พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ (ประยูร นันทิโย) หรือ “ดร.หลวงพ่อแดง” พระเกจิและพระนักสังคมสงเคราะห์ชื่อดังแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เจ้าอาวาสวัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าให้ฟังมูลเหตุแห่งการทำ “โคก หนอง นา” กับกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ว่า ที่ดินแปลงนี้มียายคนหนึ่งนำมาถวายวัด ขนาด 1 ไร่ 1 งาน คิดในใจว่ายายเอาเงินในป่าร้างมาให้แล้ว จึงได้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้านว่าเรามาช่วยกันพัฒนาที่ดินแปลงนี้ให้เป็นเงินเป็นทองกันนะ พื้นที่บางส่วนยังไม่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ยังคงมีหนองดังเดิมซึ่งสามารถจะเลี้ยงปลาได้เลย และไม่จำเป็นต้องทำคลองไส้ไก่มากเพราะจังหวัดสมุทรสงครามนั้น เป็นพื้นที่ที่คลองไส้ไก่มากที่สุดในประเทศไทย ปู่ย่าตายายเราขุดไว้เป็นร้อยปีแล้ว ดังนั้นเราสามารถนำคลองนี้มาใช้ ให้เกิดประโยชน์ในการกระจายในไปยังพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ได้แบ่งพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ โดยใช้แหนแดง หรือ ไมโครฟิลล่า (microphylla) ที่กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาพันธุ์และขยายพันธุ์แหนแดงสายพันธุ์ไมโครฟิลล่า มาตั้งแต่ ปี 2520 ได้มีการรักษาพันธุ์มาเรื่อยๆ และได้เงียบหายไประยะหนึ่ง เมื่อประเทศไทยหันมาส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แหนแดงของกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำมาพัฒนาการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อีกครั้งหนึ่ง ใน ปี 2540 คุณสมบัติของแหนแดง พันธุ์กรมวิชาการเกษตรเนื่องจากกาบใบบนด้านหลังของแหนแดงมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง เมื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อหว่านแหนแดงไปในนา 1 ไร่ จะมีผลผลิตแหนแดง 3,000 กิโลกรัม (3 ตัน) เทียบได้กับปุ๋ยยูเรีย 7-10 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าว และสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงไก่ นอกจากนี้แหนไมโครฟินล่ายังสามารถนำมาเป็นปุ๋ยในนาข้าวได้ เรียกได้ว่าไม่ได้กินตังค์เรา ซึ่งเราไม่ได้ซื้อปุ๋ย ไม่ได้ซื้อยาฆ่าแมลง ส่วนสินค้าเราเอาไปขายให้ใครเขาก็จะ happy เราสามารถตั้งราคาสินค้าของเราได้เอง
“เนื่องจากเป็นสินค้าปลอดสารพิษ ตัวอย่าง เช่นสินค้าในท้องตลาดขาย 30 บาท สินค้าของเราสามารถขายได้ราคา 100 บาท คนยังซื้อเลย เพราะคนกลัวตาย เราได้กินข้าวที่อร่อย ปลอดสารพิษ เอามาหุง มันอร่อยกว่าข้าวในตลาด สิ่งที่เราทำนี้ไม่มีการเมือง เพราะเราไม่ได้หวังผลกำไร งบประมาณเราก็ทำของเราเองจ่ายก็ของเราเอง หมดไปหลายแสนแต่เราจ่ายของเราเอง มาเดินดูแล้วก็ชื่นใจ ถ้า พช. ไม่ยืนตามแนววิชาการ เดินตามแนวอารยธรรมทำได้หมด ชาวบ้านให้ วัดก็ให้ ในอนาคตเราตั้งใจจะมีห้องประชุม workshop แล้วจะมีบ้านพัก ไม่เก็บค่าที่พัก จะเอาตู้บริจาคตั้งไว้ พอใจก็ช่วยไม่พอใจก็ไม่เป็นไร แต่คุณต้องมี ศีล 5 นะ มาปาร์ตี้ไม่เอา ให้มาเอาวิชาการ ปัจจุบันอาตมาเป็นพิธีกรบรรยายให้ด้วย เพราะว่าเราต้องการให้เกษตรกร รวยเหมือนเกษตรกรญี่ปุ่นเขา ของเราพ่อค้าเป็นคนกำหนดราคา ข้าวสารของเราสีเป็นข้าวสารเลย โลละ 45 บาท ซื้อก็ซื้อไม่ซื้อก็อย่าซื้อเรากำหนดราคาเอง แปลงนี้มีพืชผักสวนครัวอะไร เราแบ่งหมดเลยทุกวันเสาร์เราแจกชาวบ้าน แจกกล้วย แจกมะนาว ซื้อกะปิน้ำปลาทางทะเลมาช่วยแจก โคก หนอง นา แปลงนี้ข้าวจะออกรวงอีก 3 เดือนมาดูใหม่..”
“โคก หนอง นา วัดอินทาราม” เป็นการขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. ที่มีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในกรพัฒนา พื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก และใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบกับปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กลับไปยังบ้านเกิดเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหงาภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
จึงถือว่าโคก หนอง นา วัดอินทารามเป็นศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจ และมีแนวทางที่จะขอความร่วมมือจากส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้แปลงตัวอย่างแห่งนี้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวหรือ Landmark แห่งใหม่ที่สวยงามของจังหวัดสมุทรสงครามได้ต่อไปในอนาคต
ในตอนท้ายหลวงพ่อแดงได้ชวนพุทธศาสนิกชน น้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง หรือถ้าจะมาศึกษาดูงานที่แปลงโคกหนองนาแห่งนี้ก็สามารรถติดต่อมาได้ที่วัดอินทาราม ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หรือติดตามฟังธรรมก็จะมีการ live สด ผ่านทางแฟนเพจของวัดอินทาราม ทุกวันเวลา 7:00 น. ขอย้ำว่าเมืองไทยของเรามีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ งานคือเงินเงินคืองาน บันดาลสุข พูดอยู่แล้วไปที่ไหนก็พูด เพราะอาตมาโตมาจากครอบครัวที่เขาทำเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเล่ามันเยอะไปตามได้ Facebook fanpage วัดอินทาราม โอกาสนี้หลวงพ่อได้มอบตะกรุดจันทร์เพ็ญ รุ่น “ปลดหนี้ รวยล้นเหลือ” ให้กับทีมงานเพื่อเป็นสิริมงคล และหลวงพ่อเน้นย้ำว่า จะปลดหนี้ได้ก็ต้องขยันนะ หลวงพ่อแดง กล่าวทิ้งท้าย
รายงานพิเศษโดย : ธนชล คูณสวัสดิ์ กลุ่มงานสื่อสารภาพลักษณ์องค์การ สำนักงานเลขานุการกรม กรมการพัฒนาชุมชน
Leave a Reply