ตามไปดู โคก หนอง นา แห่ง “เมืองหนองหารหลวง” ถิ่นมั่นในพุทธธรรม  

 “จังหวัดสกลนคร” ในอดีตคือเมืองหนองหารหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์บริเวณแนวทิวเขาภูพาน อำเภอวาริชภูมิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์

ในยุคสงครามเย็น “เทือกเขาภูพาน”  คือ สมรภูมิการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง จนเป็นที่มาของเพลง “ภูพานปฏิวัติ” เป็นบทเพลงปฏิวัติที่ถูกแต่งขึ้นโดย “จิตร ภูมิศักดิ์” หรือแม้กระทั้งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เทือกเขาภูพานก็เคยเป็นแหล่งสะสมอาวุธใช้สำหรับต่อต้านกองทัพทหารญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทย ในอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน ยังมี ‘ถ้ำเสรีไทย’ กลายเป็นสถานที่รำลึกทางประวัติศาสตร์ในขณะที่จังหวัดสกลนครเองก็ถือว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมมีปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดูม และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

จังหวัดสกลนครอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ ปัจจุบันเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญในแถบภาคอิสาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมภูไท อิสานล้านช้างและภูมิประเทศที่สวยงาม

“ทีมข่าวพิเศษ” ขับรถชมบรรยากาศสองข้างทางในช่วงฤดูฝนซึ่งตามท้องทุ่งมีชาวนากำลังไถนา ถอนกล้า หว่านข้าวกันแล้ว สังเกตในภาคอีสานตามทุ่งนาเกษตรกรไม่นิยมโค่นต้นไม้เหมือนภาคกลางที่นิยมให้ทุ่งนาโล่ง หากจะมีบ้างก็คือ ต้นตาล  ภาคอีสานชาวนาปล่อยให้ต้นไม้ปกคลุมต้นข้าวได้อย่างเต็มที่ ถามพระภิกษุและชาวบ้านตอบตรงกันว่า “เสียดาย” ต้นไม้ แต่ในใจเรา คิดเองว่า อาจเป็นเพราะภาคอีสานมีภูเขาน้อย อาจเป็นไปได้ว่าต้องการ “บังลม” ที่พัดแรงกว่าภาคกลางหรือภาคเหนือ เนื่องจากไม่มีภูเขาบดบัง

ผ่านเทือกเขาภูพานเห็นป้าย “ผาเสวย”  ด้วยความอยากรู้จึงลงไปดู จึงรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมประชาชนในปี 2497 โดยทางรถยนต์ และได้พักเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ที่นี่ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ภาครัฐและประชาชนจึงได้ตั้งชื่อว่า “ผาเสวย”  ผาแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดสกลนครและจังหวัดกาฬสินธุ์

ก่อนเข้าตัวเมืองจังหวัดสกลนครผ่าน “พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร” เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นในบริเวณเทือกเขาภูพาน ใน พ.ศ. 2518 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นผู้ทรงเลือกพื้นที่สร้างพระตำหนักด้วยพระองค์เอง ทรงใช้แผนที่ทางอากาศและการเสด็จสำรวจเส้นทางบริเวณ ป่าเขา น้ำตก เป็นปัจจัยในการกำหนดเขตพื้นที่ก่อสร้างพระตำหนักและบริเวณพระตำหนักซึ่งประกอบด้วยเขตพระราชฐานชั้นในและเขตพระราชฐานชั้นนอก

