“ควันหลง” เล่าเรื่อง “งานประสาทปริญญา มจร”

งานประสาทปริญญาประจำปีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2565 ผ่านพ้นไปแล้วด้วยความราบรื่น ท่ามกลางความภาคภูมิใจของคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ รวมทั้งพระนิสิตทั้งภายในประเทศและนานาชาติ อันนี้ไม่นับรวมประมุขสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งผู้ติดตามที่ปีนี้เดินทางมาร่วมรับปริญญาอีก 10 กว่าชาติ

“ผู้เขียน” เข้าไปสังเกตการณ์การจัดงานประสาทปริญญาประจำปีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” มาตั้งแต่ต้นเดือน เริ่มตั้งแต่การไปสังเกตการณ์การประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการจัดงานในครั้งนี้ หลังจากนั้นเริ่มเห็นการปรับภูมิทัศน์ทั้งสถานที่จอดรถที่รองรับได้นับหมื่นคน สถานที่พักของนิสิตที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด รวมทั้งสอบถามโรงแรม รีสอร์ทรอบ ๆ  “มจร” ส่วนใหญ่ถูกจับจองล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทุกปีบรรยากาศก็คล้ายคลึงลักษณะแบบนี้ ก่อนงาน 2-3 วันเริ่มเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการนิสิตบ้าง,ต่างประเทศบ้าง,ฝ่ายแผนบ้าง ลงสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมจัดงาน ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน ป้ายบอกทางเริ่มขึ้นแล้ว

อันนี้รวมทั้งแสงสีเสียงและ “ฝ่ายประชาสัมพันธ์” ที่ไปประจำอยู่ที่ตึก “มวก.” อันเป็นสถานที่ประสาทปริญญาตั้งแต่ไก่โห่

วันซ้อมจริง  “เจ้าคุณประสาร” พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ดูเสมือนเป็น “แม่งาน” ในการจัดงานประสาทปริญญาปีนี้ เพราะดูยุ่งและมีประชุมตลอดทั้งวันและไป “สั่งการ” อยู่ในตึก “มวก.” อยู่ตลอดทั้งวัน

แอบกระซิบถาม “เจ้าคุณประสาร” ว่า ปีนี้คงไม่มีเหตุการณ์ “เพดานฝ้า” หล่นใส่ “พระนิสิต” เหมือนปีก่อนนะครับ ท่านบอกว่า “ไม่มีแน่”

ในขณะที่รอบนอกหอฉัน “เจ้าคุณโชว์” พระสุธีวีรบัณฑิต ที่ดูด้านโภชนาการอาหารบอกว่าการกินปีนี้เหมือนเดิมอาหารเต็มที่รองรับจำนวนคนได้นับ “หมื่นคน” ไม่มีอด

“ผู้เขียน” เดินดูรอบ ๆ บางวันก็เห็น  “พระธรรมวัชรบัณฑิต” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยลัยเดินดุ่ม ๆอยู่รูปเดียวโดยไม่มี “ผู้ติดตาม” ตามสไตร์ของท่าน คนไม่รู้ก็นึกว่า “หลวงตา” มาจากไหนก็ไม่รู้ โชคดีคือ ท่านดูและตรวจดูความเรียบร้อยอย่างเดียว“ ไม่พูด” อะไรกับใคร บางทีเห็น “จับเสาไฟฟ้า” ด้วยความสงสัย แอบถาม “เจ้าหน้าที่” บางคนบอกว่า “ท่านกำลังอยากเปลี่ยนเสาไฟเป็นโซล่าเซลล์” ว่างั้น

ก่อนงานไม่ถึง 5 วัน “ผู้เขียน”  ได้รับการติดต่อจาก “พระอาจารย์เขมา”  จากมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเคยไปร่วมทำ MOU เอาไว้ ซึ่งตั้งแต่ 2สถาบันทำ MOU แล้ว การทำงานร่วมที่เป็น “รูปธรรม” ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 หรืออะไรก็ตามที

“พระวีระศักดิ์ ชยธมฺโม” หรือ “พระอาจารย์ต้า”  จากวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ คือ บุคคลที่ “พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส” หรือ พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติมอบหมายให้มาดูแล “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” คณะนี้ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับคณะสงฆ์รามัญนิกายเป็นอย่างดี โดยนัดหมายกันว่า “ผู้เขียนกับพระอาจารย์ต้า” จะไปรับที่สนามบินในวันที่คณะสงฆ์รามัญนิกายมาถึง เพื่อเดินทางมาดูบรรยากาศวันซ้อมรับปริญญาและวันรับปริญญาจริง รวมทั้งหากมีโอกาสจะพาพบกับคณะผู้บริหาร “มจร”

