ปลัดมหาดไทย ชื่นชม “กลุ่มสัจจะออมทรัพย์จันทบุรี” ยก “พระอาจารย์สุบิน -พระอาจารย์มนัส” คือ พระภิกษุต้นแบบสอนให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง

วันที่  25 ธ.ค. 65 ที่วัดโพธิ์ทอง ต.แสลง อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือบทบาทการเกื้อหนุนวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนและจังหวัดบูรณาการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” และร่วมมอบทุนผู้สูงอายุ-ทุนการศึกษา-ผู้พิการ-ผู้ด้อยโอกาสให้แก่ตัวแทนกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จำนวน 217 กลุ่ม โดยได้รับเมตตาจากพระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง พระราชธรรมเมธี ดร. เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ พระบุรเขตธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดตราด พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระโสภณพัฒนคุณ เจ้าคณะอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี พระครูศรีมงคลปริยัติกิจ เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายสันติ รังษิรุจิ นายธวัชชัย นามสมุทร นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในพื้นที่จำนวนกว่า 2,000 คน ร่วมรับฟัง

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพี่น้องสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี และพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ที่มีพระเถรานุเถระ คือ พระอาจารย์สุบิน ปณีโต วัดไผ่ล้อม และพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม หรือพระอาจารย์มนัส ขนฺติธมฺโม เจ้าคณะตำบลตลาด เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง ผู้เป็นหลักชัยเป็นที่พึ่งในการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่อง “การพึ่งพาตนเอง” ด้วยการก่อตั้งและขับเคลื่อนกองทุนสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี อันเป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่เพื่อนฝูง ทำให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลกันและกัน ซึ่งคนโดยทั่วไปต่างสรรเสริญยกย่องชมเชยว่า “เป็นกองทุนต้นแบบ” ที่สมาชิกเอากระบอกไม้ไผ่มาหยอดเงินเก็บออมทรัพย์ แล้วเอาเงินมาลงขันกองทุนหมุนเวียน ให้เกิดประโยชน์กับหมู่มวลสมาชิก ซึ่งโดยส่วนตัวนับว่าเป็นเกียรติและดีใจยิ่งที่ได้มีโอกาสมากราบนมัสการพระอาจารย์มนัส พระเถรานุเถระทุกรูป และพบปะกับพี่น้องกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรีในวันนี้

