ตามคาด!! สภา มมร. เลือก “พระเทพวัชรเมธี” เป็นอธิการบดีอีกสมัย

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566  พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือ มมร ในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ พระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2562 และจะครบวาระ 4 ปี สภามหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย โดยมีเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธพจนวชิรมุนี  วัดเครือวัลย์ เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อ พระเทพวัชรเมธี เป็นอธิการบดี มมรอีกวาระหนึ่ง

ทั้งนี้ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบ จากนี้ จะได้ดำเนินการนำความกราบทูลเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช เพื่อขอรับพระบัญชาแต่งตั้งต่อไปเลขานุการสภามหาวิทยาลัยกล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งอธิการบดีครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการศึกษาและวิจัยทางพระพุทธศาสนาสู่ระดับสากล สร้างและพัฒนาศาสนทายาทที่มีศักยภาพสูง ส่งเสริมการสร้างสังคมวิถีพุทธและความสามัคคีของคนในชาติ ตลอดจนบูรณาการศาสตร์และศิลป์สมัยใหม่เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับบริบทสังคมยุคดิจิทัล จึงได้พิจารณาเห็นว่า พระเทพวัชรเมธี เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสม โดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมาแล้ว วาระหนึ่ง ได้พัฒนาระบบบริหารงานภายในอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังสามารถสนองงานคณะสงฆ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พระเทพวัชรเมธี (สมคิด จินฺตามโย) ปัจจุบันอายุ 53 ปี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เกิดที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อุปสมบท ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ โดยมีเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นพระภิกษุที่มีผลงานทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาและการบริหารการศึกษา นอกจากนี้

ในการดำรงตำแหน่งวาระที่ผ่านมา ยังได้ปรับโครงสร้างองค์กรและพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้าไปมาก ทั้งยังมีผลงานวิชาการสำคัญคือ คืนธรรมชาติสู่ธรรม (Green Buddhism for Sustainable Development) และกระบวนทัศน์พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัล (Buddhist Paradigms in the Digital World) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายอีกด้วย

Leave a Reply