เรื่องเล่าชาว โคก หนอง นา แห่งเมืองร้อยเกาะ – ขุนเขาเสียบหมอก “กุ้ยหลินเมืองไทย”

               

 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มักจะเรียกกันด้วยชื่อสั้น ๆ ว่า  “สุราษฎร์”   เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย และมีประชากรหนาแน่นอันดับ 59 ของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง มีจังหวัดที่อยู่ติดกันได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา และระนอง

จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของภาคใต้ โดยมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งที่ราบสูง ภูมิประเทศแบบภูเขา รวมทั้งที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงในบริเวณอ่าวไทย ทั้งบริเวณที่เป็นทะเลและเป็นเกาะ เกาะในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มากถึง 98 เกาะ นับว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองมาจากจังหวัดพังงาที่มี 155 เกาะ และจังหวัดภูเก็ตที่มี 154 เกาะ

         ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 19 อำเภอ 131 ตำบล 1,074 หมู่บ้าน  เท่าที่สังเกตสองข้างทางมีสวนยางพารา ปาล์ม และมะพร้าว เต็มไปหมด  วิถีชีวิตของคนภาคใต้ล้วนใกล้ชิดกับธรรมชาติ หากดูจากบ้านเรือนคนภาคใต้น่าจะมีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนภาคอีสาน อาจเป็นเพราะมีที่ดินและสวนเป็นของตนเอง

         หลังจาก “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ออกจากนครศรีธรรมราชเดินทางไปสู่พื้นที่เป้าหมายคือ อำเภอพุนพิน และอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการอำนวยความสะดวกของ “กรองศักดิ์  โอยสวัสดิ์”  พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ส่ง “พิชัย มณีลาภ”  ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศฯ มาเป็น “ไกด์กิตติมศักดิ์” พาลงพื้นที่พร้อมเปิดเผยข้อมูลโคก หนอง นา ว่า

        จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีครัวเรือนทำโคกหนองนา ทั้งงบปกติและงบเงินกู้ 306 ครัวเรือน ตอนนี้ขุดสระไปแล้วมากกว่า 70% ที่นี่มีปัญหาเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ คือ เรื่องของช่างออกแบบและควบคุมงาน รวมทั้งปัญหาเรื่องดิน บางแปลงมีลักษณะเป็นเนินเขาราบสูง เมื่อขุดลงไปเจอหิน บางแปลงเป็นดินทราย เจอแบบนี้ทั้งเจ้าของแปลง ช่างและรถแมคโคร มาขุดก็หมดกำลังใจ

       “ จังหวัดสุราษฎร์ธานีแม้จะเป็นจังหวัดใหญ่ แต่ผู้คนที่นี่ ส่วนใหญ่มีสวนยางพารา ปาล์มและผลไม้อื่น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นการเข้าร่วมสมัครโคกหนองนาประชาชนจึงให้ความสนใจน้อย เพราะหากจะสมัครต้องโค่นสวนยางพาราหรือสวนปาล์มทิ้ง ซึ่งประชาชนบางรายอาจไม่กล้าเสี่ยง หรือบางคนเมื่อสมัครเข้าร่วมแล้วมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แบบนี้ถอนตัวออกไปก็มีพอสมควร..”

        ทีมงานได้พูดคุยกับชาวบ้านบางรายบอกว่า   กรมการพัฒนาชุมชน อาจต้องยืดหยุ่นเรื่องการขุดสระ สมมติบางพื้นที่เขามีสระอยู่แล้ว แต่หน้าแล้งไม่มีน้ำ เป็นไปได้ไหม เรื่องการขุดบ่อบาดาล หรือ การหาผ้าใบ ในการกักเก็บน้ำใช้หน้าแล้ง หรือสภาพภูมิอากาศบางพื้นที่ขุดไปก็เจอหินเจอดินทรายตรงนี้ จะหาทางออกอย่างไร เพื่อมิให้เงินมันสูญเปล่า หากขุดกักเก็บน้ำไม่อยู่

      “เดือนหน้าอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ท่านจะขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หวังว่าโครงการโคก หนอง นา  จะราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกมันอาจจะติดขัดปัญหานานาประการ แต่ยอมรับว่าโครงการนี้มีประโยชน์กับชาวบ้าน มีประโยชน์กับชุมชน ซึ่งนักการเมืองอาจจะไม่ชอบ เพราะไม่ใช่การสร้างถนน ไม่ใช่การติดตั้งเสาไฟฟ้าหรือสร้างตึกอาคาร อยากให้กำลังใจคนกรมการพัฒนาชุมชน ที่หลาย ๆ ท่านมาดูแลพวกเราตลอดและต่อเนื่อง..”

        คำขวัญประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีคือ  เมืองร้อยเกาะ – เงาะอร่อย -หอยใหญ่ -ไข่แดง -แหล่งธรรมะ  ตลอดสองข้างทางเห็นชาวสวน แม่ค้าพ่อค้านำเงาะและผลไม้ประจำถิ่น วางขายเป็นระยะ ๆ   บ้านเรือนสองข้างทางตั้งอยู่ในสวนใครสวนมัน เหมือนกับชนบทไทยทั่วไปในอดีต ซึ่งดูแล้ว “สงบ ร่มเย็นและสดชื่น” ไม่เหมือนกับเมืองใหญ่ ๆ ที่พลุกพล่าน วุ่นวายและหน้าตาผู้คนที่คร่ำเครียดกับ “การวิ่งหาเงิน”

       “วัชรินทร์ ใจชื่น” ดีกรีนักศึกษาระดับปริญญาเอก ปัจจุบันรับราชการครูสอน กศน.ใช้พื้นที่ 1ไร่เข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา” กับกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งเรียนรู้การออกแบบ “ 1ไร่ 1 แสน”   วัชรินทร์ บอกว่า

        ตรงนี้เดิมเป็นสวนปาล์มแต่ยอมตัดออกเพราะศึกษาแล้วปาล์มเป็นพืชเชิงเดี่ยว ราคาไม่แน่นอน คำนวนแล้วไม่คุ้ม ตอนนี้ทำมาแค่ไม่กี่เดือนเฉพาะรายได้จากการตัดดอกดาวเรืองขายเดือนหนึ่งก็ตก 15,000 -20,000 บาท ซึ่งปลูกไว้ไม่เท่าไร ที่นี่เขารับซื้อดอกละ 1 บาท ถึง 1.50 บาทอยู่ที่ขนาด ไม่พอขายด้วยซ้ำไป

        “หลังจากขุดสระเสร็จก็ลงดอกดาวเรือง ปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา ซึ่งซื้อมาเองทั้งหมด เบิกงบการพัฒนาชุมชนไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้มา ไม่รู้ติดขัดอะไร..”

         เมื่อพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของโคกหนองนา ที่กรมการพัฒนาชุมชนต้องนำไปแก้ไข วัชรินทร์บอกว่า

         อันดับแรกเลยมีความสุขจาก โคกหนองนา และก็ ความภาคภูมิใจ เพราะว่าตัวเองจะได้เป็นต้นแบบให้กับคนอื่น  เลิกงานมาตอนเย็นก็ลงแปลง เมื่อก่อนไปวิ่ง เดี๋ยวนี้ไม่ได้วิ่งแล้ว หันมาออกกำลังกายด้วยการขุดดินปลูกต้นไม้เหงื่อออกมากกว่าวิ่งอีก ได้ให้อาหารปลา นี่คือความสุขที่แท้จริง โดยมีอาหารกินที่ไม่ต้องกลัวว่าไปซื้อจากตลาดจะมีสารพิษเปล่าเพราะเราปลูกเอง เรารู้ว่าอันไหนเป็นยังไง อันดับสองได้เป็นต้นแบบต่อชุมชน ได้เป็นต้นแบบให้กับนักศึกษา แล้วก็ได้เรียนรู้ด้วยตนเองด้วย ที่จะไปถ่ายทอดจะได้เรียนรู้จริง เป็นครูส่วนมากจะค้นคว้าหรือดูคลิปวิดีโอแล้วเอามาถ่ายทอด เรียนรู้ด้วยตนเองแล้วสามารถไปคุยให้ฟังเลย อันนี้คือจุดแข็งที่ตัวเองได้

