สัมภาษณ์พิเศษ : “เจ้าคุณประสาร” อนาคตมหาจุฬา ฯ ภายใต้ “พระธรรมวัชรบัณฑิต”

ชื่อของ “เจ้าคุณประสาร” หรือ พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  มิใช่เป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่คน  “เสื้อแดง” หรือ เฉพาะพรรคการเมือง “บางพรรค” เท่านั้น ในสังคมคณะสงฆ์ นอกจากเจ้าคุณประสารจะดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาแล้ว เจ้าคุณประสารยังครองตำแหน่ง “เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศสพ.จชต.) ด้วย ในสังคมคณะสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปอาจรู้จักเจ้าคุณประสารในนาม “พระเสื้อแดง-พระการเมือง” แม้หลายปีมานี้จะถอดเขี้ยวเล็บถอนตัวออกจาก “การเมือง” หันมาสนใจพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ แล้วก็ตามที แต่ฉายาเหล่านี้ก็ยังติดตามตัว “เจ้าคุณประสาร” ตลอดไป

ชื่อของ “เจ้าคุณประสาร” เป็นที่โจษจันและกล่าวถึงกันอีกครั้งใน “สังคม มจร” หรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหลังจาก “พระธรรมวัชรบัณฑิต”  อธิการบดี มจร หมดวาระลงและมีชื่อ “เจ้าคุณประสาร” ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีจากทั้งหมด 7 ท่าน เนื่องจาก “เจ้าคุณประสาร” มีภาพเป็นพระการเมืองและมีคอนเนคชั่นอยู่หลากหลายสังคมและว่ากันว่า “เจ้าคุณประสาร” คือ ผู้อยู่เบื้องหลังล๊อบบี้ให้ “พระพรหมโมลี” แม่ธรรมบาลีสนามหลวง และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีโยนหิน “ถามทาง” พูดต่อหน้าสังฆประชาคมชาว มจร ในงานศพแห่งหนึ่งประมาณว่า “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ควรเป็น “อธิการ มจร” ต่อไป และทั้งการสรรหาคัดเลือกอธิการบดีเมื่อเร็ว ๆ  นี้ผลคะแนนออกมา 4 ต่อ 3 มีผู้กล่าวว่า “เจ้าคุณประสาร” เข้าไปบทบาทมีส่วนมิใช่น้อย

ทีมงาน “THEBUDDH”  ได้รับการติดต่อจาก “เจ้าคุณประสาร” ตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษาแล้วว่ามีความประสงค์ต้องการ “ตอบทุกเรื่อง” ที่สังคมและสื่ออยากรู้ ทั้งเรื่องการคัดสรรอธิการบดี มจร คนใหม่ ทั้งเรื่อง สตง.ตรวจเจอข้อพิรุธภายใน มจร. ผลงานอธิการบดี ร่วมทั้งการบริหารภายใน มจร และรวมทั้งข้อเท็จจริงที่ “เจ้าคุณประสาร” ถูกมองหาว่าเป็นพระการเมือง เป็นนักล๊อบบี้ ตัวยง

เช้าวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 65 เวลา 09.00 น. “เจ้าคุณประสาร” นัดทีมงานพบ ณ ตึกอธิการบดีชั้น 3 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเราไปถึงเจ้าคุณประสารรออยู่แล้วภายในห้องทำงาน พร้อมตอบทุกคำถามที่สื่อและสังคมอยากรู้ ต่อไปนี้คือคำสัมภาษณ์พิเศษและคำตอบระหว่างทีมงานและเจ้าคุณประสาร ดังนี้

“เจ้าคุณประสาร” ถูกมองว่าเป็น พระนักการเมือง-นักล๊อบบี้ มีคนบอกว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการบดีของพระธรรมวชิรบัณฑิตรอบสอง นี้ได้ เจ้าคุณประสารมีส่วนมิใช่น้อย ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร

เรื่องนี้ต้องขอบคุณมาก ความจริงองคาพยพของการสรรหาอธิการบดี อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด ซึ่งเรามีกฎหมายให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาได้ 7 ท่าน ถ้าเป็นไปได้คนจะมองว่ากรรมการ 7 ท่านนี้ เจ้าคุณประสารไปล็อบบี้ อาตมาก็มองว่าเป็นการมองที่ไกลไป ถ้าดูในเนื้อแท้ภายใน ก็ยากที่จะไปพูดกับกรรมการในสภามหาวิทยาลัยได้