     “พระอาจารย์สุบิน ปณีโต เป็นพระเถระรูปแรก ๆ ที่ทำให้เกิดกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ขึ้น และพระอาจารย์มนัสก็มาช่วยเสริมทำให้กองทุนมีความแข็งแรง มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดสรรพประโยชน์กับลูกศิษย์ลูกหาผู้เป็นสมาชิกกองทุน ซึ่งเป็นสัจธรรมว่าคลื่นลูกหลังก็ต้องแรงกว่าคลื่นลูกแรก แต่เป็นคลื่นแห่งการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ผู้ริเริ่ม ผู้ก่อตั้งได้ทำได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบ ไว้เป็นตัวอย่าง เฉกเช่นในชีวิตของทุกครอบครัวที่มุ่งเลี้ยงดูจุนเจือส่งเสริมลูกหลานให้มีคุณภาพชีวิต มีงาน มีอาชีพที่มั่นคงและดีกว่าบรรพบุรุษเพิ่มมากขึ้น โดยเรื่องแรกที่สำคัญของสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ คือ ต้องดูแลคนในครอบครัวให้ดี อย่างน้อยที่สุดต้องเหมือนพวกเราทุกคน คือ “ต้องมีสัจจะ” มีวินัย มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักรับผิดชอบในการที่จะทำให้เกิด “สัจจะสะสมทรัพย์” เพื่อยังผลทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งในปัจจุบันพี่น้องสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลดีอยู่แล้ว ขอให้ขับเคลื่อนต่อไป และต้องอย่าลืมรำลึกนึกถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงสอนพวกเราให้พึ่งพาตนเอง สอนให้เราเป็นคนมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ และที่สำคัญที่สุด มีความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ มีความรู้คู่คุณธรรม รู้จักพอประมาณ มีเหตุมีผล รู้จักพึ่งพาตนเอง ในการนำเงินทุนที่เราต้องหยิบยืมไปทำมาหากินและเมื่อมีรายได้ก็นำเงินมาส่งคืนเพื่อให้เพื่อนสมาชิกคนอื่นซึ่งก็คือพี่น้องญาติมิตรในหมู่บ้าน/ชุมชนของพวกเราได้นำไปใช้ประโยชน์ลงทุนประกอบอาชีพในชุมชนหมุนเวียนกันต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า ที่พวกเราทุกคนได้มาเจอะเจอกันในวันนี้ไม่ใช่แค่มีวาสนาร่วมกัน แต่เรามีความหวังดีของคณะสงฆ์เป็นจุดเริ่มต้นจากความเมตตาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ให้กระทรวงมหาดไทยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีโอกาสดีของชีวิตในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูภูมิปัญญาในเรื่องการหาเลี้ยงชีพของประชาชนคนไทย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประยุกต์สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อันเป็นการสนองพระบรมราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันถือเป็นพันธะสัญญาว่ากระทรวงมหาดไทยจะ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ตามหลัก “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย โดยมีเสาหลักสำคัญ คือ สถาบันศาสนา มาช่วยฝ่ายบ้านเมืองให้ได้มาพบกับสถาบันที่สำคัญที่สุด ที่ชาติของเราจะขาดไม่ได้ คือ “พี่น้องประชาชน” ให้มีแนวทางในการทำให้ครอบครัวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีท่านเจ้าคุณพระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดวังอ้อ เจ้าคณะตำบลหัวดอน ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ในการนำเอาพื้นที่พุทธอุทยาน และศูนย์เรียนรู้ น้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา หรือ “พุทธเกษตร” ร่วมกับอาจารย์ธีระ วงษ์เจริญ ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกรรมธร หรือ อ.ยักษ์ โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำให้เกิดแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ทำให้เราพ้นจากความเป็นหนี้ พ้นจากความไม่มั่นคงในเรื่องคุณภาพชีวิต ด้วยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมทั้งแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” มีรักเพราะคนในครอบครัวช่วยกัน พ่อแม่ก็ช่วยกัน รักกัน โดยมีกิจกรรม คือ ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข่า ตะไคร้ มะเขือยาว พริก มะเขือเปราะ มะนาว มะกรูด ชอบผักชนิดไหนก็ปลูกชนิดนั้น โดยมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ สร้าง “ทีมจิตอาสา” จากทั้ง 7 ทีมภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนามีพระสงฆ์องค์เจ้า นักบวชโบสถ์คริสต์ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด ภาควิชาการมีครูบาอาจารย์ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชน  ขับเคลื่อนขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนเพื่อช่วยเหลือแก้ไขสภาพปัญหาของชีวิตประจำวัน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

     “นอกจากนี้ กลไกมหาดไทยทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ จะได้ร่วมกันในการสนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสานงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ช่วยกันทำให้ทุกครอบครัวลุกขึ้นมาทำให้ประชาชนทุกคน ทำให้ทุกครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน อันจะส่งผลให้ชุมชน/หมู่บ้านมีความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” สอดคล้องกันกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อที่กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ลงเข้าไปหาพื้นที่ คัดเลือกหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุดในพื้นที่ ทั้ง 878 อำเภอ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สะท้อนสภาพปัญหาและชีวิตความเป็นอยู่ และช่วยกันนำเสนอแนวทางแก้ไขแล้วหาข้อสรุปและลงมือทำด้วยกัน ครอบคลุมในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้เกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้ายว่า ประเทศไทยของพวกเราทุกคนจะพัฒนาได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ทุกคนต้องช่วยกันมีสัจจะในการทำความดี เหมือนกับที่เราเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ และทำให้กลุ่มสามารถขับเคลื่อนเกิดมรรคผลในทุกวันนี้ ซึ่งการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ต้องมีเป้าหมายว่า “วันหนึ่งฉันจะเลิกเป็นหนี้” ด้วยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ดินของตนเองมีพื้นที่ว่าง ก็ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ รายจ่ายอะไรไม่จำเป็นก็เลิกจ่าย จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ใช้ชีวิตที่มีเหตุและผล ดูแลลูกหลานให้มีเหตุและผล สร้างสมาชิก สร้างสังคมที่มีคุณธรรม ดูแลช่วยเหลือกัน ให้มีสัจจะ มีวินัย มีความรับผิดชอบ ด้วยพลังแห่งการมีจิตอาสาของทุกท่าน แล้วครอบครัว ชุมชน และสังคม ก็จะพบเจอแต่คุณภาพชีวิตที่ดีมีแต่ “ความสุขที่ยั่งยืน”

Leave a Reply