เยี่ยมชม “โคก หนอง นา” เมืองเวียงเก่า  ถิ่นไดโนเสาร์ล้านปี           

    “ศาลเจ้าจอมนรินทร์ ถิ่นไดโนเสาร์ล้านปี อากาศดี อุทยานเด่น เป็นแหล่งอารยธรรม เลิศล้ำภูตากา ตาดฟ้าผาชมตะวัน มหัศจรรย์ขุนเขา เวียงเก่าน่าอยู่”  นี่คือคำขวัญอำเภอเวียงเก่า จ.ขอนแก่น

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” หลังจากได้รับข้อมูลแปลง โคก หนอง นา จาก “ปลัดเก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่แนะนำว่า ที่อำเภอเวียงเก่ามีเจ้าของแปลง ๆ หนึ่งน่าสนใจมาก ที่ดินเป็นของแม่ยาย เดิมทำนา ตอนหลังลูกเขยออกจากงานโรงแรม ขอใช้พื้นที่ทำแปลงโคก หนอง นา แม่ยายคัดค้านไม่ไหว จนล้มป่วย เพราะคิดว่าไม่รอด และชาวบ้านหาว่าลูกเขยบ้า เพราะไปขุดดินออก เอานาไปปลูกผัก ซึ่งมองไม่ออกว่าจะได้เงินมาอย่างไร หลังจากผ่านมา 2-3 ปี ผลผลิตในแปลงโคก หนอง นา ออก แม่ยายยิ้มได้ และแปลงแห่งนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน จนทุกวันนี้.

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก ครั้งแรกเดินทางไปประมาณปี 2564 ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดใหม่ ๆ  ครั้งที่สอง ไปดูแปลงโคก หนอง นา ที่น้ำไม่ท่วม ว่าเขามีการบริหารจัดการอย่างไร ครั้งที่สาม ได้ติดตามปลัดเก่งไปเปิดแปลงโคก หนอง นา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และครั้งที่สี่ ล่าสุดคือ ไปดูความสำเร็จการดำเนินการแปลงโคก หนอง นา ของ “กฤษฎา โคก หนอง นา โมเดล”

สำหรับโครงการโคก หนอง นา มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

 “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”  ปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยบอกว่าโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นโครงการที่ทำให้หลายคนรู้จักกรมการพัฒนาชุมชนมากขึ้นจากการน้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และน้อมนำเอาพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

“หลักสำคัญของโคก หนอง นา โมเดล คือการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ ให้พึ่งพาตนเองได้  มีผักปลอดสารพิษได้รับประทาน เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูลเอื้อเฟื้อแบ่งปันต่อกัน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 79 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน พร้อมจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอีก 9,188 คน และผลพลอยได้คือ เกิดป่า,มีแหล่งน้ำและสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพลเมืองของประเทศชาติอีกด้วย..”

จังหวัดขอนแก่น เดิมชื่อ “ขามแก่น” เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อมูลประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี2566  จังหวัดขอนแก่นมีประชากรทั้งสิ้น 1,784,641 ซึ่งจำนวนนี้น้อยกว่าประชากรในปี 2563 ที่มีถึง 1,802,872  สถิตินี้บ่งบอกว่าประชากรจังหวัดขอนแก่นเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ คือ อัตราการเกิดน้อยลง

จังหวัดขอนแก่นเคยอยู่ในเขตการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ มีการอพยพของประชาชนชาวลาวเข้ามาอาศัย โดยเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีและต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นประชากรดั้งเดิมของจังหวัด นอกจากนั้นแล้ว ในเขตเมืองยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นชุมชนใหญ่และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ชาวไทญ้อและชาวต่างชาติอื่นๆ ซึ่งย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดขอนแก่น

จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อนระบุว่า จังหวัดขอนแก่นประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา 1,466 แห่ง ประกอบด้วย วัด 1,371 แห่ง โบสถ์คริสต์ 58 แห่ง มัสยิด 7 แห่ง และสุเหร่า 2 แห่ง โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี 26 แห่ง และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ 199 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น ดำเนินกิจกรรมโคก หนอง นา ตั้งแต่ปี 2564-2566 ทั้ง 26 อำเภอ 159 ตำบล ทั้งหมด1,195 แปลง

“พี่ตู่” กฤษดา ศรีปัญญา ชื่นชมปลัดเก่งมาก เสมือนเป็นผู้ให้ชีวิตใหม่กับเขาทำให้เขาหลุดพ้นจากหนี้และระบบทุนนิยมที่ทำให้เขาและครอบครัวมีแต่ความเครียด เล่าว่า

