ปลัด มท. ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ชื่นชมเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการเป็นเลิศ พร้อมเน้นย้ำ พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 น. ที่โรงเรียนเทศบาล 1 (บ้านโพธิ์กลาง) เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจของเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน การรณรงค์คัดแยกขยะ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากสิ่งของเหลือใช้ การน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้กับประธานชุมชนนำไปมอบให้กับประชาชน โดยนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายขรรค์ไชย ทันธิมา ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมตรวจเยี่ยม โดยมี นายสมมาฏฐ์ โพธิ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร นายเลอศักดิ์ หล่อรุ่งเลิศ ประธานสภาเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ประธานชุมชน ผู้ปกครอง นักเรียน และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจกับนายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานเทศบาล รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวพิบูลมังสาหารทุกคน ในการร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนางานด้วยการขับเคลื่อนภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลจนเกิดผลงาน เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการพื้นที่จนทำให้สามารถบริหารงาน และดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัย จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้ ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กระทั่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 1 ใน 4 เทศบาลดีเด่นจากบรรดาเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีถึง 7,850 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงทั้งการดูแลพี่น้องประชาชนในยามปกติ ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย สิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการส่งเสริมผ้าไทย เป็นต้น โดยมี ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา หรือ “ดร.จุ๊” นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร เป็นผู้นำคนสำคัญในการบริหารจัดการงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร การพัฒนาระบบงานด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้เชิญให้ ดร.จุ๊ ได้ช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงมหาดไทยในด้านการพัฒนาระบบงานสารสนเทศ ทั้งระบบ warroom และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือติดตามและประเมินผลการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 อันจะทำให้งานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ได้รับการติดตามประเมินผล เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง
“ที่ผ่านมาชาวพิบูลมังสาหาร ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการส่งเสริมผ้าไทย มาเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการขายผ้า ซึ่งรายได้เหล่านั้นถูกนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และครอบครัว ลูก หลาน จึงมั่นใจได้ว่าผ้าไทยจะไม่ถูกทอดทิ้ง อันมีนัยยะว่า ลูกหลานจะมีความสนใจในการทอผ้ามากขึ้น เพราะได้พบได้เห็นได้สัมผัสปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ที่ทอผ้าแล้วขายได้ และพบเห็นว่าคนส่วนใหญ่ก็สวมใส่กันเยอะ ยิ่งเห็นคนนิยมชมชอบ ช่วยกันใส่ ช่วยกันโชว์ มากขึ้น ๆ ก็จะเกิดกระแสผลักดันให้คนรุ่นต่อไปได้มีกำลังใจในการที่จะช่วยกันรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ซึ่งสิ่งที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ต้องน้อมนำไปขยายผลให้ต่อเนื่องกับสิ่งที่ทำอยู่แล้ว นั่นคือ ต้องทำให้ครบถ้วนตามพระดำริ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “ต้นน้ำ” คือ การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ และเอาฝ้าย เอาไหมมาย้อมสีธรรมชาติ ในส่วน “กลางน้ำ” ได้พระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้พวกเราช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย สวมใส่ผ้าไทย โดยมีการฝึกฝนให้ผู้ประกอบการได้ออกแบบ ตัดเย็บผ้าไทย ในลวดลายที่ต่อยอดจากลวดลายโบราณ เฉกเช่นที่ได้พระราชทานลวดลายผ้า ป่าแดนใต้ ท้องทะเลไทย ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และลายขิดนารีรัตนราชกัญญา อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณความต้องการ (Demand) ของผ้าไทย ถ้าทอแบบเดิม ๆ ลายเดิม ๆ สีเดิม ๆ คนก็จะรู้สึกว่ามันก็เดิม ๆ แต่ถ้ามีการประยุกต์ ย่อ ลด ขนาด เติมลวดลาย โดยไม่ทิ้งลวดลายดั้งเดิม จะเกิดเป็นสิ่งใหม่ เป็นสิ่งที่สร้างกระแสในเรื่องผ้าไทย เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนในประเทศ เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ส่งผลถึง “ปลายน้ำ” โดยตรง คือ เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ส่งผลไปถึงครอบครัว ไปถึงลูกหลาน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า “เป้าหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่คนทอผ้าเยอะ ๆ” แต่จะต้องทำอย่างไรให้หมู่บ้านของเราเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน หรือ Sustainable Village ตามแนวพระดำริ” อันประกอบด้วย ประการที่ 1 หมู่บ้านต้องมีผู้คนอยู่ในศีล ในธรรม รักใคร่สามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มั่วสุมอบายมุข รู้จักรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พร้อมทั้งจัดการประกวดประขันออกแบบตัดเย็บแข่งขันกันภายในอำเภอ เพื่อเกิดการแสดงฝีไม้ลายมือของลูกหลานในความสามารถด้านการออกแบบตัดเย็บเพื่อประกวด จนเกิดเกิดความมั่นใจที่จะออกแบบตัดเย็บเพื่อขาย และขยายผลสร้างเครือข่ายกลุ่มทอผ้าให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง “การจัดตั้งโรงเรียนทอผ้า” เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อเสริมทักษะด้านการทอผ้า