“ผอ.สันติศึกษา มจร” ขอแสดงความเสียใจเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู

“ผอ.สันติศึกษา มจร” ขอแสดงความเสียใจเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู ชี้ความอ่อนแอที่มอบแด่คนที่อ่อนเยาว์ สังคมป่วยคนป่วย จะช่วยกันเยียวยาอย่างไร

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 จากเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวว่า ในนามหลักสูตรสันติศึกษา มจร ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว และญาติมิตรทุกคนต่อความสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักในครั้งนี้ และไว้อาลัยแด่ดวงวิญญาณบริสุทธิ์ทุกดวงที่ต้องเดินทางจากพ่อแม่พี่น้องอันเป็นที่รัก โดยไม่ทราบสาเหตุแห่งแรงจูงใจว่าเพราะเหตุใดจึงถูกกระทำเช่นนี้

หลายคนเข้าใจว่า คนที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวและกร้าวแกร่งเท่านั้น จึงจะสามารถแสดงออกซึ่งความรุนแรงโดยการเดินเข้าไปในโรงเรียนอนุบาลแล้วใช้ปืนกราดยิงเด็กที่กำลังพักผ่อนนอนหลับ พร้อมทั้งยิงและกรีดร่างครูผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสจะต่อสู้หรือหลบหนี

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ก่อการก่อเหตุดังกล่าวนั้น คือ “บุคคลที่อ่อนแอและไร้พลังอย่างถึงที่สุดแล้ว” จึงได้ตัดสินใจนำเอาความรุนแรงออกมากลบความอ่อนแอที่กำลังเกาะกินจิตใจที่กำลังเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน ความอ่อนแอของจิตใจที่มิมีโอกาสที่จะยืนหยัดต่อสู้กับกิเลสที่เข้ามาท้าทาย จนเป็นเหตุแห่งการก่อเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิต และสะท้อนความเป็นไปของสังคมที่เจ็บป่วยในหลายๆ ด้านอยู่ในขณะนี้

สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นตัวกั้นกิเลสเครื่องเศร้างหมองทั้งหลาย

ยอมรับเถิดว่า ระบบการศึกษาที่มุ่งตอบโจทย์วิชาชีพ แต่หลงลืมวิชาชีวิต จึงทำให้คนฉลาดแต่ขาดความสุข สงบ เย็น เมื่อเผชิญหน้ากับแรงเหวี่ยงของตัณหาที่ไม่สมความอยากจนก่อให้เกิดความแปลกแยกกับสังคม หรือพลาดหวัง ผิดหวังกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็พร้อมจะแสวงหาสอ่งใดสิ่งหนึ่งมารองรับเพื่อระบายพลังแห่งความทุกข์ ความเจ็บปวดที่ตัวเองกำลังเผชิญ

การศึกษาข้างนอกที่มุ่งแสวงหากิน กาม และเกียรติจึงไม่พอที่จะตอบโจทย์ความเป็นไปของชีวิต หากควรมุ่งพัฒนาการศึกษาข้างในที่มุ่งพัฒนาตัวรู้มาก่อนความรู้ ก็จะทำให้สามารถยังยั้งชั่งใจก่อนที่จะตัดสินใจกระทำสอ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมิได้สนใจผลลัพธ์ที่จะตามมา

ภาพจำที่เลวร้ายอาจจะกลายเป็นแบบอย่างของการใช้ความรุนแรง

ภาพจำของการกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ รวมถึงภาพของทหารที่ใช้อาวุธยิงผู้คนในห้างที่โคราช อาจจะกลายเป็นอย่างของการปฏิบัติที่เลวร้าย (Bad Practice) ที่ช่วยเป็นทางเลือกในการระบายอารมณ์และความรู้สึกต่อกลุ่มคนที่ง่ายต่อการรองรับความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจที่ตัวเองได้รับมา และจะน่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก หากครั้งนี้จะแรงพลักให้เกิดเหตุร้ายในโอกาสต่อไป

ยิ่งอยู่ใกล้ยุทธปัจจัยที่เอื้อต่อความรุนแรง ยิ่งต้องแสวงหาหนทางป้องกันอย่างรอบด้าน

กรณีทหารที่โคราชใช้อาวุธสงครามกราดยิงผู้คนในห้างและนอกห้าง จนมาถึงกรณีของอดีตตำรวจใช้อาวุธปืนที่ตัวเองเข้าถึงอย่างง่ายดายนั้น ก็ยิ่งทำให้อารมณ์และความรู้สึกของคนในสังคมเริ่มมีคำถามตามมาว่า ในอนาคตจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่สามารถครอบครองอาวุธ หรือเข้าถึงอาวุธสงครามเหล่านั้นจะไม่ก่อเหตุขึ้นอีกในอนาคต

