วันที่ 20 ธ.ค.2561 เฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า “ร่วมเรียนรู้ สู่ การพัฒนางาน”
สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา (Tipitaka Studies Institute – TiSI) เป็นส่วนงานใหม่เอี่ยมอ่องของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามมติสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2561 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเล่ม 135 ตอนพิเศษ 222 เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2561 โดยยกภาระงานของกลุ่มงานคัมภีร์พุทธศาสน์ กองวิชาการ มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา เพื่อพัฒนางานด้านคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาให้ก้าวหน้าต่อไป ปัจจุบันมีพระศรีศาสนบัณฑิต, ผศ. (สุทัศน์ ติสฺสรวาที/นักการเรียน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดดาวดึงสาราม(พระอารามหลวง) อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ และ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา เป็นรักษาการผู้อำนวยการรูปแรก
สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา มีพันธกิจ 4 ด้าน คือ
1 รวบรวมและอนุรักษ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
2 ปริวรรตและแปลพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
3 วิจัยพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
4 เผยแพร่และให้บริการวิชาการเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ระหว่างวันที่ 17 – 19 ธันวาคม ผ่านมานี้ ได้รับโอกาสจากท่านรักษาการผู้อำนวยการสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา ให้มาช่วยจัดกิจกรรมซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อจัดทำพัฒนา “แผนยุทธศาสตร์สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา ระยะ 5 ปี (2562 – 2566)” ให้แก่บุคลากรในสังกัดสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้คงแก่เรียนด้านพระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ก็แน่นอนว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นได้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “กระบวนการ” จัดทำแผน สำคัญกว่า “เอกสาร” ที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายของการทำแผนฯ
ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือ ทิศทางและขอบเขตขององค์การในระยะยาว เพื่อให้บรรลุประโยชน์แก่องค์การโดยผ่านการจัดสรรทรัพยากรภายใต้ภาวะแวดล้อมแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
แผนยุทธศาสตร์ที่ดี เป็นผลที่เกิดจากกระบวนการวางแผนที่ดี บริหารจัดการแผนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นประสิทธิผลที่ปรากฏจริง เป็นแผนที่มีเป้าประสงค์ดี ก่อให้เกิดการร่วมใจ มีหลักการดีก่อให้เกิดการ “ร่วมคิด” มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการ “ร่วมทำ” และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่จัดการดี ก่อให้เกิดการร่วมแรง ในภาษาไทยก็พูดกันเป็นวลีว่า “ร่วมแรงร่วมใจ” – “ร่วมคิดร่วมทำ” โดยที่ยุทธศาสตร์ ต้องเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากทั้งผู้บริหาร บุคลากร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากองค์การ โดยมุ่งหวังให้เกิดการยอมรับในทุกฝ่ายในองค์กร เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญและวัตถุประสงค์ของการจัดทำยุทธศาสตร์
องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ประกอบด้วยพื้นฐาน 5 ประการ คือ
1) การกำหนดทิศทาง (Direction Setting)
2) การประเมินองค์การและสภาพแวดล้อม (Environment Scanning)
3) การกำหนดยุทธศาสตร์ (Strategy Formulation)
4) การดำเนินยุทธศาสตร์ (Strategy Implementation) และ
5) การประเมินผลและการควบคุม (Evaluation and Control)
จากกิจกรรมการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์สถาบันพระไตรปิฎกศึกษา” ในครั้งนี้ ทั้งผู้บริหารและบุคลากร ต่างเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยไม่มีขาดแม้แต่ท่านเดียว อีกทั้งแต่ละท่านก็พยายามเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาสถาบันฯไปสู่อนาคตที่ทุกท่านอยากเห็น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยิ่งนัก ทำให้ได้ผลสรุปอันเป็นที่พึงพอใจของทุกท่าน ทั้ง วิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัดเป้าประสงค์ กลยุทธ์ โครงการ และผู้รับผิดชอบหลัก รวมทั้งการจัดทำ “แผนที่ยุทธศาสตร์ – Strategic Map” เพื่อให้เห็นกรอบทิศทางที่แต่ละส่วนงานและแต่ละบุคคลในสถาบันฯจะก้าวเดินไปพร้อมกัน
โดยสถาบันพระไตรปิฎกศึกษา ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพระไตรปิฎก” (Center of Excellence in Tipitaka)
และได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 รวบรวม อนุรักษ์ ปริวรรต แปล และผลิตงานวิจัยพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบการเผยแพร่และ การให้บริการวิชาการเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพ
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
ขออนุโมทนาขอบคุณท่านรักษาการผู้อำนวยการสถาบันพระไตรปิฎก และบุคลากรของสถาบันฯทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี อันเป็นปัจจัยสำคัญให้ได้แผนฯที่ทุกท่านปรารถนา รู้สึกเป็นเจ้าของ และพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมีทิศทาง ซึ่งนับได้ว่าเป็น “การเรียนรู้” สู่ “การพัฒนางาน” ของสถาบันฯอย่างแท้จริง
ส่วนผู้ดำเนินกิจกรรมเอง ก็นับเป็นอีกโอกาสที่ได้เรียนรู้และเพิ่มทักษะ “การจัดกระบวนการ” กับท่านผู้คงแก่เรียน ซึ่งต้องใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ แต่ก็ “มีความสุข” เมื่อเห็นสายตาแห่งความเข้าใจมากขึ้น (จากที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำแผน) และความพึงพอใจ (ที่หลายท่านบอกว่า – ไม่รู้มาก่อนว่าการทำแผนจะช่วยให้สิ่งที่คลุมเครือมาในอดีต มีความกระจ่างชัดมากขึ้น)
ขอบคุณภาพ : ทีมบุคลากรสถาบันพระใตรปิฎกศึกษาและศูนย์อาเซียน
Leave a Reply