ให้ครอบคลุมทั้งด้าน บุคลากร (ครู) อุปกรณ์ (กี่ทอผ้า) และขั้นตอน (การทอ การออกแบบ การตัดเย็บ ฯลฯ) ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องทอผ้า ประการที่ 2 หมู่บ้านต้องมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการรณรงค์เชิญชวนให้สมาชิกในหมู่บ้านได้หันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม กับสภาวะอากาศ กับพื้นที่พื้นดินในชุมชน ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด ด้วยการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ให้ผล และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือนของประชาชน เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะ และยังเป็นการลดภาวะโลกร้อนที่เป็นรูปธรรม และทำได้ง่ายภายในชุมชน โดยขอให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนให้ครบถ้วน 100% ภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 และประการที่ 3 หมู่บ้านต้องมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวบริเวณบ้านเรือนของตนเอง ตามโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนตามโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยใช้สถานที่สาธารณะที่ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดอันตรายต่อการสัญจร เช่น วัด โรงเรียน พื้นที่ว่างภายในชุมชน โดยเมื่อปลูกผักจำนวนมาก จนเหลือกินเหลือใช้กันทุกบ้านแล้ว ก็ยังสามารถแปรรูปกลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่ปลอดภัย เพิ่มพูนรายได้ จึงขอให้ท่านนายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหารได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” มาขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเทศบาล และย้ำเตือนท่านนายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ส่งเสริมขยายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในพื้นที่อำเภอ เพื่อเป็นอำเภอต้นแบบการเป็นอำเภอแห่งความยั่งยืน (Sustainable Development Goals District) หรืออำเภอ SDGs ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs)
“นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการให้ทุกพื้นเป็นพื้นที่แห่งความสงบสุข ไม่อยากให้มีคนบ้าจิตวิปลาสจากปัญหายาเสพติด ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้จัดทำรายชื่อผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ มีจำนวนแสนกว่าคน และจำนวนผู้ค้า โดยให้นายอำเภอประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การปกครองท้องที่ ช่วยกันเตรียมความพร้อมการดูแลผู้เสพที่แสดงตนสมัครใจเข้ารับการบำบัด สนับสนุนงบประมาณมาทำค่ายบำบัดรักษาในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านใกล้กับบ้านของประชาชน ในทุกตำบล/หมู่บ้าน ช่วยกันทำในสิ่งที่จะทำให้เขากลับมาเป็นคนดีของสังคม โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมอบนโยบายในเรื่องดังกล่าวให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 24 พ.ย. 65 นี้ รวมถึงในเรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา สร้างสรรค์ และบูรณาการ เผยแพร่ให้ลูกหลานได้รู้ ด้วยการส่งเสริมให้ลูกหลานเยาวชนคนพิบูลมังสาหารได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการต่อเมืองพิบูลมังสาหาร รวมทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานที่เป็นที่ภาคภูมิใจของคนพิบูลมังสาหาร ด้วยการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง เช่น หลักสูตรท้องถิ่นศึกษา ที่ต้องศึกษาเรียนรู้ครอบคลุมทั้งเรื่องพิบูลมังสาหาร และเรื่องประเทศไทย เพื่อให้ลูกหลานไม่ลืมรากเหง้า และยังสามารถประยุกต์เป็นอาชีพของตนเองผ่านการสื่อสารประวัติศาสตร์ด้วยพรสวรรค์ เช่น การประพันธ์เพลง การร้องเพลง จนอาจจะกลายเป็น YOUTUBER ในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ต้องมีการสื่อสาร 2 ทางและทำงานเป็นทีม ดังเช่นในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยพยายามยุยงให้นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ไปเชิญชวนผู้มีจิตอาสา มีความรู้ความสามารถ จากทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งนายอำเภอในฐานะทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ต้องกระตุ้นปลุกเร้าเฟ้นหา “ทีมอำเภอ” ครอบคลุมทุกภาคีเครือข่าย และสร้างทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เช่น ในเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำ” กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นแม่งาน เป็นเสนาธิการในเรื่องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความโดยสรุปว่า “การเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเร่งสูบไปลงก็ได้ผลในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่จะทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำในการทำมาหากิน จึงทรงสอนให้พวกเราคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะเก็บน้ำในยามที่มีน้ำมากเอาไว้ในที่ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้มาท่วมที่ราบ ด้วยการทำเป็นหลุมขนมครก ฝายแม้ว ป่าเปียก กระทั่งกลายเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ จนกลายเป็นโคก หนอง นา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ข้อสรุปที่สมบูรณ์ว่า “อารยเกษตร” ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ให้สมบูรณ์เป็นตัวอย่างที่ห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการให้ชุมชน/หมู่บ้าน ขับเคลื่อนโดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะประมวลองค์ความรู้และร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นอำเภอ และพัฒนาการอำเภอ เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ ขยายผลไปสู่พี่น้องประชาชนพิบูลมังสาหารและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ อันจะส่งผลทำให้เกิดการจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำตามภูมิสังคม geo-social mapping เกิดประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
Leave a Reply