จึงพัฒนาบุคลากรและนิสิต มุ่งพัฒนาขันธ์ 5 ตามกรอบไตรสิกขา ท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนคลุมเครือของสังคม
วันที่ 10 ธันวาคม 2563 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร.อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์การฝึกวิปัสสนากรรมฐานนานาชาติ เปิดเผยว่า พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. อธิการบดี มจร ได้บริหารมหาวิทยาลัยในสถานการณ์ของโควิดซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนคลุมเครือ ในสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมโลก
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเเข็งและเป็นเสน่ห์คือ นโยบายของการให้บุคลากรทุกส่วนงานของมหาจุฬาได้สวดมนต์และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทุกวันจันทร์ของเดือน เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจเพื่อให้งานที่ทำมีความสมบูรณ์ เป็นภาพที่งดงามยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยไม่ได้เน้นเฉพาะบุคลากรมหาจุฬาแต่ยังมีนโยบายไปถึงนิสิตระดับตรี โท เอก ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นิสิตหลายท่านสะท้อนสิ่งที่ได้มากที่สุดจากมหาจุฬาคือ วิชาวิปัสสนากรรมฐาน เพราะเป็นวิชาที่ทำให้รู้จักตนเองมากที่สุด
ทั้งนี้พระราชปริยัติกวี ได้บรรยายเกี่ยวกับการศึกษาพัฒนาขันธ์ 5 ที่ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ช่วงของการปฏิบัติธรรมประจำปี 2563 ตอนสำคัญว่า การศึกษาทางพระพุทธศาสนาจะต้องผ่านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เราจึงต้องตอบคำถามของตนเอง 3 ประการ คือ ขันธ์ 5 คืออะไร ด้วยการศึกษาถึงเวทนากำหนดรู้เท่าทันกับความเจ็บปวดของรูปนาม ขันธ์ 5 เป็นอย่างไร ด้วยศึกษาตามกฏของไตรลักษณ์เป็นธรรมพื้นฐาน ขันธ์ 5 ควรดำเนินเป็นไปอย่างไร ด้วยการศึกษาตามปฏิจจสมุปบาท เราจึงใช้คำว่า สติเป็นฐาน โดยมีความเชื่อมโยงกับสติปัฏฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความหมายเดียวกัน การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์ 5 ด้วยการใช้ไตรสิกขา โดยขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนจะต้องใช้ปัญญา
โดยปัญญาทางพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ 1)ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทุกคนมีอยู่แล้ว 2)ปัญญาในการรักษาตนเอง ปัญญาในการประกอบอาชีพ 3)ปัญญาด้วยการเห็นแจ้งด้วยวิปัสสนากรรมฐานโดยใช้ไตรสิกขาเป็นเครื่องมือ มีกรอบใหญ่เป็นสติปัฏฐาน ในการพัฒนานั้นจะต้องอาศัยหลักสัปปายะทั้ง 7 เช่น สถานที่สะดวก อาหารที่เอื้อเกื้อกูล บุคคลเป็นกัลยาณมิตร การถ่ายทอดสื่อสารเป็นวจีสุจริต อากาศเย็นสบาย จะเข้ากับหลักมหาสติปัฏฐานสูตร แม้ทุกศาสนาก็มีวิธีการพัฒนามาจากภายในแต่วิธีแตกต่างกัน เวลาปฏิบัติเป็นธรรมดาของคนที่มีสักกายทิฏฐิจะเกิดขึ้น คือ 1) เอตํ มม แปลว่า นั่นของเรา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกขณะจิต ขนาดไม่เป็นของเรายังบอกว่า นั่นของเรา 2) เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั่น เรื่องตำแหน่งต่างๆ ความอยากจะเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ 3) เอโส เม อตฺต นั่นอัตตาของเรา ซึ่งสักกายทิฏฐิถ้าคลายไม่ได้ชีวิตจะพังเพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ
การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์ 5 ตามแนวทางของไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แม้โลกธรรมจะเกิดขึ้นกับเราอย่างไรก็ตาม จึงต้องรู้เท่าทันผ่านการพัฒนาของตนเอง แม้โลกจะพัฒนาก้าวไกลถึงระดับปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่การพัฒนาด้านจิตใจยิ่งต้องพัฒนาให้มากเท่านั้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถือว่าเป็นการฝึดหัดขัดเกลาตนเอง บริหารจิตเจริญปัญญาพัฒนาตนเอง เป็นวิธีการยอดเยี่ยมถือว่าเป็นหนึ่งเดียวของหลักการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เป็นคนชาติไหน เมื่อจะฝึกหัดขัดเกลาพัฒนาตนเองให้มีความเจริญทางด้านร่างกายและจิตใจ จะใช้หลักกรรมฐานทั้งนั้น เพียงแต่รูปแบบของการปฏิบัติมีความแตกต่างออกไป บางศาสนาอาจจะใช้วิธีการนั่ง การเดิน การนอน สวดมนต์ นั่งดูลมหายใจ หรือมีการทำกิจกรรมร่วมกัน แต่มีเป้าหมายคือพัฒนาจิตใจ ขั้นตอนของการพัฒนาจิตใจเริ่มจากการทำสติให้มีความเข้มแข็ง สติเป็นจุดเริ่มต้นของคุณงามความดี เริ่มจากสติจบด้วยอนุปาทาปรินิพพาน มีเส้นทางที่ชัดเจน บางศาสนาไม่ได้ไปถึงนิพพานแต่มีเป้าหมายให้ตนเองมีความเข้มแข็ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ในสังคมปัจจุบันการบริหารจิตเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อเป้าหมาย
1) การทำตนเองให้จิตนิ่งมั่นคง เพื่อปัญญาความรู้จากการศึกษา เพราะเมื่อจิตนิ่งจะสามารถใช้ปัญญาได้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะวิทยาการใหม่ๆ อยู่รูปของเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งอำนวยความสะดวกมีเพียงพอ คนที่ได้เปรียบเป็นคนที่มีจิตนิ่งด้วยการสามารถไปรวบเอาสิ่งต่างๆ มาสร้างนวัตกรรม บุคคลที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ เกิดจากการมีจิตใจนิ่งมีความมั่นคง มีการครุ่นคิดใช้โยนิโสมนสิการ กรรมฐานโดยความหมายคือ กิจกรรมหรือการทำงานที่เป็นฐานแห่งการบรรลุผลที่วิเศษเรียกว่ากรรมฐาน
2) ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรจะมาทำงานแทนมนุษย์ในอนาคตนี้โดยจะมีความฉลาดกว่ามนุษย์ แต่ AI ไม่ใช่มนุษย์ แต่จะฉลาดกว่ามนุษย์ วิธีเดียวที่มนุษย์จะฉลาดได้คือ กลับมาดูตนเองจะสามารถสู้กับปัญญาประดิษฐ์ได้ หุ่นยนต์ไม่มีมโนทัศน์ ฉลาดได้โดยอาศัยข้อมูลที่มนุษย์ป้อนเข้าไป มนุษย์เป็นผู้ควบคุม แต่การป้อนข้อมูลจะบอกเชิงบวกหรือเชิงลบ เป็นเรื่องที่น่ากลัว กรรมฐานจะช่วยควบคุมทัศนคติให้เป็นสัมมาทิฐิตลอดเวลา ฉลาดแต่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์สังคมโลก กรรมฐานจะมีประโยชน์มาก หรืออาจจะมีคนใส่ข้อมูลเชิงทำลายล้างเข้าไป คนที่มีสัมมาทิฐิมีวิธีการในการบริหารควบคุมทิศทางด้วยอาศัยกรรมฐาน
3) การดำเนินชีวิต เพื่อโลกิยะวิสัย หลักกรรมฐานเท่านั้นจะช่วยให้มนุษย์มีกิเลสที่เบาบางพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย จนบรรลุเป็นอรหันต์
พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น นโยบายด้านกรรมฐานของท่านอธิการบดีมหาจุฬาฯ ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรแม้จะมีภาระงานที่มากมาย จะต้องกลับมาพัฒนาภายในตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนิสิตของมหาจุฬาทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศทุกนิกาย แม้สถานการณ์ของสังคมจะมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ ยิ่งจะต้องปฏิบัติพัฒนาตนไม่ให้ออกนอกเส้นทาง จึงขอชื่นชมนโยบายกรรมฐานถือว่าเป็นจุดแข็งของมหาจุฬาสู่การปฏิบัติเพื่อเกิดความยั่งยืนต่อไป
Leave a Reply