ตามไปดู โคก หนอง นา แห่งเมืองกรุงเก่า อดีต “อู่ข้าว อู่น้ำ”  

กระทรวงมหาดไทยโดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” มาตั้งแต่ปี 2563 ยุคที่ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันเป็นอธิบดี จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 32 แห่ง มีผู้นำต้นแบบ 1,500 คนและเครือข่าย 22,500 คน มีครัวเรือนเข้าร่วมมากกว่า 25,000 ครัวเรือนไม่นับรวมกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ สถานศึกษา ภาคธุรกิจหรือประชาชนทั่วไปอีกจำนวนนับหมื่นราย

“โคก หนอง นา” ปัจจุบันกระจายอยู่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอและตำบล ไม่เว้นแม้กระทั่งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นเมือง “อุตสาหกรรม”

“จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”  เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางและเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี อีกทั้งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เคยมีชื่อเสียงในฐานะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีอำเภอเมือง แต่มี “อำเภอพระนครศรีอยุธยา” ชาวบ้านโดยทั่วไปนิยมเรียกจังหวัดระนครศรีอยุธยาอีกชื่อหนึ่งว่า “กรุงเก่า” หรือ “เมืองกรุงเก่า” ปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบด้วย 16 อำเภอ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นราชธานีมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 1893 จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2310 เป็นเวลายาวนานถึง 417 ปี มีประวัติในการปกครอง การกอบกู้เอกราช วีรกรรมและด้านขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารดังคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”ทั่วทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังมากมายไปด้วยวัดวาอาราม ปราสาทราชวังและปูชนียสถานปูชนียวัตถุมากมาย มีพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาจักรสืบต่อกันมา 33 พระองค์  ทั้งนี้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ในเขตส่งเสริมการลงทุน มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค), นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง

“ทีมข่าวพิเศษ”  ลงพื้นที่เพื่อไปดูแปลงโคก หนอง นา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่โรงเรียนบวรวิทยา 2 ซึ่งตั้งอยู่ในเขต “อำเภอพระนครศรีอยุธยา” ขับรถผ่านหมู่บ้านจัดสรรที่ผุดขึ้นมากมาย กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งชุมชนและทุ่งนาที่กำลังจะเป็นอดีต “อู่ข่าว อู่น้ำ” หมู่บ้านจัดสรรใหม่ก็ดี แหล่งชุมชนก็ดีดูแล้ว “ล้วนขวางทางรับน้ำ” จากภาคเหนือทั้งสิ้น  ความจริงภาครัฐน่าจะมีมาตรการ “ควบคุม”เกษตรกรหรือแหล่งผลิตอาหารแบบจังหวัดอยุธยาบ้าง มิใช่ปล่อยให้นายทุนหรือเกษตรกรขายแหล่งผลิตข้าวหรือผลิตอาหารได้แบบตามใจชอบ ประเทศพม่า รัฐบาลเขามีมาตรการควบคุมพื้นที่ปลูกข้าว พร้อมกับส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” แบบจังหวัดอยุธยาเป็นกรณีพิเศษ เพราะรัฐบาลรู้ว่า “โลกตะวันตก” หรือ “อาหรับ” ผลิตอาหารไม่ได้แบบเอเชีย วันหนึ่ง “เอเชีย” จะเป็นครัวโลกอันนำไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ให้กับประชาชนและประเทศได้

“โรงเรียนบวรวิทยา 2” ตั้งอยู่ติดกับวัดช้างใหญ่ ต.วัดตูม อ. อำเภอพระนครศรีอยุธยา จากประวัติวัดแห่งนี้ สร้างโดย “ชาวมอญ” ประมาณ พ.ศ. 2250 ในรัชสมัยพระบรมโกศ ปัจจุบันมีซากเจดีย์และโบสถ์หลังเก่าพอเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์อยู่ ในอดีตบริเวณแถวนี้คงเป็นชุมชนดั้งเดิมของคนมอญ จากการสอบถามพระภิกษุ ท่านบอกว่าหลักฐานเก่ามีแค่ 2 อย่างคือ ซากเจดีย์และโบสถ์พร้อมภาพ นอกนั้นไม่มีอะไรเลย เจ้าอาวาสปัจจุบันท่านเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช

