พระหนุ่ม-เณรน้อย: ชีวิตที่เคว้งคว้างภายใต้ร่มศาสนา

โดย..เจษฎา บัวบาล

ที่มาภาพ: https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/105406.htmlพระเณรที่อยู่ในช่วงอายุ 12-30 ปี มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่น่าศึกษา (เรื่องนี้ควรทำวิจัยด้วยซ้ำ) เพราะส่วนใหญ่ การเข้ามาสู่ศาสนาของเขาไม่ได้มาจากการตัดสินใจของตัวเอง แต่เพราะเหตุการณ์บังคับเช่น ฐานะทางบ้านไม่ดี หรือผู้ปกครองขอให้บวชภาคฤดูร้อน เมื่อเข้ามาพบเพื่อนใหม่ หลายคนจึงตัดสินใจเรียนต่อในวัดเลย ผมคือคนหนึ่งในนั้นครับ

พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านี้ มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากพระทั่วไป นั่นคือเรามีการชกต่อย จีบสาว หรือแม้แต่ใช้จีวรเนื้อดีและห่มอย่างสวยงาม (สิ่งนี้จะต่างกับพระมีอายุ) และเราอาจละเมิดศีลบางข้อเช่น แอบกินมาม่าตอนเย็น และใช้ชีวิตเหมือนนักเรียนมัธยมทั่วไป นี่ไม่ใช่การแฉเรื่องในวัด เพราะคนพุทธทราบเรื่องนี้ดี ผมยกตัวอย่างเหล่านี้เพื่อจะบอกว่า ชีวิตพระเณรช่วงอายุประมาณนี้ มีทั้งเรื่องท้าทายและโดดเดี่ยว

เพราะความที่เด็กกำลังเป็นวัยรุ่น จึงคุมได้ยาก หลายวัดเลือกที่จะไม่ลงโทษหากไม่ทำผิดจนเกินเหตุ เพื่อนผมหลายคนเปลี่ยนเสื้อผ้าหนีเที่ยว อาจารย์ฝ่ายปกครองก็ทราบดี แต่ท่านก็ยอมให้ได้ตราบที่เณรไม่ไปยกพวกตีกับเด็กข้างนอกหรือทำการโจรกรรมเป็นต้น

อาจารย์สอนสังคมยังแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้ไปเรียนวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เพราะเราไม่ทราบว่าจะสึกเมื่อไหร่ ท่านแนะนำถึงขั้นที่ว่า หากเจ้าอาวาสไม่อนุญาตหรือโรงเรียน (การอาชีพฯเป็นต้น) ไม่รับ ก็ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าออกไปเรียน และค่อยกลับมาใส่จีวร

เพราะความเป็นพระเณรไม่ได้ขาดเพียงเพราะเปลี่ยนเสื้อผ้า มิฉะนั้นพระพิมลธรรมที่ถูกจับสึกแต่ท่านไม่ปรารถนาจะสึก ก็ต้องขาดจากความเป็นพระด้วย หรือขณะอาบน้ำที่ต้องแก้ผ้า ก็ต้องขาดจากความเป็นพระ แต่มิใช่ครับ เพราะการบวชและสึก ต้องอาศัยพิธีกรรมในการกล่าวคำปฏิญาณบางอย่าง

ตัวเลือกของพวกเรามีน้อยมาก เจ้าอาวาสบอกให้เรียนนักธรรม บาลี ก็ทำไปตามนั้น ผมมีโอกาสคุยกับเณรวัดสามพระยาช่วงอบรมบาลี อายุ 18 และ 20 ปี กำลังเรียน ป.ธ. 5 และ ป.ธ. 6 เมื่อคุยกันอย่างเปิดอก และเณรทราบว่าผมเรียน โท. ทางโลกและทำงานวิชาการ เณรก็บอกผมว่า

“ผมไม่ได้อยากเรียนบาลีเลยครับ แต่ไหนๆ เจ้าอาวาสส่งมาแล้วก็ต้องตั้งใจเรียน (บ้านอยู่ภาคอีสาน) ผมไม่ได้อยากเป็นทหาร (เพราะหากได้ ป.ธ. 9 สามารถสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ได้) และไม่อยากเป็นเจ้าคุณฯ แต่ผมอยากเป็นช่างครับ ผมชอบซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า”

คำพูดนี้ดูปกติใช่ไหมครับ แต่ถ้าผมบอกว่า “ชีวิตเณรกำลังถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบ และยากที่เขาจะค้นพบตัวเอง” อย่างนี้ถูกไหม แท้จริงแล้วเณรเหล่านี้ไม่มีเพื่อนคุยด้วยซ้ำ ผมหมายถึง คนที่จะรับฟังเขาทุกเรื่องนะ มีแต่คนที่หันไปทางไหนก็บอกเขาว่า “เณรตั้งใจสอบให้ได้นะ เดี๋ยวจะได้เป็นเจ้าคุณฯ เจ้าคณะจังหวัด และสืบทอดศาสนา” ซึ่งพระเณรเหล่านั้นไม่ได้ต้องการ

