คำร้องที่ 6! คณะนิติชนฯยื่นกกต.ส่งศาลรธน. ‘แพทองธาร-อนุทิน-ชูศักดิ์’ เพิกเฉยกรณีอัลไพน์

คำร้องที่ 6 มาแล้ว! คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่น กกต. ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ‘แพทองธาร ชินวัตร-อนุทิน ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย-ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ’ สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีเพิกเฉยไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการคืนที่ธรณีสงฆ์ให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร ชี้ปัจจุบันครอบครัวนายกฯ ยังคงเป็นผู้ถือหุ้น บ.อัลไพน์ฯ เจ้าตัวต้องสั่งการด้วยตนเองให้ชัดเจน ไม่ให้หน่วยงานรัฐเกรงใจ  


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567  คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ได้ยื่นคำร้องที่ 6 ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการคืนที่ธรณีสงฆ์ให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร

ในหนังสือคณะนิติชน-เชิดชูธรรม ยื่นต่อ กกต. มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ฐานแห่งข้อเท็จจริงจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) เมื่อเดือน ก.พ. 2544 กรณีวัดธรรมิการามวรวิหารได้มาซึ่งที่ดินมรดกตามพินัยกรรม สรุปว่า ที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร นับตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมจึงต้องโอนที่ดินให้แก่วัดเท่านั้น จะโอนให้บุคคลอื่นนอกจากวัดไม่ได้ ซึ่งการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในกรณีนี้ได้เคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและไม่ได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว

ประกอบกับฐานแห่งข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดดังกล่าว แม้จะเป็นคดีอาญาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ศาลจะต้องพิจารณาว่าที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์เสียก่อน จึงจะพิจารณาได้ว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้การออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินเป็นความผิด

หนังสือยื่นต่อ กกต. ระบุด้วยว่า  ปัจจุบันแม้จะมีคำพิพากษาเป็นตัวอย่างให้เห็น แต่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกรมที่ดินมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งผู้จัดการมรดกได้โอนให้กับบุคคลอื่นให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดตามพินัยกรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลเพื่อให้วัดธรรมิการามวรวิหารรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์กลับมาเป็นของวัด ขณะที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และ มาตรา 164 ได้แก่

1) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน และในฐานะเคยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ และปัจจุบันบุคคลในครอบครัวยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ไม่ได้สั่งการเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์คืนให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร ซึ่งเป็นกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องสั่งการด้วยตนเองอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐมีความเกรงใจ จากการที่ตนเองและครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ (นายกฯ แพทองธาร โอนหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ 224.1 ล้าน ให้ ‘คุณหญิงอ้อ’ แล้ว)

2) นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ไม่ได้สั่งการกรมที่ดินดำเนินการเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์จากนิติบุคคลและบุคคลที่ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจุบันคืนให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร

3) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ได้สั่งการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการเพื่อให้วัดธรรมิการามวรวิหารรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์กลับมาเป็นของวัด

หนังสือยื่นต่อ กกต. ระบุอีกว่า ในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของบริษัทที่ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ในปัจจุบัน ระบุว่าบริษัทยังไม่ได้รับข้อมูลหรือการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟจากหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด โดยคาดว่ายังไม่ผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของบริษัทในอนาคต ซึ่งแสดงว่าที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐเพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์คืนให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร โดยบริษัทได้หมายเหตุไว้ในทำนองว่าพร้อมจะดำเนินการตามที่หน่วยงานของรัฐแจ้งมา ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายจึงจำเป็นที่หน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นผู้ประสานงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทั้งผู้ที่เคยเกี่ยวข้องและเป็นผู้ที่มีอำนาจรัฐในขณะนี้ จึงต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าการที่เคยมีหุ้นในบริษัทที่ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์เป็นเรื่องไม่มีเจตนาและมีข้อติดขัดที่จะทำการแก้ไข ซึ่งเมื่อเข้ามามีอำนาจรัฐได้ดำเนินการแก้ไขข้อติดขัดนั้นอย่างเต็มที่

ส่วนวิธีที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหน่วยงานของรัฐไม่อาจอ้างเป็นข้อติดขัดที่จะไม่ดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนที่จะดำเนินการได้โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิของประชาชนรายย่อยที่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เป็นดังนี้

1) เพิกถอนคำสั่งของรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ที่ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน และให้บังคับใช้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย (ผู้ขาย) กับ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด (ผู้ซื้อ) และการจดทะเบียนที่ต่อเนื่อง โดยกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินการเรื่องนี้

2) เมื่อที่ดินทั้งหมดรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นบนที่ดินกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยแล้ว ให้มูลนิธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร โดยกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินการเรื่องนี้

3) เมื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้ว ให้บริษัททั้งสองและประชาชนรายย่อยที่เคยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับวัด โดยอัตราค่าเช่าให้คำนึงถึงจำนวนเงินที่ผู้เคยถือกรรมสิทธิ์ได้จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินการเรื่องนี้

4) กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างติดจำนองกับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันกับบุคคลใด ให้เปลี่ยนนิติกรรมเดิมเป็นการมอบสิทธิการเช่าเป็นประกัน โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินการเรื่องนี้

5) สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ผู้ขายที่ดิน กับ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ผู้ซื้อที่ดิน รวมทั้งสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทที่เป็นผู้ขายบ้านจัดสรร กับ ประชาชนรายย่อยที่เป็นผู้ซื้อบ้านจัดสรร ที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนและยกเลิกสัญญาซื้อขาย ซึ่งโดยปกติจะต้องบังคับกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องการเลิกสัญญา มาตรา 391 โดยให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายของทั้งสองกรณีสละสิทธิที่จะไม่เรียกร้องกันตามมาตรา 391

หนังสือยื่นต่อ กกต.ระบุต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อติดขัดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการ เพราะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสองบริษัทซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิที่ดินบางส่วนในปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็นสิทธิการเช่าระยะยาวและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยถูกต้อง วัดธรรมิการามวรวิหารซึ่งเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมได้รับโอนที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ในฐานะที่ธรณีสงฆ์ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการทรัพย์มรดกตามความประสงค์ของเจ้ามรดกเสร็จสิ้นตามพินัยกรรมทุกประการ และประชาชนรายย่อยประมาณ 300 ราย ซึ่งเป็นผู้ซื้อบ้านจัดสรรบนที่ธรณีสงฆ์อีกส่วนหนึ่งได้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีความถูกต้องโดยเปลี่ยนจากสถานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้องมาเป็นผู้มีสิทธิการเช่าระยะยาวที่ถูกต้อง และสามารถนำไปทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้ หลังจากติดขัดมาเป็นเวลานาน ประการสำคัญนายกรัฐมนตรีได้แก้ไขปัญหาส่วนตัวได้เสร็จสิ้น ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะรัฐมนตรีในอดีตเคยมีมติให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลบังคับผูกพันกับทุกหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ถือว่าขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี

หนังสือยื่นต่อ กกต. ย้ำว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เริ่มต้นดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วหรือไม่ หากยังไม่ดำเนินการใด ๆ อาจถือว่ากระทำขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีที่เคยมีมติไว้ เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 ไม่รักษาไว้ซึ่งศาสนสมบัติ ละเลยที่จะกระทำให้เรื่องที่ชัดเจนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้มีความถูกต้องตามกฎหมายทั้งที่มีวิธีการที่จะทำได้ จึงไม่มีความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่ อันทำให้เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้าย ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เฉพาะนายกรัฐมนตรีอาจเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 ข้อ 11 อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอีกข้อหนึ่ง

“นอกจากนี้การที่นายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งนายอนุทิน ชาญวีรกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายอนุทินเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลก่อน ซึ่งอาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาก่อน จากการไม่กำกับดูแลให้กรมที่ดินดำเนินการเพื่อให้ที่ธรณีสงฆ์กลับไปเป็นของวัด นายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้งจึงอาจไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงอีกกรณีหนึ่ง จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 170 วรรคสาม คณะนิติชน-เชิดชูธรรม จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบ หากพบว่ายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงหรือไม่” หนังสือยื่นต่อ กกต. ระบุ 

ตัวแทนของคณะนิติชน-เชิดชูธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คำร้องฉบับนี้ คณะนิติชน-เชิดชูธรรม เห็นว่าบริษัทอัลไพน์ทั้งสองที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เคยถือหุ้น ไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบจากการที่ยังคงถือกรรมสิทธิ์ในที่ธรณีสงฆ์ เนื่องจากบริษัททั้งสองรับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและกรมที่ดินยอมรับจดทะเบียนซื้อขายให้โดยสุจริต แต่อีกสิบกว่าปีต่อมาเพิ่งปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ที่จะต้องเพิกถอนการจดทะเบียน ซึ่งบริษัทได้แสดงเจตนาที่จะปฏิบัติตามที่หน่วยงานของรัฐแจ้งมาไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้ว เนื่องจากบริษัทไม่อาจดำเนินการได้เองโดยลำพัง แต่จะต้องเป็นการดำเนินการของภาครัฐในการเพิกถอนการจดทะเบียนต่าง ๆ และจดทะเบียนใหม่ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด โดยบริษัทยังไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้กระทำ

“คณะนิติชน-เชิดชูธรรม เห็นว่าภาครัฐต่างหากที่ละเว้นไม่ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและตามแนวการวินิจฉัยของศาล ซึ่งหน่วยงานของรัฐและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลรวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในคำร้อง” ตัวแทนของคณะนิติชน-เชิดชูธรรมกล่าวทิ้งท้าย 

สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า คณะนิติชน-เชิดชูธรรม คือกลุ่มบุคคลที่เคยยื่นเรื่องต่อ กกต.มาแล้ว 5 เรื่อง ในนามบุคคล  คือ  1.กรณียุบพรรคเพื่อไทย  เช่นเดียวกับที่ กกต. เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ใช้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ คณะกรรมการบริหารพรรค เอื้อประโยชน์ตนเอง 2. ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และ 3. ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องที่ 2

ส่วนการยื่นเรื่องในนามคณะบุคคล มี 2 คำร้อง 1. กรณีขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น โดยผลการตรวจสอบชี้ว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลตำรวจ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การที่นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)  , 2. คำร้องให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 36 คน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จากการร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ

 

ที่มา..https://www.isranews.org/

Leave a Reply