จังหวัดพัทลุง ขับเคลื่อนโครงการ โคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติฯ

วันนี้ (3 ส.ค. 67) นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดโครงการโคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ โคก หนอง นา พื้นที่ของ นายวิชิต สุมามาน หมู่ที่ 11 ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยมีนายเสรี จิตรเวช พัฒนาการจังหวัดพัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดพัทลุง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 72 คน

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงได้ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้ขับเคลื่อนกิจกรรม โคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อต่อยอดพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ และเพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติด้วยความยั่งยืน

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย พิธีเปิดป้ายโครงการ โคก หนอง นา อารยเกษตร เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีการแบ่งปันพันธุ์กล้าไม้แก่หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนโดยรอบ และกิจกรรมสร้างการรับรู้ “วันดินโลก” กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามฐานเรียนรู้และเวทีเสวนาการน้อมนำแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาประยุกต์ใช้

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาหมู่บ้านตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการจัดกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการชุมชน ผ่านกระบวนการในการทำหน้าที่ต่าง ๆ มุ่งสู่เป้าหมายของชุมชนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ทรัพยากรได้อย่างเฉลียวฉลาดและคุ้มค่า การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ปฏิบัติการสำเร็จตามแผนที่กำหนดไว้ จากการทำงานร่วมกันกัน โดยใช้บุคคล กลุ่มคน ทรัพยากร รวมทั้งการออกแบบและรักษาบรรยากาศแวดล้อมในชุมชนให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันทำงานได้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในชุมชน คือ การมีกลุ่มคน หรือองค์กรของชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการจัดประชุมคิดวิเคราะห์ จัดทำแผนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ดำเนินการกิจกรรมตามแผนพัฒนา และบูรณาการเงินทุนทั้งภายในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นแบบ สำหรับการขยายผลแนวทางวิธีปฏิบัติในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนรู้สำคัญให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นในการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ “พออยู่ พอกิน” “อยู่ดี กินดี” และ “มั่งมี ศรีสุข” เพื่อประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนวทางการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวในช่วงท้ายว่า การพัฒนาอารยเกษตร เป็นการพัฒนาที่มุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้นำด้วยการที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวพระราชดำริให้พวกเราน้อมนำมาปฏิบัติ เป้าประสงค์ของพระองค์ท่านอยากเห็นพี่น้องคนไทยทุกคนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคง ดังนั้น ขอให้ทุกท่านร่วมด้วยช่วยกันกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา พากันลงพื้นที่ไปหาพี่น้องชาวบ้านเพื่อไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ทางด้าน “อารยเกษตร” ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี สร้างสรรค์ให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีและพสกนิกรผู้จงรักภักดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจะต้องช่วยกันเพิ่มเติมพื้นที่แห่งความยั่งยืนนี้ให้ครบทุกอำเภอ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป

Leave a Reply