“สมเด็จพระมหาธีราจารย์” เปิดอบรมพระธรรมทูต ยก พระราโชบายในหลวงให้ “พระเป็นหลักทางใจของประชาชน” ปีนี้มีผู้อบรม 118 รูป จบแล้วประจำทั่วโลกกว่า 500 วัด

วันอังคารที่ 19  มีนาคม2567 เวลา 14.00 น. ณ อาคาร มวก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ในฐานะประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่30 โดยมี พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม รองประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รูปที่ 1 พระธรรมวชิรโมลี รองประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รูปที่ 2  พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ  เป็นต้น พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้แทนองค์กรพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ผู้เข้ารับการอบรมพระธรรมทูต รุ่นที่ 30  จำนวน จำนวน 118 รูป และตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ  ถวายการต้อนรับ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์  ได้ให้โอวาทตอนหนึ่งว่า  งานพระธรรมทูตนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นงานที่ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ความเสียสละ และความหนักแน่นอดทน เพราะเป็นงานที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจในความหลากหลายของกฎหมาย วัฒนธรรม จารีต ประเพณี แต่ถึงอย่างไร เราต้องตระหนักในพระธรรมวินัยเป็นที่สุด สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานพระราโชบายไว้เป็นแนวทางการดำเนินงานของคณะสงฆ์ว่า

“พัฒนาความรู้ และคุณภาพพระสงฆ์ ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระมีความสำนึก และเป็นประโยชน์ในสังคมไทย  พระราโชบายนี้ เป็นคติเตือนใจที่สำคัญมาก เพราะการที่ท่านทั้งหลาย มีอุตสาหะเข้ารับการอบรมแล้ว จักต้องประพฤติตนในพระธรรมวินัยให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนปณิธานและความเพียรอันแน่วแน่ ที่จะพัฒนาตน พัฒนาความรู้ พัฒนาจิตใจ ให้สมดุล ซึ่ง มหาเถรสมาคม สนองพระราโชบาย ให้ความสำคัญกับงานพระธรรมทูต ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้พระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาอารยประเทศเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่มหาชนในประเทศนั้น ๆ ตามพระพุทธประสงค์ตามพระธรรมวินัย และตามหลักของบุรพาจารย์ในโอกาสนี้ ขอปรารถสารัตถธรรมถวายคำแนะนำแนวทางในการเข้ารับการอบรมนั้น เราทั้งหลายพึงตระหนักในพระพุทธพจน์ บทที่ว่า “สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร พึงสำรวมในที่ทั้งปวง เป็นดี” และ “ธมฺมํ จเร สุจริตํ พึงทำดีให้สุจริต” ทำให้เหมาะ ทำให้ดี ทำให้ถูกต้อง  พระพุทธศาสนานั้น เป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้บุคคลจัดการวิถีชีวิตของตนอย่างสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติให้มากที่สุดการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จัดเป็นอุปนิสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยของพระธรรมทูต เพราะการฝึกอบรมนั้นต้องเจริญพระกัมมัฏฐาน รักษาเสนาสนะ สมณบริขาร สถานที่ที่เกื้อกูลต่อการเจริญสมณธรรม เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงความรู้ และความสงบสุขทางใจ.”

ด้าน พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐษนะประธานคณะกรรมการอำนวยการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิพร รัตนสุวรรณ และองค์กรพระธรรมทูตไทยในประเทศต่าง ๆ ได้จัดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้น จำนวน 29 รุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538  จนถึงปัจจุบัน ภายใต้การกำกับของสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ มีผู้ผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 2,481 เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ออกไปปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่ทั่วโลก

“ในปี พ.ศ. 2567  นี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้อนุมัติโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 30  และได้มีประกาศมหาวิทยาลัยฯ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นที่ ๓๐มีกำหนดการอบรม ระหว่างวันที่ 11  มีนาคม ถึง วันที่  8  มิถุนายน    2567 ”

ต่อจากนั้น พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการอบรมพระธรรมทูต ได้เบิกตัวผู้บริจาคเข้าร่วมโครงการอบรมพระธรรมทูตอาทิ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดละ 1 ล้านบาท พระราชวชิรธรรมวิเทศ 1 แสนบาท บาท คณะสงฆ์จีน 150,000 บาท วัดไทยลุมพินีและวัดไทยเชตวันวัดละ 1 แสนบาท มุลนิธิโพธิวัณณา 1 แสนบาท คุณพิชญาภา จันทนารัตน์ 500,000 บาทเป็นต้น

พระสุธีวชิรปฎิภาณ หรือ “เจ้าคุณวีรพล” ปัจฉาสมณะ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เปิดเผยว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ดึงคณะสงฆ์ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมพระธรรมทูต แล้วส่งไปเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศตามวัดที่ได้สร้างเอาไว้  ทั้งสายหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง สายวัดพระธรรมกาย เพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและ ทำงานร่วมกันด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างมีเอกภาพ

“ปัจจุบันวัดไทยในต่างประเทศในส่วนของฝ่ายมหานิกายมีทั้งสิ้น 512 วัด โดยแบ่งออกเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา 123 วัด, ทวีปยุโรป 118 วัด,วัดไทยสายอินเดีย -เนปาล 41 วัด ,สหราชอาณาจักรและไอแลนด์ 28 วัด ในกลุ่มประเทศโอเซียเนีย 23 วัด,ประเทศญี่ปุ่น 23 วัด,ในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย -แอฟริกา 17 วัด,ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก 9 วัด,เขตบริหารพิเศษฮ่องกง 7 วัด,ประเทศมาเลเซียมีวัด 91 วัด สำนักสงฆ์ 15 แห่ง และวัดไทยในสหพันธรัฐเซียอีก 1 แห่ง ร่วมทั้งหมด 512 วัด..”

 

 

Leave a Reply