        “ถ้าผมวิเคราะห์จุดอ่อนโคกหนองนายังไม่มี แต่จุดอ่อนของพื้นที่ที่ทำ ที่จะหมุนเวียนเพื่อไปเป็นตัวอย่าง อันนี้คือเรื่องของหน้าดินที่โดนขุดออกเพื่อเอาไปทำเป็นโคก ทีนี้พอหน้าดินโดนกวาดไปอยู่ข้างล่างเขาก็เอาดินข้างล่างขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นดินที่ไม่มีอินทรียวัตถุต้องพักฟื้นนาน แรกๆก็อาจจะไม่ได้ผล และอีกอย่างก็คือจำนวนปริมาตรดินที่เอาออกมากเพื่อให้สอดคล้องกับการจ้างงาน จ้างแมคโคมาแล้วต้องขุดปริมาตรเท่านี้ๆ มันไม่คุ้มที่เสีย อันนี้คงต้องแก้ ซึ่งรวมถึงการมอบอุปกรณ์ สิ่งของที่ล่าช้า..”

        พิกัดแปลงต่อไป“ไกด์กิตติมศักดิ์” พิชัย มณีลาภ บอกกับทีมงานว่า อยู่อำเภอพนมห่างออกไปประมาณ 70 กิโลเมตร  เป็นแปลงที่ปลูกพืชผสมผสานมากกว่า 300 ชนิด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ไว้หลากหลายมาก อยู่ที่อำเภอพนม ซึ่งมีคำขวัญว่า บัวผุดสวย รวยเขาเสียบหมอก

       “บัวผุดสวย รวยเขาเสียบหมอก” เป็นคำขวัญของ อำเภอพนม ด้วยอำเภอนี้เป็นแหล่งกำเนิดบัวผุดและมีลักษณะเด่นทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน ในเวลาเช้าหรือหลังฝนตกจะมีเมฆหมอกหนาทึบปกคลุมดูเสมือนเป็นดินแดนมหัศจรรย์ ลักษณะที่มองเห็นเด่นชัด ซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายนัก คือ ยอดเขาแหลมสูงเสียดฟ้า ปกคลุมด้วยหมอกขาวโพลน เรียกว่า “เขาเสียบหมอก”  มีทิวทัศน์งามเหมือน “กุ้ยหลิน” ประเทศจีน

       ลักษณะภูมิอากาศตอนเช้าของอำเภอพนมนั้นจะมีอากาศหนาวมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปีคล้ายลักษณะทางภาคเหนือของประเทศไทย

       “กัมปนาท ศักดา” รอต้อนรับและพาชมสวนคณะเราพร้อมกับภรรยา ภายในสวนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้รากไม้ร่วมทั้ง “ต้นกระท่อม” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่   กัมปนาท บอกว่า  ตัวเองมีที่ดินทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งทำโคกหนองนาเพียง 1ไร่ สระขุดให้แล้วน้ำเก็บไม่อยู่เพราะเป็นดินทราย โชคดีมีบ่อบาดาล หากต้องการน้ำเหมือนบ่ออื่น ๆ ก็ต้องปูผ้ายางรองรับ

        สวนนี้ปลูกแบบผสมผสาน ปลูกทุกอย่าง ขายทุกอย่าง หลัก ๆ ตอนนี้ขายตะไคร้หยวก มันอ่อนและนุ่มปลูกไว้ประมาณ 1ไร่กิโลกรัมละ 10 บาท ผักเหลียงปลูกไว้ในร่องยางพารากิโลกรัมละ 60 บาท นอกจากนั้นก็มีข่า ขิง กระชาย ฟ้าละลายโจร มีหมดมากกว่า 300 ชนิด หรือแม้กระทั้งไม้เศรษฐกิจก็ปลูกไว้ ปกติทั่วไปปลูกยาง 1ไร่ได้ประมาณ 75 -80 ต้น แต่ผมลดลงเหลือ 55 ต้น เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจจำพวกยางนา ตะเคียน พะยูง ลงไป หากมันโตขึ้น ใหญ่ขี้นก็มีเห็ดอะไรอีกมากมายตามที่กรมการพัฒนาชุมชนเขาบอก แม้กระทั้งบ่อก็มี 3-4 บ่อ เลี้ยงปลาดุก ปลากินพืชไว้หลายพันตัว ไก่ก็มีพอให้ได้กินไข่มันบ้าง

        “เดิมเป็นนักคอมพิวเตอร์ ตอนหลังออกจากงานก็มาเปิดร้านซ่อม ติดตั้งคอมพิวเตอร์ ตอนนี้ก็ทำอยู่ แต่ชีวิตหลัก ๆ  ก็มาทำงานที่นี่กับภรรยา ซึ่งเดิมก็เป็นพนักงานบริษัท และลาออกมาทำตรงนี้เหมือนกัน การอยู่แบบนี้ความสุขมากกว่าเยอะ รายได้หากคิดคำนวณแล้วมันก็ไม่ได้น้อยไปกว่าตอนเป็นพนักงานบริษัท ชีวิตทุกอย่างอยู่ที่เรากำหนดและเอาจริงกับสิ่งที่เราตั้งเอาไว้..”

