สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณฯ กับ “การสร้างชาติ”

            พระประวัติ พระจริยวัตร และพระกรณียกิจของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชน เป็นที่ประจักษ์ทราบชัดในสากล องค์การยูเนสโกจึงประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และร่วมกับรัฐบาลไทยจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ ในพุทธศักราช ๒๕๖๔ นี้

           พระอัจฉริยภาพทุกด้านของพระองค์ล้วนเป็นประโยชน์เกื้อกูลและมิใช่เฉพาะแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังแผ่ไพศาลเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกอีกด้วย เช่น ด้านการศึกษา การปกครอง การบริหาร และการศาสนา

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษานั้น ทรงวางรากฐานการศึกษาของคณะสงฆ์และของชาติไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของคนไทยมาแต่อดีต จึงจัดให้มีการเรียนการสอนในวัดที่เรียกว่าโรงเรียนวัด ขยายโอกาสการศึกษาที่มีต้นทุนต่ำแต่ได้ผลสูงคุ้มค่า การศึกษาจึงเจริญขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ

           พระอัจฉริยภาพที่โดดเด่นของพระองค์อีกประการหนึ่งขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการรักษาชาติให้ผ่านพ้นวิกฤติอันตรายจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกภายใต้แนวคิด “ศาสนาสร้างชาติ”  พระดำริดังกล่าวสอดคล้องต้องกันกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในฐานะพระอนุชาต่างพระมารดา ได้รับภาระดำเนินนโยบายศาสนารักษาชาติโดยทรงร่วมเป็นประธานฝ่ายบรรพชิตในการปริวรรตคัดลอกพระไตรปิฎกตัวอักษรขอมจากคัมภีร์ใบลานฉบับต่างๆ ให้เป็นตัวอักษรไทย มีพระเถรานุเถระเข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ จำนวน ๑๑๐ รูป พร้อมทั้งระดมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ทำการตรวจสอบชำระแก้ไข ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  จนเป็นที่ยุติแล้วพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ๓๙ เล่ม ตรวจสอบชำระและพิมพ์ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๑-พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นเวลา ๖ ปี จึงสำเร็จ พิมพ์จำนวน ๑๐๐๐ ชุดเรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกของโลก อัญเชิญไปยังพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร หอสมุด และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศทั่วโลก ถึง ๒๖๐ ชุด นักวิชาการศาสนาจัดว่าเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๑๐ ของโลก และเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งมีขึ้นในประเทศไทย นานาอารยประเทศเกิดความยอมรับในฐานะประเทศมีวัฒนธรรมอักษรภาษาสืบสานต่อเนื่องเป็นของตนเองและมีความยำเกรงประดุจมิตรประเทศเท่าเทียมกัน

             พระอัจฉริยภาพด้านการนำพระพุทธศาสนารักษาและสร้างชาติโดยตรวจชำระพระไตรปิฎกนั้น เกิดจากพื้นฐานพระปรีชาแตกฉานในภาษาบาลีมีความรู้แปลพระธรรมบทได้ตั้งแต่อายุ ๘ พระชันษา และเมื่ออุปสมบทแล้วสอบบาลีต่อหน้าพระที่นั่งได้ถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค อุปนิสัยชาติกำเนิดเกิดมามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง เห็นได้จากวันที่ประสูติมี ฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่วเหมือนพญานาคให้น้ำบริเวณนั้น

            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวพระบรมชนกนาถ ทรงถือเป็นมงคลนิมิตจึงพระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ อันหมายถึงเหล่ากอของมนุษย์ผู้เกิดมาตามรอยพระพุทธเจ้านั่นเอง

           นอกจากอัจฉริยภาพดังกล่าวแล้วทรงมีศรัทธาสร้างคัมภีร์ใบลานเพื่อศึกษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้จำนวนมาก ดังปรากฏ ณ วัดบวรนิเวศ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นต้น โดยจารพระนามผู้สร้างคัมภีร์ใบลานว่า“มนุสฺสนาคมานโว” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระองค์คือ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ยิ่งกว่านั้นอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ใบลานอักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย วัดบวรนิเวศในหัวข้อ “มงฺคลสุตฺตกถา” เป็นธรรมเทศนาสั่งสอนของพระองค์ที่ควรปริวรรตเผยแผ่สืบต่อพระปณิธานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป..

ขอบคุณภาพข้อมูล:กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

Leave a Reply