“ดร.บุญฑริก รักนุช”  ผู้อำนวยการโรงเรียนบวรวิทยา 2   บอกว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนเอกชนมีนักเรียนประมาณ 500 คน เราเข้าร่วมโครงการโคกหนองนากับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 1ปี  1เดือน  แล้ว เดิมทีแปลงตรงนี้เป็นแปลงที่ให้เด็ก ๆ ทำการเกษตร ทำสวนผักพืชสวนครัวอยู่แล้ว พอดีได้รับโอกาสจาก พช.(กรมการพัฒนาชุมชน) ว่าโรงเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ไหม เราก็มองว่า ไหน ๆ เราก็ทำด้านการเกษตรอยู่แล้ว ครูก็ทำกันเองใครถนัดด้านไหนก็ทำด้านนั้น หลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับ พช. แล้วก็ทำให้ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้ผู้มีความรู้ ผู้ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ก็ทำให้เด็กๆได้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงดีขึ้น เห็นโอกาสนี้ก็เลยตกลงเข้าร่วมโครงการผลตอบรับที่ได้คือมันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองมองว่าทางโรงเรียนขงเราสอนอย่างมีหลักการมีที่มาที่ไปที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นสิ่งที่เด็กๆสามารถนำไปต่อยอดในชีวิตจริงได้ พวกเขาได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแปลงตั้งแต่เริ่มต้นเรานำไปบูรณาการเข้ากับวิชาการเรียนต่างๆเช่น วิทยาศาสตร์ สังคม สามารถเรียนรู้ได้จริง สิ่งที่จะติดตัวเด็กไป คือ เด็กต้องได้ลงมือสัมผัสและจะจดจำไปตลอด มันไม่ใช่แค่สิ่งที่บันทึกอยู่ในกระดาษเท่านั้น

“แปลงโคกหนองนาของเรานอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว มันแหล่งทำกิจกรรมของชุมชนด้วย เนื่องจากทั้ง วัด  อบต. ชุมชนเข้ามาช่วยดูแลสนับสนุน ผู้ใหญ่บ้าน กำนันและผู้ปกครอง สนับสนุนต้นไม้บ้าง ปลาบ้าง วัดก็จะมีท่านเจ้าอาวาส สามเณรเข้ามาช่วย สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆที่ทางโรงเรียนต้องการ เมื่อแจ้งความประสงค์ไปทางวัดก็ให้ความสนับสนุนมาด้วยดีโดยตคลอด ตอนนี้แปลงเรามีข้าวสาน ที่ถึงแม้ว่าแปลงจะเล็กแต่เราปลูกตลอด เพราะมีน้ำตลอด มีเครือข่ายที่ช่วยเรื่องการสีข้าว การแพ็ค และช่วยนำไปจำหน่ายด้วย มีการเอามื้อสามัคคีจากเครือข่ายอื่น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากแปลงโคกหนองนา ไม่พอจำหน่าย เพราะเวลาเราโพสต์ลงสื่อออนไลน์จะมีผู้ปกครองนักเรียนบ้าง คนในชุมชนบ้าง ต้องการมาก ตอนนี้กำลังหางบประมาณ อยากจะมีศูนย์จำหน่ายผลผลิตจากแปลงโคกหนองนาของโรงเรียนและภาคีเครือข่ายโคกหนองนาในตำบลหรืออำเภอใกล้เคียงเพราะเวลาผู้ปกครองมารับลูก ๆ หลาน ๆ คิดว่าขายได้แน่นอน..”