ในข้อคิดเห็นของอาตมาว่า ควรจะมองที่คุณสมบัติ อย่างน้อยมีรองอธิการบดีที่เป็นผู้ใหญ่ 2-3 ท่าน ที่ควรเป็นอธิการบดีได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่ออธิการบดีท่านเดิมคือ พระพรหมบัณฑิตออกไป ในบ้านนี้ที่มีแต่คนเสมอกันกับคนต่ำกว่า คือมีพี่มีน้อง ไม่มีพ่อไม่มีแม่แล้ว ก็เป็นเหตุให้คนพูดได้ แต่อยากให้มองที่คุณสมบัติ ลองนึกให้ดีว่าท่านอธิการบดีคนปัจจุบันมาจากในสมัยแรก ท่านมาจากคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งรับงานต่อจากพระพรหมบัณฑิต และทำงานได้ดีจนประสบความสำเร็จ และพอได้รับตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และขึ้นมาเป็นอธิการบดี มจร  ทำงานวิชาการมา 12 ปี เป็นศาสตราจารย์รูปที่สองต่อจากพระพรหมบัณฑิต คุณสมบัตินี้ต่างหากที่ส่งผลให้ท่านขึ้นเป็นอธิการบดี มิใช่อาตมาไปล๊อบบี้หรือวิ่งเต้น

ช่องที่พระธรรมวชิรบัณฑิต ขึ้นเป็นอธิการบดีรอบแรก ได้มีการตกลงประเภทสัญญาใจอะไรหรือไม่ว่าขอเป็นรอบเดียว!!

ส่วนตัวอาตมาไม่รู้นะ ว่ามีใครตกลงกับใครอะไรไว้บ้าง ไม่รู้จริง ๆ แต่เข้าใจว่า เรื่องแบบนี้คงไม่มีใครมาตกลงกันเพราะทุกท่านเป็นผู้ใหญ่กันหมด  ที่พูดรอบแรก เพราะรอบแรกดูแล้วการขึ้นตำแหน่งอธิการบดี ลำบากกว่านี้  แต่รอบหลังนี้ อาตมารู้สึกว่า ประชาคม มจร ชาวมหาจุฬา ทิศทางของพระธรรมวัชรบัณฑิต ทุกคนดูออกว่า เป็นทางที่ท่านต้องไปต่ออีกรอบหนึ่ง เพราะว่าท่านมีงานหลายอย่างที่ต้องต่อเนื่องและต้องสานต่อให้จบภารกิจ

มีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องระเบียบตั้งคณะกรรมการสรรหา ครั้งนี้เราใช้ระเบียบ มจรปี 41 แต่ อว.ประกาศใหม่ 64 เรื่องธรรมาภิบาลการคัดเลือกผู้บริหาร ขัดแย้งกันไหม

เรื่องนี้ อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพียงแต่พูดถึงระบบธรรมาภิบาล รวมถึงการสรรหาด้วย แต่ใน มจร เรา หนึ่ง เรามีระเบียบของเราอยู่แล้ว  สอง เรื่องธรรมาภิบาล เราได้คะแนนประเมิน 90 กว่าคะแนนจาก 100  เราก็พูดถึงว่าเราในฐานะมหาวิทยาลัยสงฆ์ จำเป็นไหมต้องแก้ตามเขาหรือไม่ และเราในฐานะมหาวิทยาลัยลัยสงฆ์ เราใช้แบบนี้มาตลอด คราวนี้มันมีปัญหา เพราะมันมีคำถามว่า ทำไมท่านนี้ได้ ไม่เป็นท่านโน้น เมื่อมันมีคำว่าท่านโน้นท่านนี้เข้ามา มันจึงเป็นกลายประเด็น มันจึงพูดถึงกัน

บรรยากาศวันสรรหาอธิการบดีเป็นอย่างไร เพราะมีผู้เหมาะสมถึง 3 ท่าน

อันนี้ต้องขอบคุณพระเถระที่นั่งหัวโต๊ะวันนั้น (พระพรหมบัณฑิต ประธานสรรหา)  พอเข้าถึงห้องประชุมท่านพูดว่า ธรรมเนียมของเรานี้การเลือกอธิการบดีเราจะเลือกจากผู้เหมาะสมระดับรองอธิการบดี สามารถเสนอได้หมด ซึ่งตอนแรกที่ประชุมเสนอมีชื่อ 3 ท่าน (พระเทพเวที -พระเทพปวรเมธี -พระธรรมวชิรบัณฑิต)  แต่สุดท้ายกลั่นกรองแล้ว เหลือ 2 ท่าน (พระเทพปวรเมธี -พระธรรมวชิรบัณฑิต)

