“แม่ชีไม่ทน” บุกสภา!! เรียกร้องสิทธิ “สวัสดิการ-นิตยภัต”

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ  โดยมี นางพรเพ็ญ  บุญศิริวัฒนกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ รวมทั้ง ดร.เพชรวรรต  วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นต้นร่วมประชุม เพื่อปรึกษาหารือประเด็น มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำโดย แม่ชีตาลอ่อน อ่อนอำพันธ์ ได้ทำหนังสือ ขอให้หารือเรื่อง สวัสดิการค่าโดยสารรถเมล์ การรักษาพยาบาล และวุฒิการศึกษา สำหรับนักบวชผู้เป็นแม่ชี  ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มาร่วมหารือ สำหรับแม่กองธรรมและมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วันนี้ไม่ได้มาร่วมเดินทางมาด้วย

เมื่อถึงเวลาประชุมทางประธานที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนสถาบันแม่ชีพูดประเด็นและเหตุผลในข้อเรียกร้อง

แม่ชีตาลอ่อน อ่อนอำพันธ์ กรรมการมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ในบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาร่วมประชุมเพราะต้องการเรียกร้องเรื่อง สวัสดิการ ค่าโดยสารรถเมล์และการรักษาพยาบาลและวุฒิการศึกษาสำหรับแม่ชี เพราะที่ผ่านมาสถานภาพแม่ชีอยู่อย่างลำบาก ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ต้องพึ่งเจ้าอาวาสและญาติพี่น้อง ไม่มีรายได้จากไหนเลย จึงขอความอนุเคราะห์จากคณะอนุกรรมาธิการพุทธศาสนา ช่วยหาทางออกว่ามีทางช่วยเหลือเรื่องสิทธิเหล่านี้ได้บ้างหรือไม่

ในขณะที่ ดร.แม่ชี ณัฐหทัย  ฉัตรทินวัฒน์ ซึ่งเป็นแทนคณะแม่ชีอีกท่านหนึ่ง เปิดเผยว่า วันนี้ต้องการมาเรียกร้องเรืองสิทธิของความเท่าเทียมเรื่องเงินนิตยภัต เนื่องจากตนเองสอบจบการศึกษาชั้นประโยค บ.ศ. 9 เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับนิตยภัตเหมือนพระภิกษุ-สามเณรที่จบประโยค 9 บ้าง  รวมทั้งทุนการศึกษาคณะสงฆ์มีแหล่งทุนหลายช่องทางทางจากกองทุนเล่าหลวงเรียน ทุนพระวิปัสสนาจารย์ ทุนพระธรรมจาริก รวมทั้งทุนจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง แต่สถาบันแม่ชีไม่มีทุนอะไรเลย ต้องพึ่งตนเอง อยากให้รัฐบาล คณะสงฆ์ หาทางช่วยเหลือ

“ทุกวันนี้คนมีเงิน คนชั้นกลาง เขาจะไปบวชภิกษุณีกันเยอะ สำหรับชีลดน้อยลงมากตอนนี้ทั่วประเทศที่ลงทะเบียนไว้มีประมาณ 4,000 คน แต่หากนับรวมหมดคาดว่าน่าจะเป็นหมื่นคน อยากให้รัฐบาล คณะสงฆ์ มาดูแลคนกลุ่มนี้บ้าง  ตอนนี้หากไม่เรียนหนังสือ ไม่นั่งสมาธิ ก็เข้าครัว ทำกับข้าวให้พระและทำความสะอาดวัดอย่างเดียว ตรงนี้ต้องเข้าใจว่า คนที่มีการศึกษาเขาเข้ามาบวช เขาไม่ต้องการทำตรงนี้  ความจริงหากคณะสงฆ์ รัฐบาลดูแลแม่ชีเรื่องสิทธิและสวัสดิการดี ๆ ช่วยงานรัฐและคณะสงฆ์ได้มาก ทั้งเรื่องอบรมผู้หญิง ทั้ง งานสาธารณสงเคราะห์”

ดร.บำรุง พันธุ์อุบล  เลขาธิการเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมาธิการพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ  สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่าพระญาณวโรดม ซึ่งตอนหลังได้ รับโปรดเกล้าสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณวโรดม  อดีตนายกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ให้แม่ชีเรียนบาลีตั้งแต่ปี 2506  โดยมอบให้การสอบบาลีศึกษาเริ่มตั้งแต่ชั้น ประโยค   1-2   จนถึงชั้นประโยค บ.ศ. 9 จัดการสอบที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพฯ โดยมี สนามหลวง วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นผู้จัดสอบ  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้จัดการศึกษาภาษาบาลีแก่แม่ชีมีทั้งหมด 9 ชั้น ใช้หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ และสามารถเรียนร่วมกับพระสงฆ์ได้ ตั้งแต่ พ.ศ.2506  ถึง 2565  รวมเวลา 59  ปี มีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา 9  ประโยคในประเทศไทย รวมทั้งหมดประมาณ   24 ท่าน

“ท่านเหล่านี้เป็นมนุษย์เหมือนเรา เป็นบุคลากรในพระพุทธศาสนา ที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่มีสิทธิอะไรเลย แม่ชีช่วยงานวัดและคณะสงฆ์ได้มาก วันนี้จึงถึงเวลาที่พวกเราต้องร่วมกันดูแลท่านเหล่านี้..”

