกนนำบีอาร์เอ็นอาจหนีไปพำนักที่อินโดนีเซีย หากถูกทางการมาเลเซียบีบให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่า “บีอาร์เอ็นปีกทหาร” ปฏิเสธการเข้าร่วมมาโดยตลอด แม้แต่ในช่วงที่ นายฮัสซัน ตอยิบ หนึ่งในแกนนำบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 55

ฝ่ายความมั่นคงไทย ระบุว่า นายดูนเลาะ และนายเด็ง แจ้งผ่านตัวแทนว่ายอมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซียที่มี ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลย์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

 “ทั้งสองผู้นำบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยในโครงสร้างมารา ปาตานี ซึ่งจะขยายวงพูดคุยให้กว้างขึ้น โดยดึงทุกกลุ่มเข้าร่วม ซึ่งรวมถึง บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่เป็นองค์กรหลักที่ควบคุมกลุ่มติดอาวุธมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงไทย ระบุ

 “มารา ปาตานี” เป็น “องค์กรร่ม” ที่มีชื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดน 6 กลุ่มรวมตัวกัน รวมทั้งบีอาร์เอ็นบางปีก พวกเขาตั้งกลุ่มและร่วมโต๊ะพูดคุยกับคณะพูดคุยของไทยในยุครัฐบาล คสช.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะพูคคุย โดยกระบวนการพูดคุยดำเนินมาถึงขั้นใกล้บรรลุข้อตกลงเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกร่วมกัน แต่แล้วก็หยุดชะงักลงจากการเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซีย หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แม้กระบวนการพูดคุยจะเดินหน้าต่อไป แต่ก็มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ และฝ่ายไทยก็เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยด้วย

มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า “มารา ปาตานี” พยายามยื้อเวลาการนัดพูดคุยเพื่อสันติสุขฯตามโครงสร้างใหม่ให้เป็นช่วงหลังเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นราวต้นปีหน้า แต่ผู้อำนวยความสะดวกไม่เห็นด้วย และต้องการให้เดินหน้ากระบวนการพูดคุยต่อไปทันที และคาดว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงแรกราวๆ 1 ปีนับจากนี้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ กับรัฐบาลไทย

รายงานข่าวยังยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการเชิญ “ปาร์ตี้ที่ 3” เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยด้วย เพราะรัฐบาลไทยยืนยันนโยบายชัดเจนทั้งกับมาเลเซียและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ปัญหาภายใน” 

แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง บอกอีกว่า ข่าวการตอบรับเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯของแกนนำบีอาร์เอ็น ไม่ได้ขัดกับคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่พูดเมื่อเร็วๆ นี้ภายหลังการพบปะกับรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของมาเลเซีย ข่าวที่ออกไปในบางสื่ออ้างว่า พล.อ.ประวิตร บอกว่าบีอาร์เอ็นยังไม่ยอมเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย ทั้งที่จริงๆ แล้ว พล.อ.ประวิตร เพียงแค่ตอกย้ำจุดยืนของฝ่ายไทยว่า ต้องการเรียกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทุกกลุ่มเข้ามาคุย เพราะปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมไม่มีอะไรค้างคา จะมีก็แค่การร่วมพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร ต้องการสื่อสาร

 พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หรือ “บิ๊กเมา” หัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า กำลังฟอร์มทีมพูดคุยทีมใหม่ทั้งหมด โดยแนวทางที่จะดำเนินการคือ คณะพุดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างฯ (มารา ปาตานี) ต้องเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และต้องมีตัวแทนจากทุกกลุ่มเข้าร่วม

     “ต้องพากันมาให้หมด จะได้คุยกันทีเดียวให้จบไปเลย ไม่ใช่ตกลงกับกลุ่มนี้แล้ว อีกกลุ่มก็งอแง อย่างนั้นมันไม่จบ” พล.อ.อุดมชัย กล่าว

หัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ ยังบอกด้วยว่า การพูดคุยรอบใหม่นี้ จะไม่มีการเสนอเงื่อนไขหยุดยิง เหมือนการพูดคุยครั้งที่ผ่านๆ มา

“เสนอไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะการก่อความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ ก่อนพูดคุยแต่ละครั้งก็ตุ้มตั้มๆ (ทำเสียงระเบิด) ยิ่งเสนอเงื่อนไขหยุดยิง เขายิ่งใช้ความรุนแรงเพื่อต่อรอง ฉะนั้นเราจะคุยกันเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เปลี่ยนสนามใหม่ ไม่เอาแล้วสนามรบ” พล.อ.อุดมชัย กล่าว

media

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.อุดมชัย ได้เริ่มเปิดตัวเปิดวงหารือกับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นที่เป็นแนวทางสู่สันติภาพที่จะเกิดขึ้นจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ

