วันที่ 3 ก.พ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ได้ติดตามเฟซบุ๊ก Phanna Som ได้มีการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เฉพาะเกี่ยวกับปรัชญาคณิตศาสตร์ ล่าสุดได้มีการบูรณาการความคิดในพระไตรปิฎกนับได้ว่าเป็นเนื้อหาเป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจทั้งการบวก ลบ คูณ หาร และเลขเศษส่วน โดยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาได้เสนอแนวคิด “คณิตศาสตร์ในพระไตรปิฎก: เลขเศษส่วน” ความว่า

ในพระไตรปิฎกมีการใช้คณิตศาสตร์ในการนับคน สัตว์ ที่ สิ่งของ และใช้คำนวณเรื่องวันเวลากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปครับ แม้แต่เลขที่เราเรียนกันปัจจุบันที่เรียกว่า “เศษส่วน” (fraction) ก็มีการใช้เหมือนกัน สมัยเรียนบาลีตอนเด็ก เวลาแปลคำเกี่ยวกับเลขเศษส่วนทีไรผมงงทุกที เพราะไม่มีใครอธิบายให้ฟังว่ามันหมายความว่าอย่างไร ผมขอยกธรรมบทคาถาหนึ่งที่มีเลขเศษส่วน ดังนี้

ยงฺกิญฺจิ ยิฏฺฐํ ว หุตํ ว โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวาทนา อุชุคเตสุ เสยฺโย

แปลว่า “ผู้มุ่งบุญพึงบูชายัญ และทำบวงสรวงอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกตลอดปี, ทานนั้น แม้ทั้งหมดไม่ถึงส่วนที่ ๔ แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินตรงประเสริฐสุด”

ข้อความที่เกี่ยวกับเลขเศษส่วนในที่นี้คือคำว่า “น จตุภาคเมติ” บ้านเรานิยมแปลว่า “ไม่ถึงส่วนที่ 4” อ่านแล้วถ้าไม่เข้าใจเรื่องเศษส่วนงงแน่ๆ ครับ ชวนให้เข้าใจว่า ไม่ถึงส่วนที่อยู่ในลำดับที่ 4 หรืออย่างไร ตรงนี้หากพูดภาษาคณิตศาสตร์เรื่องเศษส่วน ก็คือ ไม่เท่ากับหนึ่งในสี่หรือเศษหนึ่งส่วนสี่ (1/4) นั่นเองครับ เหมือนเอาแตงโมลูกหนึ่งมาผ่าเป็น 4 ซีก การบูชายัญหรือการบวงสรวงตลอดทั้งปี ไม่เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสี่ของการอภิวาทท่านผู้ดำเนินตรง เหมือนไม่เท่ากับซีกหนึ่งของแตงโมที่ถูกแบ่งเป็นสี่ซีก

และวันที่ 3 ก.พ.นี้ได้โพสต์ต่อเรื่อง คณิตศาสตร์ในพระไตรปิฎก: การคูณ ความว่า

“นอกจากเรื่องเศษส่วนที่กล่าวมาแล้ว ผมยังพบว่า ในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงเรื่องการคูณด้วย ดังคาถาธรรมบทต่อไปนี้:

โย สหสฺสํ สหสฺเสน
สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ
ส เว สงฺคมาชุตฺตโมฯ

แปลว่า “ผู้ใดพึงชนะมนุษย์พันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่งในสงคราม ผู้นั้นหาชื่อว่าเป็นยอดแห่งชนผู้ชนะในสงครามไม่ ส่วนผู้ใดชนะตนคนเดียวได้ ผู้นั้นแลเป็นยอดแห่งผู้ชนะในสงคราม”

ในที่นี้ข้อความที่ว่าด้วยการคูณ คือ “สหสฺสํ สหสฺเสน” หมายถึง ชนะคนพันหนึ่งคูณด้วยคนพันหนึ่ง เท่ากับ 1 ล้านคน (1,000 x 1,000 = 1,000,000) พระอรรถกถาจารย์อธิบายข้อความนี้ว่า

“เอโก สงฺคามโยโธ สหสฺเสน
คุณิตํ สหสฺสํ มนุสฺเส เอกสฺมึ สงฺคาเม ชิเนยฺย ทส มนุสฺสสตสหสฺสานิ ชินิตฺวา…”

แปลว่า “ผู้ใด คือ นักรบในสงคราม พึงชนะมนุษย์พันหนึ่งซึ่งคูณด้วยพันในสงครามครั้งหนึ่ง ได้แก่ชนะมนุษย์ ๑๐ แสนแล้ว…”

เราจะเห็นว่า พระอรรถกถาจารย์ท่านขยายข้อความที่ว่า “สหสฺเสน สหสฺสํ” เป็น “สหสฺเสน คุณิตํ สหสฺสํ” โดยเพิ่มคำว่า “คุณิตํ” แปลว่า คูณ เข้ามา แปลว่า “(ชนะมนุษย์) พันคนคูณด้วยพันคน” (1,000 x 1,000) นอกจากนั้น ท่านได้ให้คำที่แสดงผลลัพธ์ของการคูณด้วยว่า “ทส มนุสฺสสตสหสฺสานิ” แปลตามตัวว่า “มนุษย์ 10 แสนคน” ซึ่งก็คือมนุษย์ 1,000,000 นั่นเอง

พึงสังเกตว่า คำว่า “คูณ” ที่เราใช้ในวงการคณิตศาสตร์ ก็คือคำเดียวกับคำว่า “คุณิตํ” ที่ใช้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั่นเอง”

เชื่อแน่ว่าองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นให้พระภิกษุ สามเณร ที่กำลังเตรียมตัวสอบบาลีสนามหลวง ซึ่งแม่กองบาลีสนามหลวง กำหนดวันสอบบาลีสนามหลวง ชั้น ป.ธ.6-7-8-9 ระหว่างวันที่ 6-10 ก.พ.2562 (ป.ธ.6 ภูมิภาคสอบวัดโพธิ์ 332 รูป-วัดสระเกศ 279 รูป, ส่วนกลางฝั่งธนบุรีสอบวัดปากน้ำ 133 รูป-ฝั่งพระนครสอบวัดเบญจมบพิตร 192 รูป และป.ธ.7-8-9 ภูมิภาค-ส่วนกลางสอบวัดสามพระยา 1,980 รูป)

Leave a Reply