ความจริงเรื่องนี้ “ผู้เขียน” เองในฐานะคนไทยเชื้อสายมอญ หากจะพูดไปแล้วทำงานลักษณะนี้ “มีแต่เสีย” เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน เสียทั้งสมองคิด   คิดอย่างเดียวที่ทำคือ “อยากช่วยคณะสงฆ์รามัญ” เพราะเขาด้อยโอกาสทางการศึกษา อยากให้คณะสงฆ์มอญก้าวหน้าและทันสมัย ทันเหตุการณ์ เหมือนคณะสงฆ์ไทย หากคิดแบบเว่อร์หน่อยก็เพราะว่า คณะสงฆ์รามัญ คือ บุคลากรของพระพุทธศาสนา หาก พวกท่านมีความรู้ดี รู้พระธรรมวินัย การเผยแผ่ศาสนาก็จะเจริญและไปได้ดี ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับพระพุทธศาสนาโดยรวมนั่นเอง ในขณะเดียวกัน เสียเงิน “ทนลำบาก”  เสียเวลามาหลายปีก็เพราะคิดว่า ตนเองมีกินอยู่ใช้อยู่ทุกวันนี้  อยาก “ตอบแทน” บุญคุณศาสนา อยากตอบแทน “คุณผ้าเหลือง” จึงทำตรงนี้

แต่ยิ่งทำดูเหมือนจะ “หมดแรง” พยายามมาหลายปี “ยากยิ่งกว่า” เข็นครกขึ้นภูเขา แต่ “ผู้เขียน” โชคดีเรื่องหนึ่งคือ “ผู้ใหญ่” สนับสนุนเต็มที่เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยสงฆ์รามัญนิกายกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมทั้ง บุคคลภายนอกที่มิใช่คนของ “มจร” ด้วย

ตรงนี้คือ “กำลังใจ” สำคัญที่ต้องทำงานต่อ

คราวนี้เช่นกัน!!

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 65  เป็นวันซ้อมก่อนรับจริงหนึ่งวัน หลังจาก “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” จากมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา “ผู้เขียน” ได้พาไปดูการซ้อมรับปริญญา เพื่อให้ “พวกท่าน” เหล่านี้ได้ “นำไปแบบอย่าง” ในขณะเดียวกันเพื่อ “กระตุ้น” ให้มี “พลังใจ” ในการทำงานนำไปพัฒนามหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์มอญต่อไป

“ผู้เขียน” สังเกตเห็นพวกท่านดูตื่นเต้นและดูหวั่น ๆ  อาจจะไม่เคยเข้าเวทีใหญ่แบบนี้มาก่อนก็เป็นได้ เลยทำอะไรไม่ถูก ตอนแรกจะไม่เข้าไปนั่งขอดูรอบนอก และเนื่องจากวันนั้น พิธีซ้อมเสมือนจริง มีพระเจ้าหน้าที่ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้า เมื่อ “ผู้เขียน” ขอ คงเห็นแก่ “หน้าผู้เขียน” จึงอนุญาตให้เข้าไป แต่บอกว่า อย่าไปรบกวนพิธีซ้อม เมื่อผู้เขียนเห็น “เจ้าคุณประสาร” พระราชวัชรสารบัณฑิต ซึ่งรู้อยู่แล้วว่า “แม่งาน” จึงเดินไปแจ้งท่านว่าพา “คณะพระรามัญ” มาดูงาน ขออนุญาตนั่งชมด้านหน้า ท่านตอบด้วยความยินดีว่า “ดีเลย”

“ผู้เขียน” สังเกตเห็นบนเวที พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน เป็นประธานฝึกซ้อมรับปริญญาอยู่ จึงเดินไปแจ้งกับคณะสงฆ์รามัญนิกาย เพื่อให้ไปนั่งด้านหน้า พวกท่านลังเล จังหวะเดียวกันกับ “เจ้าคุณประสาร” เดินมาตามและชวนพร้อมจูงมือพวกท่านให้ไปนั่งด้านหน้า พร้อมกับแนะนำให้รู้จัก “มหาเปรียญประโยค9” รูปหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ รู้แต่ว่า อยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์และเคยอยู่ประเทศเมียนมามา 18 ปี พูดภาษาพม่าได้คล่องแคล่ว คอยเป็นคนพูดคุยและเล่าบรรยากาศ

