ปลัดกระทรวงมหาดไทยนำข้าราชการวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ ร.6เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 

วันที่ 25 พ.ย. 65 เวลา 08.00 น. ณ พระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย วางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 25 พฤศจิกายน 2565

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่พสกนิกรชาวไทยจะขานพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2424 โดยทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 รวมพระชนมพรรษา 44 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวมระยะเวลา 15 ปี

 “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ วรรณกรรมและอักษรศาสตร์ โดยทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้รวมกว่าพันเรื่อง โดยทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” อันหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นปราชญ์ เป็นพระราชสมัญญาที่ ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในด้านการวางรากฐานระบบราชการไทย โดยทรงสถาปนา “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา กองเสือป่า ขึ้น โดยพระองค์เองเป็นผู้บัญชาการ เพื่อให้พลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในราชสำนักได้มีโอกาสฝึกหัดระเบียบวินัย มีการบังคับบัญชาเป็นหมู่เหล่าเช่นเดียวกับทหาร เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะมีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกทั้งมีพระราชดำริในด้านการสาธารณสุข โดยให้จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า พระราชกรณียกิจที่สำคัญและเป็นการริเริ่มวางรากฐานด้านการเมืองการปกครองของประเทศจวบจนถึงปัจจุบัน คือ ทรงริเริ่มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้น โดยทรงโปรดให้จัดตั้ง “ดุสิตธานี” ภายในบริเวณพระราชวังดุสิต ขึ้นในปี 2461 เพื่อเป็นแบบทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล ซึ่งภายในดุสิตธานี ได้มีการจำลองรูปแบบการปกครองและสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน อาทิ ที่ทำการรัฐบาล บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน สถานที่ราชการ โรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน และทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลได้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

 “สำหรับ “สวนลุมพินี” เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานครอันเป็นอนุสรณ์หวนรำลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2468 ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทรงพระราชดำริให้จัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ เฉกเช่นประเทศตะวันตกที่ได้ทำได้ผลมาแล้ว โดยกำหนดจัดในฤดูหนาวปลายปี 2468 และมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเลิกการจัดงานแล้ว ให้จัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ซึ่งภายในมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก และพระราชทานชื่อว่า “สวนลุมพินี” หมายถึง สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่แล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคตก่อนกำหนดเปิดงาน  จึงไม่ได้จัดงานดังกล่าว จนกระทั่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงเป็นพระอนุชาธิราชเจ้า ทรงสานต่อการทำเป็นสวนสาธารณะจนแล้วเสร็จ และในปี 2485 ได้มีการจัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้น ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้พระราชทานกำเนิดสวนลุมพินี” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ทรงมีคุณูปการอันเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรชาวไทยตราบจนถึงปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันตั้งจิตเป็นกุศล ประกอบคุณงามความดี เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 25 พฤศจิกายน 2565 โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (1 มกราคม พ.ศ. 2424 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2424 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 32 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ปีฉลู รวมพระชนมพรรษา 44 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

Leave a Reply