เขียนถึง “ดร.อุทิส ศิริวรรณ” หลังประกาศ “อาจลงการเมือง”

        เห็น ดร.อุทิส  ศิริวรรณ โพสต์เฟชบุ๊คถามถึงเงินเยียวยาของพระภิกษุ -สามเณร ที่สภาพัฒน์ ฯ ปฎิเสธที่จะให้ เพราะมองว่า “พระสงฆ์มีอยู่แล้ว”  พร้อมตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาว่า

       “ มหาเถรสมาคม ,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,กรมการศาสนา มีไว้เพื่ออะไร? มีเอาไว้ทำไม? นี่คือเหตุผลที่ ผมอาจต้องลงการเมือง” ปจัดการโครงสร้าง 3 องค์การหลักให้สนับสนุน อุปถัมภ์ และปกป้องคุ้มครองวัดวาอารามให้อยู่ปฏิบัติธรรมได้พอสม..”

         ผู้เขียนกับ ดร.อุทิส  ศิริวรรณ ไม่ได้รู้จักกันเป็นส่วนตัว ในชีวิตเคยเจอครั้งเดียว หลายปีมาแล้ว เราสองคนสนทนาปราศัยกันเล็กน้อย ณ วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพ ฯ

       แต่สมัยเป็นนักบวชยึดถือ “ตำราของท่าน” เป็นสรณะในการเรียนบาลี และคิดว่าร้อยละ 80 พระภิกษุสามเณรเรียนบาลียุคของผู้เขียนล้วนต้องพึ่งตำราเรียนบาลีของ ดร.อุทิศ ศิริวรรณ ทุกรูปจึงนับถือท่านเสมือนเป็น “พระอาจารย์” อีกท่านหนึ่งไปโดยปริยาย

        ตอนหลัง ๆ มานี้ติดตามผลงานของท่านบ้าง ที่ไปช่วยระดุมทุนถวายให้พระภิกษุ – สามเณร สำนักบาลีวัดโมลีโลกยาราม

       ดร.อุทิส ศิริวรรณ  คิดจะลงการเมือง “เชียร์” ครับ

เหตุผลเพราะ ดร.อุทิส  ศิริวรรณ  มีภาพลักษณ์ที่ดี คณะสงฆ์ยอมรับ เป็นคนศาสนาที่รู้เรื่องโครงสร้างวัฒนธรรมจารีตสังคมและบริบทสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

      ที่สำคัญ ดร.อุทิส ศิริวรรณ”  ไม่มีสีเสื้อ ไม่ถูกมองเรื่องขั้วการเมือง ต่างกับนักวิชาการชาวพุทธอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่ถูก “ตีตราสีเสื้อ” และ มีขั้ว มีค่าย 

      ปัจจุบันนักการเมืองชาวพุทธที่รู้เรื่อง “พุทธศาสนา” มีน้อย หรือ แทบไม่มี บางคนเป็นนักการเมืองชาวพุทธ แต่ “เป็นภัยพุทธศาสนา เป็นภัยต่อคณะสงฆ์” มากกว่าคนต่างศาสนาด้วยซ้ำไป

      การที่ ดร.อุทิส  ศิริวรรณ”  รับอาสาจะเข้าสู่เวทีการเมือง เป็นเรื่องที่สังคมชาวพุทธ “ต้องสนับสนุน”

      การที่  ดร.อุทิส  ศิริวรรณ”  รับอาสาจะเข้าสู่เวทีการเมือง ในทัศนะส่วนตัว ถือว่า “เป็นสิ่งที่ดีงาม” และมีประโยชน์ต่อสถาบันสงฆ์และพุทธศาสนา

      ชาวพุทธหากต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในประเทศนี้  “เวทีการเมือง”  คือ  “กลไกสำคัญ”

      หมดยุค “ทำเอาบุญ” หรือแม้กระทั้งยุค “ทำดีเพื่อให้ได้ดี” หรือ “ปิดทองหลังพระ” แล้ว

      ยุคนี้คือยุค “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”  เป็นยุคแห่ง “ผลประโยชน์ และการต่อรองผลประโยชน์” หรือเป็นยุค “ด้านได้ อายอด “  ล้วน ๆ

     การลงการเมืองของ ดร.อุทิส  ศิริวรรณ”  เป้าหมายคือ การเปลี่ยนแปลงพุ่งไปที่ 3 องค์กรหลักตามประกาศไว้ คือ มหาเถรสมาคม,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและกรมการศาสนา

     ล้วนเป็นเป้าหมายที่ชาวพุทธต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มุ่งทำเพื่อประโยชน์แก่สถาบันสงฆ์และพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

   และทั้งเป็นองค์กรที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยเช่นกันว่า มีไว้เพื่ออะไร??

 

 

    

  

Leave a Reply