ว่าด้วย “ตำรวจพระ”

จากกรณีมีข่าว “หลวงพี่น้ำฝน” วัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม จับกุมพระภิกษุที่เริ่ยไรเงินและอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จนถูกสึกออกไป  ตอนหลังมีข่าวว่า กลับมา “ห่มจีวรใหม่” อีกครั้ง  ต่อมา พระธรรมวชิรานุวัตร หรือ “เจ้าคุณแย้ม”  เจ้าคณะภาค 14 ไปเปิดสัมนาว่าด้วยพระวินยาธิการพร้อมมอบบัตรประจำตัวให้ หรือก่อนหน้านั่น พระเทพเวที “เจ้าคุณพล” เจ้าคณะภาค 6 ก็ไปเปิดศูนย์พระวินยาธิการ จังหวัดเชียงราย โดยมี กอ.รมน. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น เข้าร่วม

หลังเสนอข่าวออกไป มีชาวพุทธจำนวนมากยังไม่ทราบว่า “พระวินยาธิการ” หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า  “ตำรวจพระ” เกิดแล้ว โดยเฉพาะกรณี “หลวงพี่น้ำฝน”  มีคนพูดถึงท่านค่อนข้างมาก เพราะบทบาทของท่านประเภท “ถึงลูกถึงคน” คล้าย ๆ กับในอดีต ตำนวนพระวินยาธิการ สิงห์เหนือเสือใต้ “มหาเสวย-มหาอดุลย์”  เมื่อ “อลัชชี-พระนอกรีต” แค่ได้ยินชื่อ “เยี่ยวหด ตดหาย” โดยเฉพาะจำพวกบิณฑบาตล่วงเลยเวลาที่กำหนดไว้คือ ประมาณ  08.00 น. หรือจำพวกเช่าบ้าน หรือ ยืนอยู่กับที่  ประเภทนี้ถูกจับสึกหมด บางกรณีไล่จับจีวรปลิว!!

พระภิกษุที่ทุ่มเททำงานปราบปรามพระนอกรีตประเภทบู้ดุเดือดแบบ “พระมหาเสวย พระมหาอดุลย์” หรือแม้กระทั้ง “หลวงพี่น้ำฝน” เดียวนี้หายาก กลัวโยมมองว่า “ไม่เหมาะสม” ความเป็นสมณเพศ

ซ้ำเมื่อเห็นภาพของ “หลวงพี่น้ำฝน” เป็นพระวินยาธิการ โดยตำแหน่งของท่านคือ ประธานคณะทำงานดำเนินการแก้ไขข้อขัดข้อง ระงับเหตุ และแก้ไขปัญหาอธิกรณ์ข้อร้องเรียนในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 14  มีทั้งพระภิกษุและฆราวาสบางคน พูดเชิงทำนองแหนะกระแหน เนื่องจากภาพของท่านเป็น “พระสายมู” มองว่าไม่เคร่งครัด ประพฤติไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณะ ทั้ง ๆที่ หลวงพี่น้ำฝน  อีกด้านหนึ่งท่านเป็น “พระนักพัฒนา -สังคมสงเคราะห์” ตัวยง หากตัวจับยาก รูปหนึ่งในสังคมไทย

และหากจะว่าตำแหน่งของ “หลวงพี่น้ำฝน”  เมื่อเทียบกับตำแหน่งทาง “ตำรวจภูธร” ก็เสมือน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 อย่างไรอย่างนั้น เพราะคุมถึง 4 จังหวัดคือ นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ต่างกันนิดเดียวคือ “ตำรวจภาคภูธร 7” กินพื้นที่จังหวัดมากกว่าเท่านั้น

ความจริง “ตำรวจพระ” หรือ “พระวินยาธิการ” เกิดขึ้นมานานแล้วในคณะสงฆ์ เพียงแต่เดิมไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบอะไรรองรับ ยุคก่อนการเกิดขึ้นของ “พระวินยาธิการ” เกิดขึ้นเพราะเจ้าคณะปกครองบางรูปต้องการ “แก้ปัญหาพระประพฤตินอกรีต” การจับกุม จับสึก บางกรณีเจอ “พวกหัวหมอ” เจอสายแข็ง หมิ่นเหม่ต่อ “ถูกฟ้องกลับ”  เพราะไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบอะไรรองรับ

“ผู้เขียน” ติดตาม ระเบียบพระวินยาธิการ ตั้งแต่ “ตั้งไข่” ไปร่างและประชุมกันอยู่ที่ “วัดหงส์” เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมี “พระพรหมโมลี” วัดปากน้ำเป็นประธานกรรมการ ร่างระเบียบพระวินยาธิการ และหากจะว่าไปตามตรงระเบียบพระวินยาธิการ ถือว่าเป็น “ผลงานชิ้นเดียว” ของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง ที่มหาเถรสมาคมมีคำสั่งแต่งตั้งไว้เมื่อปี 2559 เพื่อการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6 +1 นอกนั้นมีหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะไม่ปรากฎออกมาสู่สาธารณชน หากมี “กราบขออภัย” 

สาระสำคัญของเระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยพระวินยาธิการ พ.ศ. 2562 นี้ ระบุว่า  ออกตามความในมาตรา 15 ตรีแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