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ ควรจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรในอนาคตอันจะทำให้เกิดความมั่นใจ และประกันความปลอดภัยแก่กลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ที่ไม่มีโอกาสหรืออำนาจในการเข้าถึงอาวุธเหล่านั้น

สังคมป่วย คนป่วย พระสงฆ์ช่วยเยียวยา

สถานการณ์การสังหารหมู่ครั้งนี้ มีกลุ่มคนไม่น้อยที่หันกลับมาตั้งคำถามกับพระพุทธศาสนา รวมถึงองค์กรพระพุทธศาสนา ที่อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมาช้านานว่าจะเข้ามาช่วยอย่างไร??

ระยะสั้นคือการช่วยเหลือด้านพิธีกรรมทางศาสนา จัดพิธีสวดอภิธรรมศพ และพิธีฌาปานกิจ ร่วมถึงการให้กำลังใจ และนำธรรมะไปช่วยกล่อมเกลาจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย

ในระยะยาว คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม รวมถึงผู้คนในสังคมที่กำลังมีความเจ็บป่วยทางจิตใจ โลกของวัตถุนิยมที่ถูกฉาบทาด้วยโลกธรรม การแย่งชิง แข่งขัน ความเห็นแก่ตัว การทุจริต ยาเสพติด ความว้าเหว่ เปลี่ยวเหงา แปลกแยก ขาดภูมิคุ้มกันทางใจ เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์จึงมิอาจวางใจยอมรับ และมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นแรงผลักให้ก่อเหตุ

ทุกข์ของคนจึงกลายเป็นโอกาสของธรรม ที่พระสงฆ์หรือองค์กรศาสนาจักได้นำมาวิเคราะห์ความเป็นมาเป็นไปของจุดเจ็บปวด (Painpoint) ภายในจิตใจแล้วเสนอธรรมะที่ผ่านการออกแบบให้เหมาะสมกับวิถีความเป็นไปของผู้คนในสังคมโลก เพื่อให้โลกไม่ช้ำ และให้ธรรมได้ช่วยคุ้มครองผู้คนในสังคมโลก

มาตรการรองรับที่พึงประสงค์

ในระยะสั้นจำเป็นต้องเยียวยาทั้งร่างกาย และจิตใจครอบครัวเด็กๆ และผู้สูญเสียจากกองทุนต่างๆ ในขณะที่พระสงฆ์ วัดวาอาราม ก็เข้ามาช่วยจัดพิธีกรรมทางศาสนานำหลักธรรมมากล่อมเกลาญาติผู้สูญเสีย

ระยะกลางก็ควรเตรียมการในการวางมาตรการต่างๆ ในช่วงนี้จนถึงปีใหม่ให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่เหตุร้ายที่ไม่คาดฝัน การจัดทำคู่มือเพื่อเตือนให้ครูและเด็กได้ตระหนักรู้และหาทางออกต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะขึ้นโดยมิคาดฝัน

ในระยะยาว ควรเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาเพื่อสันติภาพ (Education for Peace) เพื่อเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย อันเป็นการกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงพิษภัยของความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นความรุนแรง ทั้งทางตรง และเชิงโครงสร้าง และเฝ้ารอการก่อเหตุในช่วงวัย และเวลาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลเชิงบวกต่อความรัก และการเคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม การหาทางออกเพื่อบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในทุกมิตินั้น ขออย่าให้อยู่บนฐานของความเกลียดชังหรือเคียดแค้นต่อผู้ก่อการ รวมถึงญาติมิตรที่เกี่ยวข้อง เพราะถึงอย่างไรผู้ก่อการก็ได้ตัดสินใจใช้ปืนแก้ไขปัญหาตัวเองด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาในชาตินี้แล้วก็ตาม

ขอให้เราท่านทั้งหลายได้ช่วยเหลือกันตามสมควรแก่สถานะ ทั้งการจัดพิธีแก่ผู้เสียชีวิต บริจาคเลือดแก่ผู้บาดเจ็บ ใช้กองทุนเยียวยา ให้กำลังใจพ่อและญาติๆ ที่สูญเสีย สวดมนต์ ทำจิตภาวนา แผ่บุญบารมีให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ป้องกันภัย และจัดวางระบบการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะต่างๆ โดยนำเอาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ในไทยและต่างประเทศ และครั้งนี้มาเป็นฐานในการถอดบทเรียน ศึกษา เรียนรู้ ป้องกัน แก้ไข ก็จะทำชีวิต ชุมชน และสังคมมีร่มเย็น และเป็นสันติสุขสืบไป

Leave a Reply