หากจะว่าไปแล้วเป้าหมายการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลสำเร็จในการทำโครงการโคก หนอง นา จังหวัดสกลนครครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกของเรา เมื่อปีที่ผ่านมาเคยเดินทางมาแล้วรอบหนึ่งได้พบกับนักปราชญ์ชุมชน นักธุรกิจ เกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้งเกษตรกรทั่วไป คราวนี้เช่นกัน พิกัดการลงพื้นที่มีอยู่ 2 แปลงคือแปลงโคก หนอง นา ของ อำพร แก้วกัณหา บ้านตาลเดียว ต.ธาตุ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และของ บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์  ณ บ้านเจริญศิลป์ หมู่ 1 ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จ.สกลนคร ซึ่งแปลงหลังนี้ทีมงานเราเคยเดินทางมาดูแล้วตั้งแต่เริ่มขุดโคก หนอง นา ทั้งสองคนเป็นสามีภรรยานักธุรกิจโรงงานเย็บผ้า หันมาทำโคก หนอง นา เพราะใจรักและอยากทำเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน

“อำพร” ในวัย 52 ปีบอกว่า ตนเองมีที่ดินทั้งหมด 13 ไร่ แบ่งทำโคก หนอง นา 3 ไร่ ทำนา 10 ไร่ เมื่อก่อนทำงานเป็น รปภ. ในกรุงเทพ ทำอยู่ประมาณ 4 ปี เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่บ้านให้สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ตนเห็นว่ามันเป็นโครงการที่ดี เพราะเดินตามรอยปรัชญาเศรษกิจพอเพียง มีกินมีใช้แน่  จึงสมัคร เมื่อสมัครแล้วปรากฏว่าให้เข้าร่วมในช่วงจังหวะที่หมู่บ้านมีการเลือกตั้ง อบต. จึงกลับมาเลือกตั้ง แล้วได้เข้าอบรม 5 วัน 4 คืน อบรมเสร็จกลับไปทำงานต่ออีก 1 เดือน หลังปีใหม่ก็ลาออกงานกลับมาบ้าน ปรับแต่งพื้นที่ปลายเดือนมกราคมปีนี้ทางกรมพัฒนาชุมชนหรือพช.ก็ได้มาขุดบ่อ

“ผมเป็นลูกชาวนา พอไปอยู่กรุงเทพ ความรู้สึกมันต่างกัน มันไม่ใช่สังคมของเรา อึดอัดมาก เครียด ทำนาอย่างเดียวมีรายได้ไม่พอ ไม่มีทางออก ก็ต้องไปหางานทำ แปลงผมที่นี้เป็นแปลงแรกของหมู่บ้านที่ทำโคก หนอง นา เริ่มทำมา 5 เดือนแล้ว ทำคนเดียว ส่วนภรรยาก็เลี้ยงหลาน ตอนที่เขามาขุดวันแรกไม่มีน้ำเลย พอประมาณหนึ่งอาทิตย์น้ำก็ค่อย ๆ ซึมขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะรอบ ๆนั้นมีลำธาร มีต้นไม้อายุ 10 กว่าปี แถวอื่นเขาไม่มีน้ำนะ แต่ของผมขุดไป 3 เมตร เริ่มมีน้ำ ตอนนี้ในสวนมีกล้วย มะพร้าวน้ำหอม มะนาว มะม่วง ผักหวาน มะละกอ ในน้ำมีปลาดุก ปลานิล ปลาหมอ มีอย่างละเล็กน้อยพอได้กิน เพราะเพิ่งเริ่มทำได้แค่ 5 เดือน ตั้งใจให้มีกินก่อนเพื่อเป็นการลดรายจ่าย จากนั้นมีโอกาสก็จำหน่ายและแบ่งปัน ตอนนี้เริ่มมีปลาไว้กินเองแล้ว ตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ แต่ตอนนี้ก็มีคนเข้ามาดูเรื่อย ๆ มีคนให้ความสนใจมากพอสมควร หากคนใดที่สนใจก็แนะนำให้สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา กับทาง พช. อย่างน้อยก็ยังได้งบประมาณช่วยเหลือเรื่องการขุดบ่อ เพราะปัจจัยหลักในการทำเกษตรคือต้องมีน้ำ เกษตรกรเรามีที่ดินอยู่แล้ว มีน้ำเมื่อไร เราจะทำอะไรก็ได้..”