เหตุผลสำคัญที่จำต้องออกระเบียบพระวินยาธิการ เนื่องด้วยการปฎิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการปัจุจุบัน ยังไม่มีบทบัญญัติรองรับที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อให้การปฎิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการเกิดความเรียบร้อยดีงาม ตามเจตนารมณ์แห่งการรักษาหลักพระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงจำต้องออกระเบียบนี้ ลงนามโดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562

เนื้อหาหลัก ๆ แบ่งออก ชเป็น 6 หมวด 28 ข้อ เช่น คณะกรรมการ เจ้าคณะใหญ่ เป็นประธาน ไล่ลงไปจนถึงจังหวัด ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน พร้อมทั้งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดอีกไม่เกิน 5 รูป ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และจะต้องจัดตั้งศูนย์พระวินยาธิการประจำจังหวัด และตำบลหนึ่งให้มีพระวินยาธิการจำนวน 2 รูป คุณสมบัติสำคัญคือ ต้องเป็นพระสังฆาธิการ เป็นเปรียญหรือมีความรู้นักธรรมเอก  อำนาจหน้าที่ คือ ตรวจตรา แนะนำ ชี้แจง ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการสืบสวน สอบสวนแล้วแต่กรณี หากเจอพระภิกษุสามเณร ไม่ยินยอมขออารักขาต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ เป็นต้น

ส่วนงบประมาณ หากจำไม่ผิดได้รับเงินอุดหนุนต่อปี ย้ำต่อปี รูปละ 2,000 พันบาท บางรูปบอกแค่ค่ารถต่อครั้งบางกรณีก็ไม่พอแล้ว..

“ผู้เขียน” คิดว่าระเบียบพระวินยาธิการหรือ “ตำรวจพระ” นี้ น่าจะเป็นเครื่องมือ “ป้องกัน” พระวินยาธิการถูกฟ้องกลับได้ดี ในขณะเดียวกันหาก “คณะสงฆ์” ใช้เป็น อาจนำไป “ปกป้องคุ้มครองภัย” ที่มากระทบคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ขอคณะสงฆ์ทุกภาคต้องจับมือทำงาน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจต้องขอแรงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดสัมมนาระดมความร่วมคิด ร่วมทำ ตามหนต่าง ๆ  เสมือนมาระดมความคิดว่า ภัยพระพุทธศาสนาทั้งภายในและภายนอกของเราตอนนี้มีอะไร แล้วคิดออกมาเป็นผัง ถอดออกมาเป็นฉาก ๆ แล้วหามาตรการแนวทางป้องกัน ซึ่งคิดว่าที่ผ่านมา คณะสงฆ์ ในภาพรวมยังไม่เคยทำในลักษณะแบบนี้

และเพื่อให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คณะสงฆ์ หรือ กลุ่มพระวินยาธิการ จำเป็นต้อง สร้าง “ภาคีเครือข่าย” เช่น สถาบันการศึกษา ตำรวจ  ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ชาวบ้าน หรือแม้กระทั้งองค์ด้านกฎหมาย เช่น สภาทนาย องค์กรมูลนิธิอื่น ๆ  “กลุ่มพระวินยาธิการ” ก็ควรดึงมาเป็นภาคีเครือข่าย ทั้งติดอาวุธทั้งอบรมกฎหมายคณะสงฆ์ต้องรู้ อย่างที่ “พระธรรมราชานุวัตร”  เจ้าคณะภาค 10 ร่วมกับ “มูลนิธิทนายกองทัพธรรม” อบรมให้กับพระสังฆาธิการ ไวยาวัจกรในเขตปกครองภาค 10

บทบาท พระวินยาธิการ หรือ “ตำรวจพระ”  หากจะว่าไป เมื่อมีระเบียบรองรับแบบนี้ ควรมีบทบาทและทำหน้าที่ให้เข้มกว่านี้ เพื่อดึงศรัทธาญาติโยมกลับมา ยุคนี้ “วิกฤติศรัทธา” ภาพลบ เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์เป็นอันมาก คนเบื่อพระสงฆ์เยอะ  ส่วนหนึ่งนอกจาก “ความเชื่อ” สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสำคัญเกิดจาก..สถาบันสงฆ์ เองเป็นนัยสำคัญ พูดให้ชัดคือ สังคมไทยยุคใหม่ ไม่ชอบพวกอภิสิทธิ์ชน ไม่ชอบคนอยู่ “เหนือคน”  ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน มีนักวิชาการ คนชั่นกลาง เด็กรุ่นใหม่ บางกลุ่ม มองคน “เท่าเทียม” กันหมด

สุดท้าย ขอฝากถึง “พระวินยาธิการ” ซึ่งหากนับตำบลในประเทศไทยมีมากกว่า 7,000  ตำบล ๆ หนึ่ง มีพระวินยาธิการ 2 รูป รวมแล้ว 14,000 กว่ารูป   ว่า เมื่อพวกท่านเป็น พระวินยาธิการ หรือ  “ตำรวจพระ” แล้ว ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับพระภิกษุสงฆ์รูปอื่น ๆ  ต้องเคารพ “พระธรรมวินัย” กฎหมาย และจารีตที่ดีงาม อย่าง “หลงตัวเอง” ทำผิดเอง หรือ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางที่มิชอบ เอื้อต่อพวกพ้องเป็นอันขาด!!

Leave a Reply