เปิด “แคนดิเดต” ว่าที่อธิการบดี “มจร”

วันที่ 4 มิถุนายน 2565  หลังจากเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 สภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปใหม่ ที่หมดวาระลงภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1.พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานกรรมการ 2.พระสุวรรณเมธาภรณ์ กรรมการ 3.พระโสภณวชิราภรณ์ กรรมการ 4.พระพรหมโมลี  กรรมการ 5.ศ.(พิเศษ)ดร.จำนงค์ ทองประเสริฐ กรรมการ 6.พระเมธีธรรมาจารย์ กรรมการ  และ 7. รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม กรรมการ

ล่าสุด “แหล่งข่าว” จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีทั้ง 7 รูป/คนได้รายชื่อผู้สมควรเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปต่อไปแล้ว คือ 1.พระธรรมวชิรบัณฑิต อธิการบดี มจร  2. พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร และ 3. พระเทพเวที รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร

หลังจากนี้คณะกรรมการชุดเดิมนี้จะประชุมกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าในทั้ง 3 รูปนี้ใครที่จะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยตอนนี้เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบ

ในขณะที่แหล่งข่าวอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นพระภิกษุระดับผู้บริหารของ มจร ระบุว่า เท่าที่ดูจากสถานการณ์และบริบทตอนนี้คาดว่า พระธรรมวชิรบัณฑิต น่าจะเป็นอธิการบดี มจร เหมือนเดิม

 “ทั้งพระเทพปวรเมธี และพระเทพเวทีทั้ง 2 รูป เป็นพระทำงาน คณะสงฆ์ อธิการบดีรูปปัจจุบัน ท่านมอบหมายงานอะไรก็ทำเต็มที่ และทั้ง 2 รูป ปัจจุบันมีงานปกครองคณะสงฆ์อยู่ในมือมาก รูปหนึ่งเป็นรองเจ้าคณะภาค รูปหนึ่งเป็นเจ้าคณะภาค หากจะว่าไปแล้วทั้ง 3 รูป ถือว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของคณะสงฆ์ของพวกเราชาว มจร เก่งทุกรูป ใครมาเป็นอธิการบดี มจร ก็สามารถสานต่อได้เลย เพราะทั้ง 3 รูปเป็นลูกหม้อของ มจร มีส่วนคิด มีส่วนร่วมพัฒนา มจร มาตั้งแต่ต้นเหมือนกัน..”

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น โดยให้ย้ายการสอนพระปริยัติธรรมจากศาลาบอกพระปริยัติธรรมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ.2430 และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย มหาธาตุวิทยาลัยได้เปิดทำการสอนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 และมีพระบรมราชโองการเปลี่ยนนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2439 โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์สืบไป

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนิสิตที่สำเร็จการศึกษามาแล้วจำนวน  66 รุ่น แยกเป็นระดับปริญญาตรี 60,563 รูป/คน ปริญญาโท 9,253 รูป/คนและปริญญาเอก 2,145 รูป/คน รวมทั้งสิ้น 71,961 รูป /คน

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้สร้างโอกาสทางการศึกษา ให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสก้าวสู่มหาวิทยาลัยทั่วไป  ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนไปแล้วทั่วประเทศและทั่วโลก โดยในต่างประเทศมีสถาบันสมทบ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศฮังการี สิงคโปร์ ศรีลังกา เกาหลีใต้ และใต้หวัน

ส่วนในประเทศไทยมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการและโครงการขยายห้องเรียน ครอบคลุมทุกภูมิภาคใน 45 จังหวัดทั่วประเทศ เปิดการเรียนการสอนออกเป็น 4 คณะ มีหลักสูตรมากถึง 227 หลักสูตร เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป มีนิสิตทั้งสิ้นประมาณ 20,000 รูป/คน มีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มากกว่า 3,000 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผลิตบุคลากรไม่เฉพาะเพื่อสนองงานคณะสงฆ์เท่านั้น แม้แต่ในฝ่ายบ้านเมืองก็มี “ศิษย์เก่า” สถาบันการศึกษาแห่งนี้ไม่ใช่น้อย

Leave a Reply