เปิด!! นานาทัศนะ “ศาสนาพุทธ”ในญี่ปุ่น ด้าน “ผอ.วิทยาลัยพระธรรมทูต” ระบุคนรุ่นใหม่ญี่ปุ่น 70% ไม่นับถือศาสนาถือเป็นความท้าทายบทบาทพระสงฆ์

วันที่ 13  กรกฏาคม 2567  วานนี้เวลา 13.30 น. ณ อาคาร 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย วัดพระเชตุพน นาริตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น มีการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ศาสนสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำศาสนาในประเทศญี่ปุ่น” การนี้พระครูสุตรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยพระธรรมทูต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้แทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร เดินทางไปประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567  โดยมีพระราชรัชวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา พระญาณวชิรวงศ์ เลขานุการประธานสำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ, เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน นาริตะ เป็นประธานอำนวยการจัดงาน พร้อมกันนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมเดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

พระราชรัชวิเทศ ประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น กล่าวเปิดงานมีใจความสำคัญว่า ขอชื่นชมพระธรรมทูตไทยทำงานด้วยความเสียสละ ย้ำการเผยแผ่ต่างแดนผู้นำศาสนาต้องยึดพระวินัย ยึดหลักการ ความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมจริยา จะเป็นพื้นฐานสำคัญทำให้พระธรรมเทศนาในกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความเข้าถึงเข้าใจ ถือเป็นการสื่อธรรมสร้างความเข้าใจ การเคารพในความแตกต่าง แต่ร่วมมือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ด้าน พระครูสุตรัตนบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัยธรรมทูต มจร กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในญี่ปุ่น กลไกและโครงสร้างที่ส่งเสริมศาสนสัมพันธ์ในญี่ปุ่น ทั้งการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนา (​Japan Religious League) การจัดตั้งสหพันธ์องค์กรศาสนาใหม่ของญี่ปุ่น และสภาศาสนาแห่งญี่ปุ่น อาจถือเป็นการส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างศาสนาต่าง ๆ ในญี่ปุ่น จึงเห็นภาพตัวอย่างของการจัดการประชุมประจำปีระหว่างผู้นำศาสนาต่าง ๆ การดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติร่วมกัน เช่น หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 และตัวอย่างการจัดสัมมนาและการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาร่วมกัน

นอกจากนี้ การรับรองเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โรงเรียนรัฐบาลในญี่ปุ่นไม่สามารถจัดการเรียนการสอนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ รัฐบาลไม่สามารถให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรศาสนาใด ๆ โดยตรง ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใด ๆ ส่วนนี้ทำให้เห็นบรรยากาศของความเท่าเทียม และลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับศาสนา เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ

“ความท้าทายของศาสนาในยุคปัจจุบัน คือ การลดลงด้านความเชื่อทางศาสนาในหมู่คนรุ่นใหม่ การสำรวจในปี 2018 พบว่า 70% ของคนญี่ปุ่นอายุ 20-29 ปี ไม่นับถือศาสนาใด สาเหตุอาจมาจากการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมบริโภคนิยม ความไม่เชื่อมั่นในสถาบันศาสนา คำถามสำคัญ ไทยและญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบ คือ ขาดศาสนทายาท ขาดผู้สืบทอดประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา และความเข้าใจระหว่างศาสนาลดลง..”

ขณะที่ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีภารกิจ และหน้าที่รับผิดชอบ สนับสนุนและส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความยินดีในการรับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต่อจากนั้นมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น โดยมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ  ร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น

พระมิซึทานิ เอคัง เจ้าอาวาสวัดเซนมะซัง ชินโชจิ โยโกฮาม่า  กล่าวว่า บทบาทของผู้นำศาสนา เป็นกลไกในการบริหารความเชื่อ ความเห็นต่าง การสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนาในสังคมญี่ปุ่น เน้นการสื่อสาร ความร่วมมือ และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

พระบานะคะละ อุปติสสะ สมเด็จพระสังฆนายกศรีลังกาแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น 48 ปี การศึกษาภาษา และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพื่อสร้างสัมพันธ์ทางศาสนา ทั้งนี้เพื่อแนะนำสมาธิให้กับชาวญี่ปุ่น การทำงานต้องทำงานเป็นทีมเป็นหมู่คณะ

พระมหาสิงหา ไข่อำพร ป.ธ. 9 หัวหน้าสมณทูต สปป.ลาว ประจำญี่ปุ่น กล่าวถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่จำกัดกาลทันสมัยอยู่เสมอ พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

คุณทาเคดะ อะคิโยะ ประธานชมรมสายสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น กล่าวสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดการความขัดแย้งทางศาสนาในสังคมโลก ผู้นำศาสนาหรือศาสนา ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างองค์กรศาสนา หรือระหว่างองค์กรศาสนากับชุมชน ทำให้เกิดสันติภาพ การส่งเสริมการเสวนาระหว่างศาสนา จึงเป็นการสร้างช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างชุมชนศาสนาต่าง ๆ เพื่อร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสังคม ลดความขัดแย้งผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าความแตกต่างทางศาสนา นอกจากนี้การส่งเสริมการศึกษาข้ามวัฒนธรรม โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างศาสนา การจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้เรียนรู้และเข้าร่วมพิธีกรรมของต่างศาสนา เป็นการสร้างความเข้าใจและลดอคติระหว่างศาสนาในคนรุ่นใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

คุณมณีฉาย ภัทรนาวิก ประธานที่ปรึกษาสมาคมพุทธรักษา กล่าวว่า สมาคมพุทธรักษา เป็นองค์การกุศล จัดตั้งขึ้นในปี พุทธศักราช 2549 เพื่อส่งเสริมการทำความดีให้กับสังคมสาธารณะ โดยในปี 2566 ได้ดำเนินการโครงการมอบทุน เปิดโอกาสให้เยาวชนชาวญี่ปุ่นผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ความดีพื้นฐานของมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และการฝึกสมาธิ

ขณะที่เช้าวันนี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์  ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ พระพรหมเสนาบดี รองประธาน,พมพระธรรมโพธิวงศ์  หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย เนปาล ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมในงานดังด้วยเช่นกัน

Leave a Reply