         กัมปนาท ศักดา ได้พูดถึงปัญหาที่อยากให้แก้ว่า หนึ่งเรื่องการขุดสระ หากไม่มีน้ำแปลงเป็นขุดบ่อบาดาลได้หรือไม่ เพราะพื้นที่ของตนเองนั้นลึกแค่ 22 เมตร หรือหากขุดแล้วสนับสนุนผ้าใบได้หรือไม่ เนื่องจากที่ดินเป็นดินทราย นอกจากนั้น นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตอนนี้เหมือนเพื่อนคู่คิดและทำงานร่วมกับคนทำโคกหนองนาเป็นไปได้หรือไม่ว่า กรมการพัฒนาชุมชนต้องหาทางต่อสัญญาตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการนี้ เพราะตอนนี้มีหลายหน่วยงานทั้งกรมการปกครอง มหาวิทยาลัย กระทรวงเกษตร จ้างเด็กได้รับเงินเดือนสูงกว่า นพต.มาก แต่งานน้อยกว่า คนเหล่านี้ตอนนี้ช่วยงานข้าราชการให้กรมการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดีเลย  อยากฝากปัญหาเหล่านี้ให้ผู้บริหารไปพิจารณา

        การลงพื้นที่ตามนโยบายของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อไปสำรวจดูแปลงโคกหนองนาว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ประชาชนคิดเห็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ระดับนโยบายจะต้องส่งเสริมและแก้ไข ในเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างราบรื่น เพื่อความอยู่ดี กินดี และ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ตามปณิธานของกระทรวงมหาดไทยต่อไป

       สิ่งหนึ่งที่เจอเกือบทุกพื้นที่ของจังหวัดต่าง ๆ คือ การตื่นตัวของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนกระตือรือร้นเอาใจใส่กับประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างดี ซึ่งปัญหาที่เจอส่วนใหญ่มักเกิดจากระดับนโยบายที่ต้องแก้ไข เช่น ารออกแบบติดขัด,ช่างที่ไม่เพียงพอ,ปัญหาที่ดิน,การขุดที่ในบางพื้นที่ผู้รับเหมาล่าช้า,หรือแม้กระทั้ง อุปกรณ์ ต้นไม้ เจ้าของแปลงทำเรื่องไปนานแล้ว แต่สิ่งของยังไม่ได้ รวมทั้งบางพื้นที่ “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ในพื้นที่ไม่ค่อยเอาใจใส่  ดังนี้เป็นต้น แต่สำหรับประชาชนทุกแปลงที่ลงไปพูดคุยเสียงตอบรับเชิงบวกทุกรายไป ตอบในทำนองเดียวกันว่า โคก หนอง นา คือ “ทางรอด มิใช่ทางเลือก”

        การลงพื้นที่ภาคใต้ของทีมข่าวเฉพาะกิจ เดิมตั้งเป้าไว้ 3 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร ซึ่งก่อนลงพื้นที่ทีมงานได้ประสานผ่านฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมการพัฒนาชุมชนเรียบร้อยแล้วในการขอความอนุเคราะห์แจ้งพัฒนาการของแต่ละจังหวัด แต่จังหวัดชุมพร ซึ่งทีมงานได้ประสานพัฒนาการจังหวัดชุมพรเรียบร้อย ท่านรับปากไว้ว่าจะให้เจ้าหน้าที่พาไปดูแปลง แต่สุดท้ายทีมงานพยายามติดต่อพัฒนาการจังหวัดชุมพรทั้งโทรศัพท์และไลน์

        ปลายทาง “ไร้เสียงตอบรับ”  จึงเดินทางกลับ!!

 

 

 

Leave a Reply