1 วัด 1 พระบริบาลภิกษุไข้” ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช เปิดอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” เฉลิมพระเกียรติฉลองพระชนมายุ 8 รอบเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 13 มิ.ย. 66 นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมงคลวาระที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 8 รอบ 96 พรรษา วันที่ 26 มิถุนายน 2566 จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดโครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำวัด 1 วัด 1 รูป จังหวัดนครศรีธรรมราช เฉลิมพระเกียรติในมงคลวาระดังกล่าว โดยได้รับความเมตตาจากพระธรรมวชิรากร ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 16-17-18 เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เป็นประธานสงฆ์ นำคณะสงฆ์กว่า 198 รูปในพื้นที่ เข้าร่วมโครงการฯ ณ ศาลา 100 ปี วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

“โครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำวัด 1 วัด 1 รูป ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 ด้วยการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาร่วมกันระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชและสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ วันที่ 26 มิถุนายน 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพของพระสงฆ์ที่สำคัญ โดยพบว่า จากจำนวนพระภิกษุ สามเณรทั่วประเทศ 252,851 รูป จาก 41,142 วัด มีพระภิกษุ สามเณรที่สุขภาพดีร้อยละ 52 ในขณะเดียวกันก็พบภาวะเสี่ยงร้อยละ 19 และมีอาการอาพาธถึงร้อยละ 28.5 โดยส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้อาพาธ คือ “ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง” ดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน และการสูบบุหรี่ และในส่วนโรคที่พบมากสุด 5 อันดับแรกเป็นโรคเรื้อรังทั้งหมด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา” ผวจ.อภินันท์ ฯ กล่าว

นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่ออีกว่า เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้โปรดเมตตาประทานพระโอวาทความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างในการบริบาลภิกษุไข้ ทรงเอาใจใส่ เสด็จไปตรวจตรา และบริบาลภิกษุอาพาธ ด้วยความเต็มพระทัย ไม่ทอดทิ้ง แม้ต้องสัมผัสกับปฏิกูล หรือความยากลำบาก ก็ไม่ได้ทรงรังเกียจ นับเป็นแบบอย่างของบรรพชิตซึ่งได้บรรพชาอุปสมบทอุทิศถวายแด่พระองค์ให้มุ่งมั่นเจริญรอยตาม …ความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจะไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะพยาบาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ ถ้าไม่มีพระอุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องช่วยกันพยาลบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องพึงอาบัติ” ซึ่งพุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์มีหน้าที่บริบาลรักษาดูแลกัน จะทอดทิ้งกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่สาธุชนมาช่วยถวายความรู้ให้พระมีความสามารถในการบริบาล จึงเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการเกื้อกูลพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างแท้จริง” ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้น้อมนำพระโอวาทดังกล่าว มาเป็นหลักชัยควบคู่กับแนวทางตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อน “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม โดยมุ่งปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยหนึ่งในแนวทางการสร้างวัดให้เป็นสัปปายะสถาน หรือการมีสภาพที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ผลดีนั้น คือ “การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้” ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และ “พัฒนาพื้นที่ จิตใจ และปัญญา” ของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา เป็นพื้นที่แห่งความสุขของประชาชน เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาเฉกเช่นวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษที่เรียกกันว่า “ครู คลัง ช่าง หมอ” เพื่อทำให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการหลอมรวมพลังกาย พลังใจของประชาชน

นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในช่วงท้ายว่า โครงการอบรม “พระบริบาลภิกษุไข้” ประจำวัด 1 วัด 1 รูป  มีเป้าหมายจัดอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะพระภิกษุในการดูแลสุขภาพพระภิกษุอาพาธ บูรณาการการเรียนการสอน การพัฒนาการศึกษา การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กับการบริการวิชาการ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ที่เข้าอบรมมีความรู้และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และทักษะในการบริบาลพระภิกษุไข้ ซึ่งเป็นการอบรมความรู้พื้นฐานในลักษณะเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพระภิกษุที่ได้รับการอบรมในครั้งนี้จำนวน 198  รูป ซึ่งสามารถทำหน้าที่ดูแลพระภิกษุอาพาธ ให้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ช่วยเหลือดูแลเบื้องต้น ปฐมพยาบาล และช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพระภิกษุในพระอารามต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังจะสามารถถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพแก่ญาติโยมและดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีด้านสุขภาพให้แก่ชุมชนอีกด้วย”

Leave a Reply