‘สทศ.’ชื่นชม! ‘มจร พุทธโฆส’ พัฒนานวัตกรรมข้อสอบ PAT๗.๖ ภาษาบาลีรับใช้สังคม นร.มหิดลวิทยานุสรณ์เยี่ยม ชนะเลิศการแข่งขันทดสอบ เหตุมีทักษะวิเคราะห์ สังเคราะห์โจทย์ข้อสอบดีเป็นพื้นฐาน
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานจากการเข้าร่วมงาน “พุทธนวัตกรรม PAT ๗.๖ ภาษาบาลี” ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ภายใต้โครงการเผยแผ่ธรรมสู่เยาวชน ที่วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ภาคเช้า รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อดีตสามเณรนาคหลวง ป.ธ.๙ อาจารย์ผู้ออกแบบพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ภาษาบาลี แนะนำการติดตั้งโปรแกรม การใช้บทเรียน ตลอดจนวิเคราะห์ข้อสอบ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี ได้ให้กับนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและผู้สนใจนำโปรแกรมไปใช้เรียนด้วยตัวเองเป็นจำนวนมาก
ช่วงเวลา ๑๕.๐๐ น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้เดินทางมาร่วมงาน หลังจากชมสื่อพุทธนวัตกรรม PAT ๗.๖ ภาษาบาลี แล้ว ได้กล่าวแสดงความชื่นชมยินดี ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม พยายามออกแบบพัฒนานวัตกรรมรับใช้สังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ศิริดา ระบุว่า “สทศ. ยังยึดมั่นให้ความสำคัญกับภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่มีอิทธิพลต่อภาษาไทย เป็นภาษาพุทธศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือ ในการออกข้อสอบภาษาบาลี PAT ๗.๖ นี้ ยังอยู่ในกรอบโครงสร้างภาษา คำศัพท์สำคัญ ตลอดถึงหลักการใช้ภาษาบาลีสื่อความหมายเป็นภาษาไทย สทศ.ยินดีให้คำปรึกษาด้านเทคนิควิธีการขั้นตอนการสอบ หากทางมหาวิทยาลัยต้องการ”
หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ศิริดา บุรชาติ ได้ทำหน้าที่มอบรางวัลการแข่งขันตอบปัญหา PAT ๗.๖ ภาษาบาลี ซึ่งจัดแข่งขันทั้งแบบสอบด้วยกระดาษ และทดสอบตัดเกรดคะแนนด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งประเภทเดี่ยว และประเภททีมโรงเรียน ซึ่งปรากฏผลว่า นักเรียนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขัน ทั้งนี้เพราะมีทักษะในการวิเคราะห์ สังเคราะห์โจทย์ข้อสอบดีเป็นพื้นฐานไม่ด่วนตัดสินใจ
สทศ. หรือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐ ประเภทองค์การมหาชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๔๘ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำระบบ วิธีการทดสอบ พัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลตามมาตรฐานการศึกษา ดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลการจัดการศึกษา และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ โดยปัจจุบัน สทศ. ได้กำหนดระบบกลาง (Admissions)
สำหรับสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่าการสอบ GAT และ PAT เป็นตัววัดผลตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา กล่าวเฉพาะ PAT ซึ่งย่อมาจาก Professional and Academic Aptitude Test เป็นการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ โดยสามารถเลือกภาษาใดภาษาหนึ่งใน ๗ ภาษา ซึ่งมีภาษาบาลีรวมอยู่ด้วย จัดอยู่ใน PAT ๗.๖ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมามีการเปิดสอบ PAT ๗.๖ ภาษาบาลี จำนวน ๒ ครั้ง มีนักเรียนให้ความสนใจเข้าสอบมากถึง ๑๕,๐๙๐ คน
Leave a Reply