แคนดิเดตคนแรกเสนอโดย พระสุวรรณเมธาภรณ์ ส่วน พระธรรมวัชรบัณฑิต เจ้าคุณประสารหรือ ดร.สุรพล สุยะพรม เป็นคนเสนอ

อันนี้บอกไม่ได้ เพราะมันเป็นความลับ บอกได้แต่เพียงว่าประธานที่ประชุมบอกให้เสนอชื่อได้ ซึ่งที่ประชุมกลั่นกรองแล้วเหลือ 2 ชื่อ เมื่อเหลือ 2 ชื่อ ก็ให้มีการพูดถึงคุณสมบัติตามข้อบังคับแล้วก็แจกประวัติผลงานให้คณะกรรมการสรรหาทุกท่านได้พิจารณา การคัดเลือกสรรหาอธิการบดี มจร ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหา 2 ชื่อ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสต์ของ มจร  ครั้งที่แล้วพระธรรมวัชรบัณฑิต ก็ถูกเสนอชื่อท่านเดียว แล้วก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอธิการบดี ตรงนี้อาตมาอยากกลับไปสู่ อว.ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์เรามีคุณสมบัติเฉพาะ มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เวลาออกกฎหมายพระผู้ใหญ่หลายรูปจึงไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ และรวมทั้งข้อบังคับให้เป็น 2 สมัย 8 ปี ดีไหม พระเถระเราบอกมหาวิทยาลัยสงฆ์เรา 2 แห่งนี้หาพระยาก หาบุคลากรพระทำงานยาก  หากจำกัดแค่ 2 สมัยหาพระยากเลย อันนี้แหละเรากลับไม่พูดถึง ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2540 เรามีพระราชบัญญัติจนถึงบัดนี้ เราไม่เคยเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตเลย  ซึ่งที่ประชุมก็ได้ถกเถียงคุณสมบัติสรูปดีทั้งคู่ สุดท้ายประธานที่ประชุมบอกงั้นให้โหวตลงคะแนนลับ เพราะที่ประชุมสรุปไม่ได้ว่าจะเลือกใครเหมาะสมที่สุด

ทำไม!! คะแนนจึงออกมา 3 ต่อ 4

หลังจากประธานที่ประชุมบอกว่าให้โหวตคะแนนลับ พระธรรมวัชรบัณฑิต ที่ประชุมได้กำหนดให้เป็นหมายเลข 1 เพราะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อคนแรก ส่วนอีกท่าน ได้หมายเลข 2  อาตมาเป็นคนนับคะแนน คณะกรรมการมีมติกันว่า ให้ลงคะแนนทั้งหมดก่อน ใน 7 คนต้องลงคะแนนทุกรูป หลังจากนับคะแนนไปได้ 6 ใบ ผลออกมา 3 ต่อ 3  อันนี้ชัดเลย  ใบสุดท้ายออกมาเป็นหมายเลข 1คือพระธรรมวัชรบัณฑิต มันก็เลยออกมาเป็น 4 ต่อ 3  พระธรรมวชิรบัณฑิตเลยได้เป็นอธิการบดีต่ออีกสมัย

หลังเกิดเหตุการณ์แบบนี้เสมือนว่าเกิดรอยร้าวใน มจร ในฐานะเจ้าคุณเป็นผู้บริหาร จะแก้ปัญหาอย่างไร