และแน่นอนครับ คนชั่วอย่างผมก็แนะนำเณรไปว่า ให้ออกไปทำสิ่งเหล่านั้น อย่าเสียดายความเป็นสมณะ เพราะหากไปไม่รอดจริงๆ หรือค้นพบว่าเราเหมาะกับความเป็นพระเณร ก็กลับมาบวชเมื่อไหร่ก็ได้ “การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกดีนะ อย่างน้อยที่สุดต่อให้เราไม่ชอบ เราจะได้รู้และจะไม่กระหายอยากออกไปอีก คราวนี้ความแน่วแน่และตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตในศาสนาก็จะมั่นคงขึ้น อย่ากลัวที่จะพิสูจน์สิ่งนั้น” เณรบอกว่า “หลวงพี่เป็นคนแรกคับที่บอกให้ผมสึก ปกติมีแต่คนห้ามผมและชี้ให้เห็นโทษของชีวิตฆราวาส”

แม้จะออกมาใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้ว นานมากกว่าเราจะค้นพบตัวเองในแต่ละเรื่อง ขอยกตัวอย่างผมเอง และเป็นเรื่องเสื้อผ้าเท่านั้น ผมใช้เวลาราว 4 เดือนจึงจะทราบว่า เสื้อและกางเกงแบบไหนเหมาะกับคนอย่างผม เราจะดูออกว่าแบบไหนดูดีกว่าและแบบไหนดูเรียบหรือน่าเกลียด แต่ก็ไม่แน่ใจนะว่าที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้เพราะเราเติบโตมาในศาสนาซึ่งสอนให้ใช้เสื้อผ้าเพียงเพื่อปกปิดร่างกาย ป้องกันหนาวร้อน จนทำให้ไม่ใส่ใจรายละเอียดหรือไม่

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยืนยันว่า ชีวิตต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ จึงจะทราบว่าเราชอบและเหมาะกับอะไร นี่เป็นเหตุผลเดียวกับการที่ไม่ควรบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนหรือบังคับทรงผม เพราะเท่ากับลดทอนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเติบโตในแบบของเขาเอง

พระ ป.ธ. 9 บางรูปบวชตั้งแต่เป็นเณร ชีวิตในทางโลกคับแคบมาก เขาทุกข์ใจแม้เพียงเผชิญปัญหาเล็กน้อยในวัด หลายรูปเวลาคุยกับผมนี่น้ำตาไหลเลย เพราะแท้จริงเขาโดดเดี่ยว และไปค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบชีวิตแบบพระเมื่อายุ 45 เป็นต้น การมีความรู้เพียงศาสนาและจบ ป.ตรีในมหาลัยสงฆ์ (ซึ่งต้องยอมรับว่าคุณภาพไม่ได้ดีมาก) เป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก เขาจึงไม่มีทางเลือก

เหตุที่พระเณรเหล่านี้คุยกับผม เพราะต่างกับคนอื่นตรงที่ ผมยกย่องการเรียนทางโลกมาตลอด ผมสอบบาลีราว 15 ครั้ง ยังได้แค่ ป.ธ. 7 หมายถึงผมสอบตกพอๆ กับสอบผ่าน แต่นั่นไม่ได้สำคัญ เพราะผมเน้นเรียนทางโลกมากกว่า เมื่อชอบศาสตร์แบบทางโลก เราจึงเหมาะกับการที่พระเณรเหล่านั้นเข้ามาคุย เนื่องจากเราจะไม่ดูถูกการตัดสินใจสึกของเขา และเราจะไม่ถ่วง/โน้นน้าวให้เขาต้องรู้สึกผิดที่ไม่อยากอยู่ในชีวิตพระ

ในวงการศึกษาของพระ คนที่จะให้คำปรึกษาเรื่องพวกนี้มีน้อยมาก ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการเลือกทางเดินชีวิตของเขา อาจารย์ฝ่ายแนะแนว (ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีอยู่ไหม) ควรทำหน้าที่นี้ให้เต็มที่ ดูว่าพระเณรรูปนั้นเหมาะกับอะไร แล้วหาตัวเลือกให้เขา แต่ที่น่าเสียดายคือ พระเณรเหล่านี้ถูกปลูกฝังให้รักศาสนา เชื่อว่าการอยู่แบบพระจะช่วยศาสนาได้มากกว่า (ซึ่งไม่จริง)

ผมมองว่า คำแนะนำพวกนั้น ส่วนใหญ่แล้วมาจากพระเถระที่ตนก็บวชมาตั้งแต่เป็นเณร และไม่มีโอกาสเลือกทางเดินของตนเช่นกัน การต้องขอ/ปลูกฝังให้คนอื่นอยู่ในศาสนาจึงเหมือนกับการหาเพื่อน วัดจึงดูเหมือนกลายเป็นศูนย์รวมของคนที่ไม่อยากหรือไม่มีโอกาสตัดสินใจในการใช้ชีวิต (แน่นอน ผมยอมรับว่ามีพระเณรที่ตั้งใจจะใช้ชีวิตเช่นนั้นจริงๆ แต่น้อยมาก หากได้คุยกันอย่างเปิดใจ)

