ตามเก็บ!!

หากผู้อ่านติดตามบทความ “ริ้วผ้าเหลือง” มาต่อเนื่อง คงพอรู้บ้างว่า “เปรียญสิบ” ทำงานอยู่ชนิดหนึ่ง   ทำนองคล้ายกับเป็น “สะพานเชื่อม” ให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ (RBU) แห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์มอญ รัฐมอญ ประเทศเมียนมา  ทำอยู่หลายปีจนนำมาซึ่งการทำข้อ “MOU” หรือเรียกกันว่า บันทึกความเข้าใจ ระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย หลักใหญ่ ๆ ก็คือ พัฒนาบุคลากร งานวิจัย และแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ ด้วยกัน

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ชมรมพระนิสิตมอญ มจร ได้ให้ “เปรียญสิบ” เข้าร่วมสัมมนาด้วยและท่านให้พูดถึงการดำเนินงานระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งมีนิสิตมอญจากประเทศศรีลังกา,อินเดีย,ตัวแทนกลุ่มยุวสงฆ์มอญเมืองมอญ,ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย คณาจารย์ รวมทั้งตัวแทนฆราวาส

“เปรียญสิบ” ได้แต่ให้กำลังใจว่า มจร สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2430 กว่าจะเปิดเรียนระดับปริญญาตรีคือปี พ.ศ.2490 ผ่านไปแล้ว 60 ปี มีพระนิสิต 7 รูป แต่มหาวิทยาลัยสงฆ์มอญเปิดมาได้ไม่ถึง 10 ปี เปิดเรียนระดับ  “diploma” หรือ “อนุปริญญา”   มีนิสิตถึง 17 รูป/คน

พร้อมทั้งบอกต่อว่าการจะพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์มอญให้ “ยึด มจร” เป็นแม่แบบและเป็น “พี่เลี้ยง”  เพราะ มจร กว่าจะถึงวันนี้ก็ล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะมีวันนี้ได้ก็เพราะการ  “ทุ่มเท”  และ  “อุทิศตน” ของพระมหาเถระสายมหานิกายหลายรูปพร้อมทั้งเล่าต่อว่ายุคที่เปรียญสิบเรียนอาจารย์ผู้สอนได้รับค่าสอนเป็นรายชั่วโมงแค่ 300 บาทต่อชั่วโมง

ปัจจุบัน มจร มีนิสิตถึง 20,000 รูป/คน มีบุคลากร 3,000 รูป/คน นิสิตนานาชาติ 1,200 รูป/คนจาก 26 ประเทศ มีวิทยาลัยเขตครอบคลุมทั่วประเทศถึง 40 กว่าวิทยาลัยเขต ในต่างประเทศมีไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง มีวิทยาลัยพระธรรมทูต,วิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ,ศูนย์อาเซียน,สถาบันวิปัสสนา,สถาบันพระไตรปิฏก รวมทั้งสำนักวิจัยพุทธศาสตร์ เล่าให้มหาวิทยาลัยสงฆ์มอญฟังแบบนี้ เพื่อจะได้มีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป

ความจริง..คณะสงฆ์ไทย มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่งของไทยต้อง “ตามเก็บ”  กลุ่มพระสงฆ์ที่ “ตกหล่น” แบบนี้ให้มาก ๆ ในพม่า มีทั้งกะเหรี่ยง,ไทยใหญ่  ประเทศไทยต้องหาทางเชื่อมโยงสร้างสัมพันธ์ทางการศึกษา,ด้านสาธารณสงเคราะห์ หรือมิติใดมิติหนึ่งเอาไว้รวมทั้งคณะสงฆ์ลาว,กัมพูชา,เวียดนาม หากจะคิดเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” มันต้องคิดแบบนี้

การทำลักษณะนี้ก็เหมือนกับการทำ “โครงการพระธรรมจาริก” นั่นแล และบทบาทนี้ฝ่ายต่างประเทศของ มจร และ มมร ต้องคิดริเริ่ม,ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ต้องหาทาง ซึ่งในทางปฎิบัติอาจดูยาก แต่หากทำได้ แบบนี้มี ผลทางจิตวิทยา ไม่เฉพาะระหว่างคณะสงฆ์ด้วยกันเองเท่านั้น รวมทั้ง ศาสนาอื่น ๆ ที่กำลังทำงานเชิงรุกบุกเข้าไปหลายประเทศ หลายหมู่บ้านในตอนนี้ด้วย..

หากประเทศไทย..คณะสงฆ์ไทยอยากให้ชาวพุทธยอมรับการเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” ของประเทศ

อยากเห็น..การทำงานเชิงรุกของคณะสงฆ์ไทย “ตามเก็บ” แบบนี้ครับ

…………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ” : [email protected]

Leave a Reply