(ถอนหายใจ) นี่แหละปัญหาที่เราคุยกันเรื่องธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยสงฆ์เรามีอัตลักษณ์ เรามีคุณสมบัติเฉพาะที่คนนอกอาจไม่รู้ ซึ่งไม่อยากให้เป็นแบบนี้  ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมีคณาจารย์เราไม่เห็นด้วยที่จะให้ มจร มีการเลือกตั้งคณะกรรมการนิสิต เอ๋ยชื่อก็ได้หนึ่งในนั้นคือ ดร.จำลอง สารพัดนึก ท่านอยากเลือกแค่คณะกรรมนิสิตแล้วให้กรรมการนิสิตไปเลือกประธาน เหมือนรัฐสภา ท่านบอกว่าการเลือกตั้งมันเป็นการเมืองมากไป มันนำมาซึ่งความแตกแยก เหมือนกับคำถามถึงธรรมาภิบาลของ อว. มหาลัยข้างนอกเขาอาจทำได้ แต่เรา มหาวิทยาลัยสงฆ์เรามีอัตลักษณ์ มีคุณสมบัติ มีบริบทเฉพาะแบบของเรา เราอยากจะรักษาสิ่งที่เราเรียกว่า “สามัคคีธรรม” เอาไว้ เหมือนคำกล่าวว่ามีสัญญาใจ อาตมากล้าพูดเลยว่า ไม่มี อธิการรูปปัจจุบันท่านไม่ทำแน่ เรื่องนี้อาจเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้น้อยสันนิษฐานแล้วเอาไปพูดกันเองออเอง ส่วนเรื่องที่ว่า คนโน้นจะมา คนนี้จะไป มีการทาบทามหรือพูดคุยกันในวงแคบแล้ว ทำให้ มจร มีการแบ่งฝักฝ่ายแบ่งขั้วขอพูดจากใจเลยว่า ไม่มี มีแต่ว่า ทีมบริหารเป็นอย่างไร ใครจะมา แล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร อันนี้มีแน่ ปกติ ถึงขั้นว่าแตกแยกกันนี้กล้าพูดเลยว่าไม่มี และสถานะนี้ตอนนี้มันดีขึ้นมากแล้ว

การวางตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำงาน

คืออย่างนี้!! อาจจะมีการพูดว่า มีคนไม่กี่กลุ่มวางคน มีคนไม่กี่คนฟอร์มทีม หากเรากลับไปดูพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปี2540 เขามี 2 ทาง หนึ่ง ผู้บริหารระดับต้น มันเป็นอำนาจของรองอธิการบดีหรือผู้กำกับนั้น ๆ สอง ผู้อำนวยการสำนักระดับ 9 เป็นการสรรหา มีคณะกรรมการสรรหา สรรหาเข้ามา เช่น คณบดี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลิตบัณฑิต อธิการบดีท่านก็ไม่ไปยุ่ง ต้องผ่านคณะกรรมการมีผู้แทนจากคณะและภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วม และคณะกรรมการชุดนี้สภาเป็นคนคัดเลือก แต่ส่วนใหญ่อธิการบดีเป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ

ระดับผอ.กอง ระดับ 8 อธิการบดีก็ไม่มีสิทธิคัดเลือก เป็นอำนาจของรองอธิการบดีที่ผ่านการพิจารณาของอธิการบดี ท่านก็มีคณะกรรมการสรรหาของท่าน

เหลือแต่รองอธิการบดีเท่านั้น ที่เป็นสิทธิและอำนาจของอธิการบดีว่าจะเลือกใครเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิของท่าน เหมือนนายกรัฐมนตรี ท่านจะเลือกรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คนที่เหมาะสมท่านก็เลือกเข้ามา ซึงตรงนี้เป็นสิทธิของท่าน เป็นอำนาจของอธิการบดี  ท่านรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นใคร ใครมีสไตร์แบบไหน 4 ปีที่ผ่านมาท่านรู้อยู่แล้ว ต่อจากนี้ไปท่านจะเลือกใครเข้ามาก็เป็นอำนาจและสิทธิของท่าน

ตอนนี้เท่าที่ทราบรองอธิการบดีว่าง 2 ตำแหน่ง ผู้ช่วย 2 ตำแหน่ง ได้คุยกับอธิการบดี รองบริหารหรือ ดร.สุรพล รองอธิการบดีทั่วไป บ้างไหมว่า ใครเหมาะสม

ที่ว่างจริง ๆ ตอนนี้คือรองประชาสัมพันธ์นอกนั้นรักษาการ แต่ถามว่าได้มีการพูดคุยกันไหมก็ธรรมดา อย่าลืมว่าอาตมาก็ดี ดร.สุรพลก็ดี ไม่มีสิทธิที่จะพูดหรือไม่มีสิทธิที่จะเรียกใครมาพูดมาถาม แต่ว่า ถ้าปรึกษากันหรือท่านถามก็ให้ความคิดเห็นได้ เช่น รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ ให้ความเห็นได้ เพราะอาตมาเป็นรักษาการให้ความเห็นได้แบบกว้าง ๆ แต่จะให้บอกว่าคนโน้นคนนี้เหมาะสมคงยังไม่ได้??

