“มจร”ยกระดับเข้มป้องกันโควิด วันประสาทปริญญา 12-13 ธ.ค.นี้

อธิการบดีประกาศความมั่นใจในงานสัมมนาทางวิชาการ ยันเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาอันดับหนึ่งของโลก ที่มีจุดแข็งที่สุดบริการวิชาการและสังคมเชิงป้องกันแก้ไขเยียวยาทางสังคม สามารถปรับตัวพัฒนาบทบาทสู่การสร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 พระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสงานพิธีประสาทปริญญาบัตรประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2563 โดยกล่าวย้ำว่า ถ้าไม่ได้เข้ามาศึกษา คงไม่มีโอกาส การศึกษาจึงทำให้มีโอกาส จึงแสดงยินดีกับนิสิตทุกระดับชั้น

ขณะที่พระราชปริยัติกวี ศาสตราจารย์,ศ.ดร., อธิการบดี มจร ได้กล่าวปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ บทบาทของมหาจุฬากับการพัฒนาจิตใจและสังคม กล่าวสาระสำคัญว่า ในนามมหาวิทยาลัยขอแสดงมุทิตาจิตกับความสำเร็จของทุกท่าน มหาจุฬามีการบริการวิขาการโดยมีการสืบสาน รักษา ต่อยอด มา 133 ปี มีการบริการวิชาการและสังคมทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยมหาจุฬามีบทบาท

1) บทบาทการจัดศึกษาพัฒนาพระสงฆ์ไทยในต่างประเทศและต่างประเทศ โดยนิสิตของ มจร ประมาณ 20,000 รูป/คน ซึ่งมหาจุฬาจัดการศึกษาให้กับพระสงฆ์ เพื่อการบริหารงานคณะสงฆ์มีความง่ายขึ้น สามารถทันสถานการณ์ ฝ่ายบ้านเมืองจึงร่วมมือกับทางคณะสงฆ์ โดยให้มหาจุฬาฯช่วยดำเนินการทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนสู่สังคมให้เกิดสันติสุข มหาจุฬาจึงจัดการศึกษาให้กับพระสงฆ์ได้เป็นอย่างดีในระดับอุดมศึกษา มหาจุฬาฯจึงมีบทบาทให้การศึกษา คณะสงฆ์เข้ามาศึกษาเพื่อนำไปบริหารยุคใหม่เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์ โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินทางพระพุทธศาสนาให้เกิดคุณค่าและมูลค่า ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้วัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาวัฒนธรรม ชาวบ้านประกอบอาชีพสุจริต

2) บทบาทการพัฒนาศักยภาพมนุษย์พัฒนาขีดความสามารถ จนนำไปสู่ 1)สชาติกปัญญา ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด 2)วิปัสสนาปัญญา ปัญญารู้แจ้งด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เข้าใจโลกเข้าใจธรรม 3)ปาริหาริกปัญญา ปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์การทำงาน ความรู้ทางวิชาการ สามารถบริหารตนเองได้ มหาจุฬาฯพัฒนาด้านวิปัสสนาปัญญาตามแนวสติปัฏฐาน 4 เดินตามกรอบไตรสิกขา จึงต้องพัฒนาปัญญาของตนเอง โดยมหาจุฬาพัฒนาปัญญาด้วยวิปัสสนากรรมฐาน จึงต้องพัฒนาสชาติกปัญญาให้เจริญงอกงามซึ่งอยู่ภายใน จะจบปริญญาขั้นใดแต่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้จะไร้ค่า จะต้องสามารถควบคุมตนเองได้ จึงต้องพัฒนาวิปัสสนาปัญญา เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ ผู้สร้างสิ่งต่างๆได้จะต้องมีอภิญญา ในการทดลองนักวิทยาศาสตร์ จะเกิดจากสมาธิจิตขั้นสูง ถือว่าเป็นอภิญญา เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะตามรูปแบบใดก็ตาม ถือว่าเป็นความหยั่งเห็น มหาจุฬาจึงให้ 3 ระดับ คือ ข้อมูล ความรู้ ปัญญา และพัฒนาต่อยอดต่อไป มหาจุฬาจึงนำนิสิตไปพัฒนาด้านวิปัสสนากรรมฐานเพื่อนำไป

