ศอ.บต.รับ “เสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน” ผิดพลาด หละหลวม

หลายคนคงยังจำได้กับโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “โครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

seminar

โครงการนี้รับผิดชอบโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ติดตั้งไปแล้วกว่า 14,000 จุด งบประมาณสูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กลับประสบปัญหาติดๆ ดับๆ หลายแห่งมืดสนิทไม่ติดเลย

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ธ.ค.61 มีการเปิดเวทีสัมมนาถึงปัญหาของโครงการ และการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยอีก ที่โรงแรมปาร์ควิว จังหวัดยะลา

การสัมมนานี้จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 ในหัวข้อ “ปัญหาเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กับแนวทางป้องกัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสมองและสร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชน เพราะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน ทุกฝ่ายยอมรับตรงกันว่ามีปัญหาจริง

  ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ก็เคยตั้งคณะกรรมการจากส่วนกลางลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และสรุปว่าโครงการนี้มีปัญหา เพราะประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลที่รัฐต้องสูญเสียไป

ผู้แทนของ ศอ.บต.ที่เข้าร่วมเวทีสัมมนา คือ นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. โดยนายอิสระยอมรับว่าโครงการนี้มีปัญหาจริงในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง และอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ สาเหตุมาจาก 4 ประเด็น คือ

1.การบริหารจัดการขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการทำโครงการในพื้นที่ล่อแหลมทางความมั่นคง ซึ่งต้องให้ประชาชนช่วยกันคิดช่วยกันทำมากเป็นพิเศษ

 2.การทำโครงการขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ หลายๆ จุดไปติดตั้งเสาไฟในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นจุดอับแสง ทำให้แบตเตอรี่เก็บไฟไม่ได้ ขณะที่ตัวแบตเตอรี่เองก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หลายจุดถูกขโมย

3.มีความหละหลวมในการบริหารงบประมาณก้อนใหญ่ และเมื่อโครงการที่ทำไปแล้วมีปัญหา ก็ต้องตั้งงบไปซ่อมแซม

และ 4.ไม่สามารถหาหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเสาไฟโซลาร์เซลล์ในระยะยาวได้ แม้จะพยายามส่งมอบให้องค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยดูแล แต่เมื่อโครงการมีปัญหาและต้องซ่อมแซม ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากรับภาระ

สำหรับโครงการของ ศอ.บต.ที่มีปัญหา ไม่ได้มีเฉพาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้านเท่านั้น แต่ยังมีโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ เช่นโครงการตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้โซลาร์เซลล์เหมือนกัน ราคาตู้ละกว่า 5 แสนบาท จนถูกขนานนามว่า “ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน” ติดตั้งไปแล้ว 91 จุด งบประมาณ 51 ล้านบาท แต่สุดท้ายโครงการอื้อฉาวอย่างหนักเพราะถูกมองว่าราคาแพงเกินไป ทำให้ต้องยกเลิกการจัดซื้อล็อต 2

นอกจากนั้นยังมีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล “1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล” ก่อสร้าง 3 ปี ใช้งบ 179 ล้านบาท แต่หลายแห่งไปสร้างอยู่กลางแจ้ง หลบอยู่ในป่า จึงกลายเป็นสถานที่เลี้ยงวัว ไม่มีใครไปเล่นฟุตซอล โครงการเหล่านี้ของ ศอ.บต.ทุกโครงการใช้การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ ไม่มีการประกวดราคา ทำให้ถูกมองว่าเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส

  ประเด็นเหล่านี้ นายอิสระ ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ย้ำว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป ศอ.บต.จะไม่ปล่อยให้มีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถือว่าได้รับบทเรียนมามากเหลือเกิน ทั้งยังเรียกร้องให้ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต ไต่สวนดำเนินคดีกับข้าราชการระดับสูงและฝ่ายการเมืองที่กระทำทุจริตด้วย เพราะที่ผ่านมาดำเนินการแต่กับข้าราชการหรืออดีตข้าราชการชั้นผู้น้อย

สำหรับโครงการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ของ ศอ.บต. ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 57 จนถึงปี 59 จัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว 6 สัญญา งบประมาณรวม 1,011 ล้านบาท ติดตั้งเสาไฟไปทั้งสิ้น 14,849 จุด ราคาเฉลี่ยจุดละ 63,000 บาท แต่ปรากฏว่ามีปัญหาชำรุดเสียหายจำนวนมาก จนถูกชาวบ้านร้องเรียนถึงขนาดต้องเปิดโทรศัพท์สายด่วนรับแจ้งเสาไฟมีปัญหา จนสุดท้าย ศอ.บต.ต้องตั้งงบไปซ่อมแซมในปี 60 ทั้งๆ ที่เพิ่งใช้งานไปได้ไม่นาน


ขอบคุณ :สำนักข่าวอิศรา

Leave a Reply