เรื่องพวกนี้ได้ปรึกษาหารือกับ อธิการบดี รองฝ่ายบริหาร หรือท่านอื่น บ้างหรือไม่

ยังไม่ได้คุยกับใครเลย เว้น ดร.สุรพล สุยะพรหม คุยกันบ้างธรรมดา และอาตมากับ ดร.สุรพล สุระพรหม ไม่ได้มีอำนาจอย่างที่เข้าใจกันแบบนั้น แต่เรื่องรองประชาสัมพันธ์เคยถามท่าน (ดร.สุรพล)  ท่านก็บอกว่าพระเรามีน้อยเหลือเกินลองเอามาชื่อหลาย ๆ รูป มาพิจารณา ลองถามประชาคม มจร ว่าใครเหมาะสม แต่ มจร เราอัตราส่วนผู้บริหารที่เป็นพระ 60 ฆราวาส 40 เรายังคุมได้อยู่  ซึ่งพระเราจะขึ้นมาสู่ผู้บริหารบางรูปเก่ง แต่อายุอย่างน้อย บางรูปเก่ง แต่บารมียังไม่ถึง อะไรประมาณนี้

ยืนยันว่าไม่เคยคุยอะไรกันนอกจากนี้ รวมทั้งสัดส่วนคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าจะเข้ามาเสริมทีมบริหารอย่างไร ตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

ทีนี้กลับมาผลงานตลอด 4 ปีของพระธรรมวัชรบัณฑิต มีคนมองว่า ผลงานไม่เป็นที่ปรากฏ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ดูเรื่องนี้โดยตรง มองตรงนี้อย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติ อันดับแรกเลยบุคลิกภาพของท่าน คนอาจจะมองว่า ท่านเป็นคนนิ่ง ๆ  ไม่พูด หน้าตาไม่รับแขก แต่ความจริง ท่านเป็นคนอารมณ์ขัน เวลาพูดคุยกับท่าน ๆ เป็นคนใจดี มีเมตตา บุคลิกท่านเป็นคนอย่างนี้  เข้าพบง่าย เป็นอธิการบดีที่ขยันมาทำงานทุกวัน ออกตรวจงานตลอด เอาใจใส่ทุกเรื่อง บุคลิกของท่านหากมองจากภายในนอกอาจน่ากลัว แต่ความจริง ท่านเป็นคนอ่อนโยน สอง เข้าหาง่าย และ สาม ขยันทำงาน

ส่วนผลงานของท่าน  ช่วง 2 ปีแรก ต้องยอมรับว่าท่านประคับประคอง มจร ให้เดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากท่านเข้ามาด้วยสภาพแวดล้อมของท่านทีมงานล้วนมีความเสมอกัน 2 ปีหลังจึงเริ่มนโยบายอะไรต่าง ๆ  ได้ จะไปเปรียบเทียบกับอธิการบดีก่อนหน้านี้ลำบาก เพราะท่านเป็นอธิการบดีหลายปี

สองปีแรกที่ว่าประคับประคอง ประคับประคองอะไร

คือท่านเป็นอธิการบดี เวลาจะให้นโยบาย  สั่งงานหรือเวลาจะตามงาน ท่านก็ต้องระมัดระวังว่า เขาจะสนองไหม อะไรพวกนี้ คือ นั่น 2 ปีแรก แต่ 2 ปีหลังมานี้ดีขึ้น