“ด.ญ.ชุมพูเนกข์ โพธิ์ร่มเย็น”  นักเรียนโรงเรียนบวรวิทยา 2   กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า การได้ทำโคกหนองนา ถือว่าได้ประสบการณ์ได้สัมผัสของจริงทำให้รู้ว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับประชาชนสำคัญอย่างไร โคกหนองนา สอนให้เรื่องการใช้ทฤษฎีในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้เราใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ประหยัดพื้นที่ ปลูกพืชแบบบผสมผสานได้ เพราะเรามีพื้นที่ขนาดนี้เราสามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่มากยิ่งขึ้น

 “ เวลาเราทำแบบนี้สนุกมาก ช่วยกัน เรื่องเปื้อนดิน เปื้อนโคลนไม่กลัว เพราะเวลาได้ทำกิจกรรมรู้สึกสนุก และมีประสบการณ์นอกห้องเรียน เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันปลูกข้าว รดน้ำต้นไม้ เกี่ยวข้าว รู้สึกสนุกมาก ได้มีผลผลิตจำพวกผักนำไปกิน ไปฝากพ่อแม่ท่านดีใจมาก ปลื้มใจ สิ่งที่เราได้ช่วยและร่วมกันทำ..”

การปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รู้จักการพึ่งพาตนเองอย่างน้อยให้รู้จัก “วิชาชีวิต” เรื่องการหาอาหาร หุงข้าว ซักผ้า และฝึกความอดทนให้ “ติดดิน” มันคือสิ่งจำเป็นมากในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่หลายครอบครัวห่างเหินไปจาก “วิชาชีวิต” เรื่องปากท้องและการเป็นอยู่ ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากในยุคนี้ไม่รู้จักคำว่า “ความกตัญญูกตเวที” ซ้ำบางคนคิดแบบสุดโต่งว่า เขาเกิดมาเพราะความใคร่ของพ่อแม่ต่างหาก จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้อง “รับผิดชอบ” ต่อชีวิตเขาที่ทำให้เขาเกิดมา

ในขณะที่ “ครูพาทำ”  น.ส.สำราญ ศรีสวัสดิ์  ซึ่งเป็นครูประจำโรงเรียนบวรวิทยา 2 ได้ผ่านการอบรมโคกหนองนามาแล้ว 5 คืน 4 วันจาก กรมการพัฒนาชุน เป็นผู้รับผิดชอบแปลงแห่งนี้สะท้อนให้ฟังว่า เป็นครูพาทำ ครูอาสา หลังจากอบรมแล้วก็นำมาปฏิบัติใช้ เราก็เป็นลูกชาวนา แต่ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มทำอย่างไร พื้นที่ต้องมีระดับสูงต่ำ ดูปริมาณ ดูทิศทางลม แต่พอเราไปอบรมแล้วทำให้ได้ความรู้ เมื่อนำมาใช้เริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ที่สำคัญคือมีคนต่างถิ่นมาดูงานที่เรา ทำเป็นศูนย์เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน ประชาชนในชุมชนนำของมาแลก แลกน้ำหมัก ขอพืช ขอพันธุ์ผัก มันมีความรู้สึกว่า เรามาไกลขนาดนี้แล้ว เหมือนมีชีวิตใหม่ เราเป็นครู พอไปอยู่อีกมุมหนึ่ง เราก็มีเพื่อนมีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น กว้างขึ้น มีคนมาดูงานที่นี้มากขึ้น ที่นี้มีฐานเรียนรู้ มีผลิตภัณฑ์ของเราเอง เขาก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากฐานของเราไป เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จัก แต่พอมีโคก หนองนา มันก่อให้เกิดความเกื้อกูล สามัคคีกัน ส่วนเรื่องผลผลิตมีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีคนสั่งจองกัน จนทำไม่ทัน

