“อาจารย์ยักษ์” พบ “สันติศึกษา มจร” จับมือพัฒนาสวนสันติธรรมชาติ สู่โคกหนองนาโมเดลและธนาคารน้ำ ต่อยอดแนวคิดสันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ ฝากถึงผู้นำรับฟังคนรุ่นใหม่ สะท้อนระบบการศึกษาไทยล้มเหลว
วันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นำคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่หลักสูตรสันติศึกษา มจร ลงพื้นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เพื่อเข้าศึกษาและเรียนรู้แนวทางการออกแบบและพัฒนาสวนสันติธรรมชาติภายใต้กรอบของโคกหนองนาโมเดลและธนาคารน้ำ โดยมี ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ และคณะเป็นที่ปรึกษา ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคมนี้
หลักสูตรสันติศึกษา ได้จัดวางหนึ่งในองค์ประกอบของหลักสูตร คือ แนวคิดการพัฒนาสันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวลงสู่การพัฒนาให้เป็นสวนสันติธรรมชาติ ในพื้นที่จริง จำนวน 12 ไร่ โดยนำเอาเอาโคกหนองนาโมเดล และธนาคารน้ำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว
สวนสันติธรรมชาติจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตหลักสูตรสันติศึกษา มจร และบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ และการเป็นดำรงอยู่อย่างสอดประสานกันระหว่างมนุษย์กับดิน น้ำ ไฟ ลม ต้นไม้ พืช และสัตว์ต่างๆ ภายใต้ระบบนิเวศวิทยาเชิงลึก
สำหรับโครงการพัฒนาสวนสันติธรรมชาตินี้ จะเริ่มดำเนินการพัฒนาต้นปี 2564 ภายหลังที่ผ่สนฤดูเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว ในเบื้องต้น จะดำเนินการออกแบบพื้นที่ร่วมกับอาจารย์ยักษ์ และหลวงพ่อสังคม ให้สอดรับกับสภาพดินฟ้าอากาศ แล้วเข้าสู่การพัฒนาต่อไป
พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า เบื้องต้น ดร.วิวัฒน์ ได้ให้ความรู้ในหัวข้อ “เข้าใจเข้าถึงพัฒนาศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นฐานของการสร้างสันติภาพด้านกายตามแนวทางภาวนา 4 ซึ่งเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยย้ำว่า การที่เด็กเยาวชนออกมาแสดงท่าทีในปัจจุบันเพราะระบบความล้มเหลวของการศึกษาในปัจจุบัน ใครจัดระบบการศึกษาถ้าไม่ใช่ผู้ใหญ่ การศึกษาจึงต้องคืนสู่วิถีแห่งธรรมชาติ
“เพราะปัจจุบันฐานรากชุมชนล้มสลายวัดบ้านโรงเรียนไปคนละทิศคนละทาง ชุมชนไม่มีความเข้มแข็ง เราจึงต้องพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน เราจึงต้องพัฒนาสังคมให้เกิดความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำเสมอภาค ปรองดอง โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คำถามคือความสำเร็จในการพัฒนาโคกหนองนา คือ ทำแบบคนจน จึงมีการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติการแปลงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแบบคนจน
เราจึงใช้วิธิการเช้าบรรยาย สายบ่ายทำ ค่ำสรุปการเรียนรู้ จึงมีการสร้างโมเดลการออกแบบพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำตามหลักภูมิสังคมด้วย โคกหนองนาโมเดล เพื่อจัดการกักเก็บน้ำในพื้นที่ให้มีเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการดำเนินชีวิต เป็นโมเดลที่สร้างให้เกิดความสมดุลและความพร้อมพึ่งตนเองในสภาพปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง (อาจารย์ยักษ์ แห่งมหาวิทยาลัยคอกหมู) เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นฐานของการพัฒนา หัวใจของหลักกสิกรรมธรรมชาติ คือ เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยง เราไม่เผา ไม่ทำลายหน้าดิน” พระปราโมทย์ กล่าวและว่า
ดังนั้น จึงต้องสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารไปด้วยกัน จึงเป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจด้วยการฟังอาจารย์ยักษ์ในการพึ่งตนเอง
Leave a Reply