สมัยผมเป็นเณร (2543-53) โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลยากมาก โทรศัพท์ก็มีเพื่อโทรเท่านั้น (นี่ยังไม่พูดถึงพระเณรที่ยากจนและไม่มีโทรศัทพ์ หรือ สำนักที่เคร่งจนห้ามใช้อุปกรณ์เหล่านั้น) ช่องว่างระหว่างชีวิตทางโลกกับทางธรรมก็มากยิ่งขึ้น คนที่มีประสบการณ์คือคนที่เปลี่ยนชุดออกไปเที่ยวดังที่กล่าวไปแล้ว

ช่วงทศวรรษนั้นและก่อนหน้า พระใหม่ที่บวชระยะสั้นจึงเป็นตัวเติมเต็มช่องว่างระหว่างชีวิตทางโลกและทางธรรม ท่านจะเล่าประสบการณ์ให้พวกเราฟังว่าในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร กินเหล้าและทะเลาะกับเพื่อนเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ปัญหาครอบครัวและวิธีแก้ พูดอย่างถึงที่สุดคือ เราได้ประสบการณ์จากพระใหม่มากกว่าจากเจ้าอาวาสด้วยซ้ำ และเจ้าอาวาสหลายรูปก็ไม่ชอบพระใหม่เหล่านั้น เพราะหลายคนมีการศึกษา เทศน์ได้เก่งแม้บวชเพียงไม่กี่วัน และที่น่าเจ็บใจที่สุดคือ จะมีพระเณรสึกตามพระใหม่ไป เพราะได้ฟังประสบการณ์ทางโลกเหล่านั้น

จริงๆ พระใหม่ที่บวชเพียงระยะสั้น ช่วยศาสนาได้มาก ทั้งการให้ความรู้/ประสบการณ์ทางโลกแก่พระเณร (เชื่อว่าหลายคนเคยจีบน้องสาว หรือลูกของพระใหม่ด้วยซ้ำ) ผมกินแมคโดโนล์ครั้งแรกก็เพราะพระใหม่ เมื่อท่านทราบว่าเราไม่เคยก็พาไปที่บ้านและบอกให้แม่ท่านไปซื้อมาให้ และพระใหม่ซึ่งบวชเพียงไม่กี่วันนี่แหละ ที่ช่วยสนับสนุนศาสนาผ่านกฐิน ผ้าป่า เพราะการบวชของเขา จะทำให้ครอบครัวเขาสนิทกับเจ้าอาวาส และผูกสัมพันธ์ต่อไปแม้เขาจะสึกไปแล้ว

และพูดให้ตรงคือ พระที่บวชระยะสั้นและสึกไปทำงานตลอดจนครอบครัวของเขา มีเงินในการช่วยศาสนามากกว่าพระ(และญาติโยมของท่าน) ที่อยู่ในวัด วัดไทยจึงอยู่ได้เพราะมีการบวชระยะสั้นนั่นแหละ ฉะนั้น จึงไม่ควรกลัวหากพระเณรคิดจะสึกเพื่อไปใช้ชีวิต เพราะมีแต่ประโยชน์ นั่นคือ หากเขาประสบความสำเร็จ เขาก็ช่วยวัดได้อีกแบบ หากเขาไม่ไหวและกลับมาบวช ก็ช่วยศาสนาในฐานะนักบวชได้

สิ่งที่น่ากลัวมีอย่างเดียวเท่านั้นคือ “ปิดโอกาสในการเรียนรู้ของเขา และบังคับให้เขาต้องรู้สึกว่าเขาต้องแบกภาระศาสนาด้วยวิถีพระ” ผมคิดว่า ศาสนาพุทธจะเจริญต่อเมื่อคนมีอิสระในการเติบโตทางความคิด และวัดควรเปลี่ยนมาเป็นแหล่งส่งเสริมการเติบโตประเภทนั้น

อยากให้เจ้าอาวาสเปิดใจเรื่องพวกนี้ หันมาสนทนากับพระหนุ่มเณรน้อยมากขึ้น ถามว่าเขาอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร และหากรักเขาจริง ต้องช่วยสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดคือ ให้ความรู้หรือแนะนำญาติโยมที่มีความรู้เรื่องแบบนั้นให้เขา แต่หากเจ้าอาวาสไม่เป็นเช่นนั้น เพราะท่านเองก็มีประสบการจำกัด โลกออนไลน์ปัจจุบันได้ทะลายกำแพงความรู้ไปแล้ว พระเณรเองสามารถเข้าถึงความรู้ได้ ท่านก็ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการเลือกอนาคตตัวเองครับ

“โปรดอย่ากลัวที่จะผิดพลาด เพราะทุกอย่างคือการเรียน

                                                                   ////////////////////////////////////////////////////////////

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล : https://prachatai.com/

Leave a Reply