วานนี้เวลา 17.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและคณะ ได้เดินทางไปร่วมปลูกต้นไม้ เนื่องด้วยวันที่ 26 พฤษภาคมเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ” ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี และร่วมเปิดป้ายสวนพุทธอารยเกษตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และเปิดป้ายสวนพุทธอารยเกษตรของวัดมหาจุฬาลงกรณราชชูทิศ ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาจุฬาลงกรณราชชูทิศ พร้อมด้วยผู้บริหารคอยต้อนรับ
หลังจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นประธานปลูกต้นไม้ “มั่งมีศรีสุข” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระเทพปวรเมธี ได้พาคณะขึ้นไปกราบพระในอุโบสถและได้กล่าวต้อนรับสรุปความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การย้ายมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจากวัดมหาธาตุ ฯ มาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตอนเริ่มก่อสร้างผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินเสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และรับการก่อสร้างไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งการก่อสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ
“ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแห่งนี้ มีประมุขสงฆ์และผู้นำศาสนามาเยี่ยมดูงานตลอด ยิ่งหากปีใดมีการจัดงานวิสาขบูชาโลก มหาเถรสมาคมและรัฐบาล ได้มอบให้มหาวิทยาลัยจัดการประชุมมีผู้นำศาสนาและประมุขสงฆ์มาร่วมทุกปีประมาณ 85 ประเทศ มีคนมาร่วมประชุมมากกว่า 1,500 รูป/คน สำหรับโครงการพุทธอารยเกษตร ซึ่งอาตมาเป็นประธาน ตรงนี้เรามีปัญหาดินและน้ำเปรี้ยว ปลูกอะไรไม่ค่อยจะได้ จึงขอความอนุเคราะห์ให้กรมการพัฒนาชุมชนมาช่วยดูแล เพราะทางมหาวิทยาลัย ต้องการปลูกผัก ป้อนเข้าโรงครัวของมหาวิทยาลัยเลี้ยงพระนิสิตและบุคลากรหลายร้อยรูป/คน” พระเทพปวรเมธี กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวตอบว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้โอกาสมาปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึกและเยี่ยมชมสวนพุทธอารยเกษตร เนื่องด้วยพรุ่งนี้เป็นวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าของพวกเราประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ใต้ต้นไม้คือต้นโพธิ์ เมื่อปี 2532 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันต้นไม้ประจำปีของชาติ”
สำหรับกรมพัฒนาชุมชน มีหน้าที่บทบาทโดยตรงที่จะสนองความต้องการของคณะสงฆ์และประชาชนในการที่จะดำเนินรอยตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงของพวกเรา พระองค์ทรงมุ่งมั่น ในการทรงงานเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ พวกเราจะเห็นได้จากพระองค์ทรงใช้พื้นที่ในพระราชวังทำ โคก หนอง นา เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 เรื่องโคก หนอง นา กรมพัฒนาชุมชนได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์มาก เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช พระองค์จะสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดอยุธยา ก็จะมอบที่ดินส่วนหนึ่งไว้ทำโคก หนอง นา สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศ,สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตร หรือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพน ก็มีที่ดินต้องการให้กรมพัฒนาชุมชนไปจัดสรรทำโคก หนอง นา
“จากการฟังเท่าที่พระคุณเจ้าได้เมตตาเล่าให้ฟัง ผมขอเสนอแนวคิดให้ท่านเจ้าคุณและผู้บริหารมหาจุฬาโปรดพิจารณาคือ ว่า สถานที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยเสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และมีผู้นำศาสนาจากทั่วโลกมาร่วมประชุมวันวิสาขบูชาทุกปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านด้วย เพื่อไว้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานหลักเศรษฐกิจพอเพียงของประมุขสงฆ์และผู้นำสถาบันการศึกษาต่างชาติด้วย สวนพุทธอารยเกษตรทั้งของวัดและของมหาวิทยาลัย ทำป้ายภาษาอังกฤษ จีน หรือญี่ปุ่น ติดไว้ ทางกรมการพัฒนาชุมชนจะนำภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง มาร่วมแสดง ผมขอเสนอแนวคิดแบบนี้ แล้วแต่พระคุณเจ้าจะรับพิจารณา ส่วนอีกเรื่องที่กรมการพัฒนาชุมชนขอไปทำเลยนั่นคือ ต้นไม้หลากหลายชนิดซึ่งล้วนเป็นไม้มงคลที่ปลูกเอาไว้หลายร้อยต้นนั้น กรมพัฒนาชุมชนได้ร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีด้วย จะให้ทางพัฒนาการชุมชนจังหวัดอยุธยามาทำคิวอาร์โค้ดให้ เผื่อคนมาวัด พระนิสิตอยากรู้ว่าต้นไม้อะไร มีสรรพคุณอะไรบ้าง แค่สแกนคิวอาร์โค้ด ก็รู้ได้แล้ว ผมขอปวารณาหากพระคุณเจ้าต้องการสิ่งใดที่พอช่วยได้ ยินดีมาก..”
ด้าน พระเทพปวรเมธี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งที่อธิบดีเสนอมา อาตมาตอบแทนมหาวิทยาลัยและวัดได้เลยว่า ยินดีและทำได้ แต่เพื่อให้เข้ากับมหาวิทยาลัยสงฆ์และวัดขอใช้คำว่า สวนพุทธอารยเกษตร มจร ภาษาอังกฤษ คือ MCU Buddhist Noble Agricultural Garden และสวนพุทธอารยเกษตร วัดมหาจุฬา ภาษาอังกฤษคือ Buddhist Noble Agricultural Garden, Wat Mahachula. และพร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยมีที่ดินอีก 10 ไร่ไม่ห่างจากนี้มากประมาณเดือนกันยายนนี้ผู้เช่าจะมอบที่ดินคืนให้แล้ว ยินดีให้กรมการพัฒนาชุมชนมาร่วมออกแบบใช้ชื่อ โคก หนอง นา เพื่อปลูกพืชผักเลี้ยงพระนิสิต และบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่อไป..”
ต่อจากนั้นพระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาอาวาสวัดมหาจุฬาลงกรณราชชูทิศ ได้พา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ และคณะ ร่วมกันเวียนเทียน เนื่องในวันวิสาขบูชาและเปิดป้ายสวนพุทธเกษตรของวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศและสวนพุทธเกษตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย..
Leave a Reply