ไม่ไกลจากแปลงโคก หนอง นา ของอำพร แก้วกัณหา มากนัก เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนได้พาเราไปพบกับ บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์   สองสามีภรรยานักธุรกิจผู้มีใจรักในศาสตร์ของพระราชาและมุ่งมั่นให้ประชาชนในท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล” เมื่อเราไปถึง “เหมือนเดิม” คือ มีเครือข่ายโคก หนอง นา และครูพา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมาร่วมพูดคุยทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

“บัญชา” เจอหน้าบอกว่าเพิ่งเดินทางมาจากกรุงเทพเมื่อคืนนี้ เพราะอยากพาชมแปลง ซึ่งคราวที่แล้วที่พาไปดู มันอยู่อีกแปลงหนึ่งต่อจากนี้ อันนั้นใช้ทุนส่วนตัวเองทั้งหมด ส่วนที่นี้เป็นของคุณกาญจนี ภรรยาได้รับงบสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

“ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เคยมาที่นี่แล้ว ท่านมาแบบไม่ได้เป็นทางการ ท่านมาดู มาให้กำลังใจพวกเราและทีมงาน ที่นี่เรียกว่า “ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแปลงของหมู่ 1 บ้านโคกเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร อยู่ในโครงการพื้นที่ 3 ไร่ ลักษณะการขุดเป็นดินร่วนปนทราย ตามแบบมาตรฐาน 1:1 อยู่ในโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณปี 2565  คุณกาญจนี ภรรยาผม เป็นทีมวิทยากรครูจิตอาสาพัฒนาชุมชนโคกหินแป้งโมเดลด้วย   ทำงานภายใต้การร่วมมือของครู ครูทุกคนมาร่วมกันทำงานพื้นที่นี้ ร่วมออกความคิดเห็นร่วมกัน และลงมือทำงานร่วมกัน เราอยากจะพัฒนาที่แปลงนี้ให้เป็น แปลงตัวอย่าง แปลงต้นแบบ เป็นแปลงที่ว่าการลงมือทำมันคือ คำตอบ ให้ชาวบ้านได้เห็นว่าโครงการของภาครัฐนั้นทำแล้วก็สามารถประสบความสำเร็จได้..”

บัญชาและภรรยาพร้อมคณะ พาทีมงานชมแปลงโคก หนอง นา ทั้งขนาด 3 ไร่ ที่ออกแบบตามมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน มีพืชผัก ผลไม้ กำลังออกดอกออกผล “เหลือใช้” เกินคำว่า พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เพราะผลไม้บางอย่างหล่นเต็ม บนเนินที่เป็นโคกพืชผักก็สะพรั่งไปหมด ต่อจากนั้นได้พาไปดูอีกแปลงซึ่งเป็นที่ดินต่อเนื่องกันขนาดประมาณ 28 ไร่

ทั้งบัญชาและกาญจนีสองสามีภรรยา เดินไปคุยกันท่ามกลางผลผลิตที่กำลังดูไปทางไหนก็อิ่มใจเบิกบาน หากจะว่าไปแล้วทั้งคู่คือ นักจิตอาสาผู้คลั่งใคล้ศาสตร์ของพระราชาที่มุ่งหวังพัฒนาที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้เป็นโคก หนอง นา ท่ามกลางหินกรวดและความแห้งแล้ง ให้เขียวชอุ่ม และหวังให้ผืนดินแปลงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมทั้งเป็น “นักจิตอาสา” อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสตร์ของพระราชาทั่วประเทศด้วย