  “เราคุยเรื่องนี้กันมา 3-4 ปีก็ยังเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงอยู่ จำต้องคุยกับทุกกลุ่มเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง ผมจะคุยเมื่อกลุ่มก่อความรุนแรงมาคุยกับผม คุยทั้งกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มปาตานีพลัส คนที่คุมกำลัง คุยอย่างไม่เป็นทางการ และอาจไม่จบที่โต๊ะเจรจา เพราะถ้าไม่คุยใต้โต๊ะให้เรียบร้อยอาจไม่ถูกนำมาคุยบนโต๊ะ การไปพูดคุยครั้งนี้ไม่ใช่การเจรจาหยุดยิง เป็นการพูดคุยเพื่อออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช้ความรุนแรง รับฟังข้อเสนอจากปากเขา ต้องสื่อสารไปยังผู้เห็นต่างและประชาชนว่าต้องการลดการเผชิญหน้าและออกจากความรุนแรง นี่เป็นเจตนารมณ์ของผม” พล.อ.อุดมชัย กล่าวตอนหนึ่ง

เขายังบอกว่า เรื่องใหญ่ที่สุดของปัญหาภาคใต้ขณะนี้คือ การสื่อสารกับคนทั้งประเทศให้ได้รับรู้ และให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในสิ่งที่ทำอยู่ ได้ช่วยกันผลักดัน ซึ่งสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการสื่อสาร ช่วยกันหาทางแนวทางสื่อสารที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมรับรู้ว่าเรื่องราวของพี่น้องชายแดนใต้คือเรื่องของคนทั้งประเทศ

สำหรับความเห็นของคนทำสื่อในพื้นที่ มีข้อเสนอที่หลากหลาย เพาซี พะยิง กลุ่มเฌอบูโด ผู้ผลิตสื่ออิสระ กล่าวว่า ต้องสร้างพื้นที่กลางให้ทุกคนได้ใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างปลอดภัย มีการสื่อสารแบบคู่ขนาน แถลงให้ประชาชนได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน

     ตูแวตานียา มือรีงิ จากสำนักข่าวช่อง 3 มาเลเซีย บอกว่า ควรนำเสนอแนะเชิงบวกสู่โต๊ะพูดคุยในสิ่งที่ประชาชนและฝ่ายที่เห็นต่างต้องการ โดยเฉพาะสิ่งที่รัฐไทยทำได้และเห็นผลการเปลี่ยนแปลง ต้องสื่อสารให้มีการรับรู้อย่างทั่วถึงในพื้นที่ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อใหม่ เพราะทุกคนอยากเห็นความสงบสุข มีอาชีพและรายได้ มีความปลอดภัยในชีวิต

ขณะที่ พัชรา ยิ่งดำนุ่น จากสถานีวิทยุกระจายเสียง ม.อ.ปัตตานี เสนอว่า ต้องทำให้วาระการพูดคุยให้เป็นประเด็นสื่อสารของคนสามจังหวัด รัฐต้องสื่อสารอย่างจริงจัง สร้างสภาวะให้ผู้คนรู้สึกเป็นการพูดคุยที่เสรี ทุกอย่างต้องเชื่อมไปกับกระบวนการและสันติภาพ

มูฮัมหมัด ดือราแม จากสำนักข่าวอามาน บอกว่า การพูดคุยมีต้นทุนที่สามารถทำให้สำเร็จได้ สันติภาพไม่ใช่การเปลี่ยนสนามแข่งขันมาเป็นสนามรบ สายสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ตัดไม่ขาด ต้องสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน รัฐต้องสร้างช่องทางการสื่อสารและรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับรู้


ขอบคุณ ภาพ/ข้อมูล : สำนักข่าวอิศรา

ขอบคุณภาพ : https://thaipublica.org/

อ่านประกอบ :

ฝ่ายมั่นคงอ้าง BRN ตั้ง “ดูนเลาะ” ผู้นำใหม่ – เผยมาเลย์ปรามลดก่อเหตุ “เซฟตี้โซน”

แนวโน้มไฟใต้ เจรจา และโครงสร้าง BRN หลังสิ้น “สะแปอิง บาซอ”

“บีอาร์เอ็น”ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐไทย กับคำฝากจากคนใน “เปิดเทอมเจอกันใหม่”

เปิดแนวคิด “บิ๊กเมา-อุดมชัย” ว่าที่หัวหน้าคณะพูดคุยดับไฟใต้คนใหม่

Leave a Reply