“ผมคุยกับครอบครัวอยู่สักพักหนึ่งก่อนตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน เริ่มแรกแม่ยายก็ไม่เห็นด้วยที่จะเอาที่ดินไปขุด เขากลัวว่าทำแล้วจะไม่สำเร็จ ผมจึงลองทำตามใจเขาดูคือลองปลูกอ้อยอยู่ 1 ปีแต่ผลผลิตมันไม่ได้ตามที่ต้องการ แม่จึงบอกว่างั้นลองดู ผมจึงนำที่ดินตรงนี้มาขุดโคกหนองนา ตอนแรกที่ขุดนั้น แม่ยายผมนั่งดูแล้วร้องไห้เลย ผมจึงตั้งปณิธานไว้ว่าผมจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ให้ได้ หลังจากขุดเสร็จแม่ยายผมกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่ประมาณ 1 เดือน ผมได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจให้ค่อยเป็นค่อยไป และผมก็ได้ปลูกพืชต่างๆหลังจากระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว ผลผลิตเริ่มมีเป็นรูปเป็นร่าง สามารถนำไปขายได้มีทั้งกุ้ง หอยที่ขายได้แม่ยายจึงได้เริ่มมั่นใจว่ามีรายได้ แม้จะเป็นเงินที่น้อยนิดแต่ก็มีรายได้เข้าทุกวัน และจากปกติที่ตื่นนอนมาเราต้องซื้อกับข้าวทุกวัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องซื้อเพราะเรามีกินอยู่ในสวนแล้ว เรามีผัก มีปลา มีอาหารหลากหลายในแปลงอยู่แล้ว ทำให้เริ่มเห็นปณิธานที่ตั้งเอาไว้ จากนั้นผมก็ตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างจริงจัง ช่วงหลังแม่ยายก็ไม่ค่อยได้ไปโรงพยาบาลเพราะมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าธรรมชาติบำบัดมีอยู่จริง..”

กฤษดา ศรีปัญญา  เล่าต่อว่า จุดสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ประสบความสำเร็จในการทำโคก หนอง นา หรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยศาสตร์ของพระราชา คือ “ทำบ้างไม่ทำบ้าง ทำไม่ต่อเนื่อง” ถ้าเรามีเวลาให้มันมากก็จะประสบความสำเร็จได้ แรก ๆ ที่ขุดบ่อมาอยู่ในช่วงฝนตก ทำให้ดินสไลด์ลง แปลงโคก หนอง นา ในอำเภอเวียงเก่า แปลงตนเอง เป็นแปลงที่เละที่สุด ขนาดคนของกรมการพัฒนาชุมชนยังบอกว่าใช้ไม่ได้ จะเข้ามาวัดที่ยังเข้าไม่ได้เลย

“ทีมงาน” ถามถึงรายได้  “พี่ตู่” บอกว่า เริ่มต้นทำ 6 เดือนก็มีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เข้าแล้ว 100-200 บาท  รายได้นอกจากกล้วยก็ยังมีไม้ผล เพาะพันธุ์กล้าผักหวานขายประมาณ 500-600 ต้น และยังมีกุ้ง หอย ปลา ที่ขายได้เรื่อย ๆ รายได้เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 300 บาท   และยังมีรายได้เสริมจากการเป็นช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง

สำหรับเครือข่ายโคกหนองนาของอำเภอเวียงเก่ามีทั้งหมด 35 แปลง มีการทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคีหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆทีละแปลง 2-3 เดือนต่อ 1 ครั้ง บางทีมีการจัดกิจกรรมก็จะมีเครือข่ายจากแต่ละอำเภอมาช่วย ทางพช. ก็จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ระยะแรกจะเข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการทำปุ๋ยสูตรต่างๆ และนำอุปกรณ์มาให้ นอกจากนี้ก็ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ของนายอำเภอ ทำให้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเพิ่มอีก

เมื่อ “ทีมข่าว” ถามว่า อะไรคือ ความภูมิใจในการทำโคก หนอง นา “พี่ตู่”  เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า มีโอกาสได้ให้ความรู้กับสองสามีภรรยาซึ่งสามีเป็นชาวต่างชาติ ที่อยากมาอยู่เมืองไทยและอยากทำการเกษตร จึงแนะนำการทำปุ๋ย การบริหารจัดการน้ำ การบำรุงดิน มาเรียนรู้กินนอนอยู่ 3 วัน ซึ่งพวกเขาได้บอกว่าได้รับความรู้ไปมาก

“ก่อนกลับเขาได้สอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอน แต่ผมบอกว่าไม่รับเงิน เพราะที่ผมเรียนมาไม่ได้เสียเงินแม้แต่บาทเดียว ผมยินดีถ่ายทอดให้ผู้ที่ตั้งใจอยากศึกษา พ่อผมสั่งไว้ว่าได้มาแล้วต้องให้ไป เขาเลยถามว่าแล้วพ่อคุณอยู่ที่ไหน ผมเลยชี้ไปที่รูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อคนนี้แหละที่สอนผมมา และให้ผมถ่ายทอดความรู้ที่ผมได้เรียนมา”พวกเขาจึงยกมือไหว้ รูปในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมกับร้องไห้ด้วย  ผมก็พลอยน้ำตาไหลไปด้วยเพราะผู้ให้นั้นมีความสุขจริง ๆ..”

 

 

Leave a Reply