บัญชาและกาญจนี เล่าให้ทีมงานเราฟังต่อว่า ตอนนี้เราตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว ในอำเภอเจริญศิลป์ มีทั้งหมด 13 แปลง อำเภอสว่างแดนดินมี 29 แปลง ครูจิตอาสาของอำเภอเจริญศิลป์มี 4 ท่าน อำเภอสว่างแดนดินมี 6 ท่าน ทีมครูได้แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่อีก 2 แปลง ตอนนี้ได้ทำการรวมศูนย์ทั้ง 7 ศูนย์เข้าหากันเป็นเครือข่ายกัน และได้เลือกศูนย์หัวไวใจสู้ เอามารวมเครือข่ายกัน ในการขับเคลื่อนให้เกิดพลัง สิ่งที่เราจะทำคือ ตลาดนัดโคก หนอง นา ซึ่งเรามีพื้นที่ติดถนนใหญ่ เนื้อที่ขนาด 4 ไร่ ถมดินแล้วขนาด 1 ไร่ หน้ากว้าง 30 เมตร ลึก 50 เมตร เราจะตั้งซุ้ม 15 ซุ้ม เปิดตลาดนัดทุกวันศุกร์ เป็นที่ดินของภรรยา

 “แนวคิดที่จะเปิดตาดนัด คิดมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะผลผลิตจากโคก หนอง นา เกิดแล้ว  ก่อนหน้านี้ได้ปรึกษากับกรมพัฒนาชุมชนอำเภอเจริญศิลป์แล้วก็คิดว่าน่าจะทางเดินต่อไปได้ ตอนนี้เราให้เฉพาะ 15 ศูนย์ ถ้าหากเจ้าอื่นอยากเข้ามร่วมด้วยก็มาเป็นศูนย์ที่ 16 -17 -18 และให้เขาขายต่อได้ สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ คนในพื้นที่ ตลาดตั้งอยู่ในเทศบาล เราไม่อยากให้มีค่าขนส่ง ที่ต้องเปิดตลาดวันศุกร์เพราะในชุมชนมีพวกข้าราชการ คนทำงานจันทร์-ศุกร์ ก่อนหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ซื้อของกลับบ้าน ผมคิดว่าแบบนี้น่าจะเกิดความยั่งยืน..”

ในโลกนี้มีนักธุรกิจหลายประเภท บางคนยิ่งรวยยิ่งอยากเห็นตัวเลขในบัญชีเพิ่มขึ้น บางคนดิ้นรนเพื่ออยากจะอยู่รอดเพื่อตนเองแล้วก็ชื่อเสียง บางคนเป็นคนไม่รู้จักพอกับสิ่งที่ตนเองครอบครองจึงดิ้นรนทุกวิธีทางเพื่อให้ได้กำไร องค์ทะไลลามะ จึงพูดว่า “มนุษย์เป็นสิ่งที่แปลกที่สุดในโลก  เพราะเขายอมสละสุขภาพเพื่อหาเงิน แล้วก็สละเงินเพื่อให้สุขภาพฟื้นคืนมา  เขาห่วงอนาคตมากจนไม่มีความสุขกับปัจจุบันผลคือเขาไม่อยู่ทั้งปัจจุบันและอนาคต  เขาอยู่เหมือนจะไม่มีวันตายและท้ายสุดเขาก็ตายไปโดยไม่ได้มีชีวิตอยู่จริง” มีน้อยรายที่เป็นนักธุรกิจรู้จักพอแล้วนำประสบการณ์ความรู้ออกมาช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ด้วยกัน

ก่อนลาจากกันเช่นเดิมเราได้ต่อสายให้ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พูดคุยกับบัญชา-กาญจนี พร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่จากกรมการพัฒนาชุมชน  ซึ่งทุกฝ่ายมีความปิติยินดีทั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ได้รู้ข้อมูลจากพื้นที่จริงและมีความสุขเมื่อเห็นชาวบ้านประสบความสำเร็จ เจ้าของแปลงโคก หนอง นา ก็มีกำลังใจในการทำงานร่วมกับภาครัฐ หลังได้พูดคุยกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เอาหัวใจใส่เข้าไปในหัวใจของพวกเขา วันนี้คนทำเกษตรแม้จะไม่ได้ร่ำรอยเงินทอง แต่งกายสวยหรู แต่ทุกคนเท่าที่สัมผัสตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของทีมงานที่ลงพื้นที่จริง รับรู้ได้ว่าพวกเขามีความสุขที่เกิดจากคำว่ารู้จัก..พอ??

Leave a Reply