3) บทบาทการวางรากฐานคุณธรรมให้เยาวชนสร้างคุณภาพชีวิตคนในสังคม ประกอบด้วย นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ พระสอนศีลธรรม พระบัณฑิตอาสา สามเณรภาคฤดูร้อน ค่ายพุทธบุตร วิปัสสนากรรมฐาน ขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธ ถือว่าเป็นจุดแข็งของมหาจุฬาในการออกไปบริการสังคม ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของมหาจุฬาที่ปฏิบัติมาอย่างยาวนาน มีการทำงานกับเครือข่ายภายนอกจำนวนมาก เช่น สสส. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมในเชิงป้องกันและเชิงแก้ไข โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคม ครูพระสอนศีลธรรมพัฒนาเยาวชนทั่วประเทศมีการขยายไปถึงระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

4) บทบาทการธำรงพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นคงคู่กับสังคมไทย การบริหารกิจการคณะสงฆ์จึงมีความสำคัญ แนวโน้มศาสนาในอนาคต คือ ศาสนาใหม่ มี 2 รูปแบบ คือ 1)พัฒนาต่อยอดที่เรามีศาสนาในปัจจุบัน คือ รูปแบบมหาจุฬาฯใช้ โดยใช้ภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยงาน 2) เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะมีการรวบรวมพฤติกรรมจริต สามารถตรวจสอบได้ผ่านสมาร์ทโฟน เราจะเห็นเจ้าลัทธิศาสนาผ่าน AI มหาจุฬาฯจะมีส่วนอย่างไร? ในการพัฒนาผ่านภูมิปัญญา เป็นทรัพย์สินทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ศาสนบุคคล ศาสนธรรม ศาสนวัตถุสถาน ศาสนพิธี อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาล้มสลายเพราะจัดการศึกษาด้านปริยัติอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าเรียนปริยัติอย่างเดียวสามารถละกิเลสได้ จึงศึกษาเพียงปริยัติ แต่มหาจุฬาฯ มุ่งศึกษา 3 ด้าน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ MCU จึงมุ่งเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว : Green University วิทยาลัยเขตวิทยาลัยสงฆ์ห้องเรียนจะต้องพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว

5) บทบาทด้านพระพุทธศาสนาในระดับโลก ท่านอธิการบดีมหาจุฬาย้ำว่า มหาจุฬาฯ เป็นพระพุทธศาสนาอันดับหนึ่งของโลก เพราะเราสร้าง มจร ไม่ใช่เพื่อมหาจุฬา แต่เราสร้างมหาจุฬาเพื่อชาวโลก เราจึงเป็นที่พึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก จึงขอให้กำลังใจทุกท่านพร้อมแสดงแสดงความยินดีกับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฏีบัณฑิต ทุกรูปท่าน

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทาง มหาวิทยาลัยแจกหน้ากากอนามัยให้บัณฑิตทุกระดับในพิธีประสาทปริญญา และจะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกรูป/คน รวมถึงทุกคนที่เข้ามาในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัย

– มีเครื่องสแกนตรวจวัดอุณหภูมิทุกจุดคัดกรอง รวมทั้งสิ้น 5 เครื่อง บริเวณทั้งภายในมหาวิทยาลัยและก่อนเข้าห้องประชุม อุณหภูมิต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียสเท่านั้น

– มีเจลแอลกอฮอลล์ล้างมืออยู่ทั่วทุกบริเวณมหาวิทยาลัย

– จัดที่นั่งให้เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตรในพิธีประสาทปริญญาเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า

– มีการทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ที่นั่งราวบันไดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออยู่ตลอดทั้งวัน

– มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งก่อนและหลังการใช้พื้นที่บริเวณอาหารหอประชุมที่จัดพิธีทุกวัน

– บุคคลที่มาจากพื้นที่สุ่มเสี่ยง แยกคัดกรองเป็นพิเศษ

– มีสบู่ล้างมือในห้องน้ำทุกจุด

– ติดQR Code ไทยชนะ สำหรับสแกนคัดกรองลงทะเบียนการเข้าภายในมหาวิทยาลัยและหอประชุม

– ประชาสัมพันธ์ ข้อปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วมหาวิทยาลัย

– รถรางสำหรับให้บริการ มีการเว้นระยะห่างของที่นั่ง

– ปิดประตูทุกบานให้มีทางเข้า- ออก ทางเดียวเพื่อการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

Leave a Reply