ส่วน พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6 ตัวแทนแม่กองธรรมบาลีสนามหลวง ชี้แจง ว่า   วันนี้ต้องถามแม่ชีมา มาเรียกร้องเรื่องสิทธิหรือเรื่องค่านิตยภัต ต้องเอาให้ชัด เพราะเรื่องนิตยภัตตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505  สืบเนื่องจากตามโบราณราชประเพณี พระราชอำนาจระบุว่า การถวายนิตยภัต มีได้เฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น  ตรงนี้ ณ ปัจจุบันนี้จึงยังไม่มีเพราะมันเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดินและเป็นจารีตประเพณีเป็นพระราชอำนาจ แต่ถึงอย่างไรก็ตามหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบ พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 ป.ธ.9  ว่าเทียบเท่า ป.ตรี  ส่วน แม่ชี ไม่ได้พูดถึง ตอนแรกคณะผู้ร่างได้บรรจุเอาไว้ แต่ตอนหลังถูกสภาตัดออกไป เพราะเกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของแม่ชี แต่ถึงอย่างไรก็ตามการศึกษาประโยค บ.ศ.9 ที่แม่ชีจบออกมา มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ก็ให้เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้  “ตอนนี้มีทางออกก็คือว่า อาจต้องทำเรื่องให้บอร์ดใหญ่ คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมเห็นชอบ  และอีกทางหนึ่งเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล คณะสงฆ์เรามีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งกำลังจะต่อยอดใหม่อีกฉบับตรงนี้ก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแม่ชีในเรื่องการรักษาพยาบาลได้..”

ในขณะที่ พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวว่าประโยค 9 มีศักดิ์และสิทธิหลายประการ เช่น  เช่น 1. สมัครงานกับหน่วยงานภาครัฐได้ สำหรับแม่ชีอาจต้องมีหนังสือรับรองจากแม่กองบาลีสนามหลวง  2. การศึกษาขั้นสูงขึ้นไป 3. เจ้าคณะสังฆาธิการ 4.  พระราชทานสมณศักดิ์ และ 5. สิทธิอื่น ๆ ตามกฏหมายกำหนด ประโยคป.ธ. 9 เป็นสมณศักดิ์ชนิดหนึ่ง เรื่องนิตยภัต คณะสงฆ์รับมากจากพระมหากษัตริย์ เป็นพระราชอำนาจ เมื่อดูจากสิทธิเหล่านี้แม่ชีอาจได้แค่ข้อ 1-2 เพราะข้อ 3-5 เป็นเรื่องของคณะสงฆ์

ต่อจากนั้น นางพรเพ็ญ  บุญศิริวัฒนกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ รวมทั้ง ดร.เพชรวรรต  วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้ถกและซักถามประเด็นต่าง  ๆ  ทั้งจากตัวแทนคณะสงฆ์และผู้ร่วมประชุม สุดท้ายได้ข้อสรุปเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ ปัดฝุ่นร่าง พ.ร.บ.สถาบันแม่ชี ขึ้นมาอีกรอบ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแม่ชีที่กลายเป็นผู้ตกหล่นทั้งจากคณะสงฆ์และสังคมไทยอยู่ ณ ตอนนี้

สำหรับการรวมตัวกันของแม่ชีเริ่มมาตั้งแต่ใน พ.ศ. 2512 แม่ชีนักเรียนบาลีรุ่นแรก  ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง สถาบันแม่ชีไทย  ตรากฎระเบียบปฏิบัติของแม่ชี ชื่อว่า “ ระเบียบปฏิบัติของสถาบันแม่ชีไทย”กำหนดให้แม่ชีต้องมีบัตรประจำตัว “ สุทธิบรรณ”  ต่อมาในปี พ.ศ.2515  รวมทุนก่อตั้งมูลนิธิ ฯ  เพื่อส่งเสริมกิจการของแม่ชี ชื่อว่า “มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย”

พ.ศ. 2544  มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยฯ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีไทยในพระอุปถัมภ์  พระเจ้า     วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (ในสมัยนั้น) ได้มีหนังสือเสนอรัฐบาลขอให้พิจารณา ออกกฎหมายรับรองสถานภาพแม่ชีตั้งแต่ปี 2539 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กระทรวงศึกษาธิการ อาศัยมติของกรมศาสนา ไม่รับรองสถานภาพของแม่ชีว่าเป็นนักบวช

ปัจจุบันแม่ชีกระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และ สาขาสถาบันแม่ชีไทย มีทังหมด  28 สาขา มีโครงการต่างมากมากในการช่วยเหลือสังคม เช่น โครงการธรรมจาริณี โครงการสอนเด็กนอกระบบ อบรมวิชาชีพ   โครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่น ๆ  จัดตั้งสถานศึกษา (มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย) วิทยาลัยแม่ชีเพื่อพัฒนาคุณภาพของแม่ชีให้ดีขึ้น ดังนี้เป็นต้น

Leave a Reply