งั้น!!ขอให้เจ้าคุณลองยกผลงานเด่นสัก 3 อย่างของอธิการบดีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ผลงานของท่าน 4 ปีที่ผ่านมาที่เห็นชัดคือ หนึ่ง เรื่องการบริหารภายใน เรื่องแท่งการบริหาร อาตมาคิดว่ามันหมุนเกลียวมากขึ้น มันมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการภายในกระชับมากขึ้น ในการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายหรือให้คุณให้โทษ  สอง  แท่งวิชาการ ถามว่าตลอด 4 ปี ที่ท่านเข้ามาบริหารถามว่านิสิตเราลดลงไหม คุณภาพครูอาจารย์ลดลงไหม เรื่องนิสิตของเราอาจลดลงบ้าง แต่ไม่เยอะในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อยู่ในขั้นวิกฤติ เราอยู่ได้ ส่วนครูบาอาจารย์ ท่านก็พยายามเสริมให้มีคุณภาพเต็มที่ เพื่อที่จะได้ผลบัณฑิตออกมาอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ สาม ตัวชี้วัดอีกอันด้านต่างประเทศ สถาบันสมทบเราในต่างประเทศมี 6 แห่ง ตรงนี่ไม่ธรรมดา หากเขามอง มจร ไม่มีคุณภาพเขาคงไม่ยอมรับเรา แต่เวลานี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาสถาบันสมทบทั้ง 6 แห่ง ยอมรับพระธรรมวชิรบัณฑิต สี่  การสนองงานคณะสงฆ์ เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเรากลัว เช่นคำถามที่ว่า บุคลิกภาพของท่านจะเข้ากับคนอื่นได้หรือไม่ แต่กลับราบรื่น ในการทำงานสนองานให้กับคณะสงฆ์ จนคณะสงฆ์เองยอมรับ ท่านก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ ส่วนเรื่องที่ ห้า เรื่องภูมิสถาปัตย์  เรื่องปรับปรุงภูมิทัศน์ การก่อสร้าง ท่านมีผลงานเด่นเรื่องหนึ่งคือ green university”  อันนี้คนอาจจะพูดว่า มีแต่ปลูกต้นไม้ ความจริงไม่ใช่ แต่หมายถึงให้วัดให้มหาวิทยาลัย มีความร่มรื่น เป็นรมณียสถาน ให้เป็นสถานที่สร้าง “ปัญญาและศรัทธา” ควบคู่กันไป รวมทั้งให้วิทยาเขตต่าง ๆ มุ่งเน้นเรื่องเหล่านี้ด้วย และกำชับให้วิทยาเขตต่าง ๆ มีคนเฝ้าคนดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนอีกเรื่องคือ ไอที ท่านก็เน้น แต่ตรงนี้เรามองไม่เห็นเพราะมันเป็นนามธรรม แม้แต่เรื่องการก่อสร้างท่านก็ให้นโยบายฝ่ายแผนว่าต้องให้ความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาล วิทยาลัยสงฆ์ใดที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ยังไม่มีอาคาร ต้องเร่งเข้าไปช่วย ต้องเข้าไปดำเนินการ ส่วนวิทยาลัยเขตอื่น ๆที่มีอาคารพร้อมอยู่แล้ว ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ๆ ไป..

ถามไป..ตอบมา ?? จบช่วงแรกในการสัมภาษณ์พิเศษ “เจ้าคุณประสาร” หรือ พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี และผลการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา

ตอนหน้า..จะเจาะลึกถึงหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่เปิดกันจนมีคนตั้งข้อสังเกตุว่าตัวแม่คือ “มจร” จน แต่ “หลักสูตรพิเศษ” ที่เปิดโดยคณาจารย์ของ มจร นั่นเอง “ร่ำรวย” กันถ้วนหน้า และปัจจุบันตัวแม่ต้องยืมเงินหลักสูตรพิเศษเหล่านี้มาใช้ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งคือ โรงพิมพ์ มจร,มหาจุฬาบรรณาคารและอาคาร 92 (โรงแรมภายใน มจร) ทำไมจึงให้สัมปทาน กลับมาเป็นของ มจร เหมือนเดิมได้หรือไม่ ทั้ง “หลักสูตรพิเศษ-รัฐวิสาหกิจ” มีการแบ่งเงินเข้า มจร อย่างไร รวมทั้งเรื่องร้อน สรรพากรฟ้องโรงพิมพ์ มจร  และ สตง.ตรวจพบข้อพิรุธการบริหารโรงพิมพ์ มจร รวมแล้วเสียหายเกือบ 70 ล้าน ในฐานะประธานบอร์ดจะรับผิดชอบอย่างไร และ เงินประจำตำแหน่งของคณาจารย์ระดับ “ผศ.- รศ.” ที่ถูกตัดจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ แล้วทิศทาง มจร ต่อจากนี้อีก 4 ปี จะเป็นอย่างไรต่อ!!  โปรดติดตามตอนหน้า

 

Leave a Reply