“ตอนนี้พืชสวนเต็มพื้นที่แล้ว สิ่งที่จะทำต่อคือปลูกฝังให้เด็ก ๆ ปลูกผัก ทานผัก ผักสีเขียวเด็กจะต่อต้านอยู่แล้ว ผอ.โรงเรียนท่านเริ่มมองหาแนวทางที่จำนำดอกไม้ที่ปลูกแล้วเด็ดมารับประทานทานได้ กำลังหาช่องทางทำศูนย์การค้าชุมชนจำหน่วยผักปลอดสารพิษขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากชุมชนและแปลงโคกหนองนา ด้านหน้าแปลงศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา เราในฐานะคนทำงานเรื่องนี้ก็ยินดีและดีใจ..”

จากการบอกเล่าของ นางสาวอัญชลี เฉลยรัตน์  พัฒนาการอำเภอพระนครศรีอยุธยา ที่ร่วมเดินทางไปด้วยบอกว่า แปลงโคกหนองนาในส่วนของอำเภอพระนครศรีอยุธยามีทั้งหมด 28 แปลง ทุกแปลงทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมด ที่ผ่านมามีกิจกรรมเอามื้อสามัคคี  ช่วยทำฐานเรียนรู้ ตอนนี้กำลังดำเนินการสร้างเครือข่ายโคก หนอง นา มีกิจกรรมหมุนเวียนกันทำฐานเรียนรู้

 “สำหรับแปลงของโรงเรียนบวรวิทยา 2 แห่งนี้ เราใช้ “บวร” ในการทำงาน เป็นแปลงต้นแบบ และเป็นแปลงแรกของอำเภอ แปลงแรกของจังหวัด เหมือนเป็นจุดเรียนรู้และมีคนเข้ามาดูงานตลอด.”

แปลงสุดท้ายที่ “ทีมข่าวพิเศษ”  แวะไปเยี่ยมเยียนเป็นแปลงของ “คมสัน เทียนดี” ตั้งอยู่ใน ต.โพธิ์เอน อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว 20 กว่าปี เป็นครูพาทำของกรมการพัฒนาชุมชน เดินทางให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนสนใจด้านนี้ทั่วประเทศ เข้าร่วมโคกหนองนา ขนาด 1 ไร่ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วยบอกว่า เรื่องโคก หนอง นา นี่ถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยต้องยอมรับว่า “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านนี้ท่านใจถึงและทุ่มเทเป็นอย่างมาก ความจริงเรื่องนี้เหมือนเราไปสร้างความสมดุลกับระบบ “นายทุนผูกขาด” สอนคนให้พึ่งตนเองได้แบบอย่างยั่งยืน ไม่โลภจนกลายเป็นทุกข์ ไม่แสวงหาแบบ “มือใครยาว” สาวได้สาวเอา  ตอนที่อาจารย์ยักษ์ หรือ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรก็พยายามทำ แต่ไปไม่รอด เพราะถูกต้านจากนายทุน แต่ปลัดเก่งท่านทำได้ ตอนนี้โคกหนองนา คนจึงสนใจและมาทำเกือบทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้กระทั้งพระภิกษุสงฆ์ เพราะมันคือ วิถีชีวิตของคนไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า โคกหนองนา คือ อารยเกษตร  มันคือเรื่องปากท้อง ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย..

การลงพื้นที่ตลอด 3 เดือนของ “ทีมข่าวพิเศษ” เพื่อไปพูดคุยกับภาคประชาชนทั่วประเทศ รับรู้ได้ว่า โคกหนองนา ถือว่าเป็นเรื่อง “แก้จน” อีกช่องทางหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหลายแปลงปัจจุบันอยู่ในขั้น “ก้าวหน้า” คือ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวบ้างแล้ว

ปัจจุบันจึงมีทั้ง พระภิกษุสงฆ์ นักปราชญ์ชุมชน นักวิชาการ เกษตรกรจำนวนมากจึงเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” มันคือ “ทางรอด มิใช่ทางเลือก”

 

Leave a Reply