การมีล่ามหรือพระไทยที่พูดภาษาของผู้มาเยือนได้แบบนี้ถือว่าเป็น “เสน่ห์เจ้าบ้าน” ลักษณะแบบนี้ “ผู้เขียน”เคยพบคนของ “วัดพระธรรมกาย” ตอนไปประเทศ เวียดนาม,อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั้งมองโกเลีย วัดธรรมกาย เขาก็มีเจ้าถิ่นหรือพระไทยที่ฝึกภาษาของประเทศนั้น ๆ คอยดูแลและต้อนรับ “มจร” ต้องสร้างบุคลากรแบบนี้เยอะ ๆ  เพราะหลายประเทศ ไม่นิยมใช้ “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษากลางก็มีมาก

ในขณะที่กำลังฟังเขาคุยกันเพลิน ๆ  “เจ้าคุณประสาร” เช่นเดิม ชวน “ดร.สุรพล สุยะพรหม” รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปให้มาร่วมถวาย “การต้อนรับ” ด้วย

“ดร.สุรพล สุยะพรหม” กับ “ผู้เขียน” สนิทสนมกันเป็นอย่างดีเพราะท่านคือ “อาจารย์สอน” ของผู้เขียน และมักชื่นชมผู้เขียนต่อหน้าผู้อื่นอยู่เสมอที่ “ผู้เขียน” ทำเรื่องมอญ ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรม มีประเพณีเก่าแก่ วัฒนธรรม ขนบธรรมประเพณีของไทยหลายประการล้วนมีรากเหง้ามาจาก วัฒนธรรมอญ รวมทั้ง “ราชวงศ์จักรี” ก็สืบเชื้อมอญด้วย ส่วนเรื่องศาสนาอย่าง “ธรรมยุติกนิกาย” รับแบบมอญมา “เต็มเหนี่ยว”

หลังจาก ดร.สุรพล สุยะพรหม สนทนากับคณะสงฆ์รามัญนิกายพอประมาณแล้ว หันมาถาม “ผู้เขียน”  ปีนี้มีหลวงพ่อจากรามัญมารับอะไรหรือไม่ ตอบท่านว่า “ไม่มี”

ก่อนจากกันท่านฝากบอกว่า “ปีหน้าอาจารย์จะดูแลให้ ช่วยขอให้หลวงพ่อมอญด้วย เพื่อถวายกำลังใจให้กับท่านในการทำงานพระศาสนา” 

หลังจากนั้น “ผู้เขียน” พาคณะสงฆ์รามัญนิกายขึ้นไปชมงาน “ถ่ายทอดสด” ซึ่งตอนนี้พร้อมสรรพหมดแล้ว เพราะ “สมหมาย สุภาษิต” เตรียมงานมาก่อนหน้านี้แล้ว 4-5 วัน หลังจาก “พี่หมาย” รู้ว่ามีพระนานาชาติมา “เข้าทาง”  เพราะคนทำรายการโทรทัศน์ย่อมรู้ว่า “แหล่งข่าว” มีคุณค่ายิ่งกว่าอะไร ยิ่งแหล่งข่าวหรือ “แขก” ที่มาจากแดนไกลยิ่งมีคุณค่า จึงชวนออกรายการโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษปนไทย มีผู้ดำเนินรายการ คือ พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนพระบางรูปที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ขอให้ “ผู้เขียน” เป็นล่ามแปลให้

ในฐานะคนทำงานทีวีเก่าเป็นโปรดิวเซอร์มา 15 ปี ไม่ปฎิเสธ..เพราะ หนึ่ง  มจร ได้ประโยชน์ สอง เพื่อเปิดโลกกว้างให้คนรู้จักคณะสงฆ์รามัญนิกาย

งานประสาทปริญญาประจำปี 2565 ของ “มจร” ปีนี้มีพระสังฆาธิการ ภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ที่สำเร็จการศึกษาทุกระดับชั้นจำนวนทั้งสิ้น 4,370 รูป/คน และมีผู้เข้าร่วมพิธีประสาทปริญญา จำนวนทั้งสิ้น 2,742 รูป/คน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการมอบถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จำนวน 64 รูป/คน และปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จำนวน 2 รูป/คน โดยมีพระมหาเถระและคฤหัสถ์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศกว่า 11 ประเทศเข้าร่วม และมีผู้เข้ารับเข็มเกียรติคุณทั้งชาวไทยและต่างประเทศอีก 8 ประเทศ เข้าร่วม

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดการศึกษาในประเทศประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 2 หน่วยวิทยบริการ และในต่างประเทศมีสถาบันสมทบอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและภาคอังกฤษ มีนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรี -โท -เอก มีจำนวนทั้งสิ้น 19,661 รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,253 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,373 รูป/คน นิสิตปริญญาเอก 2,035 คน ในจำนวนนี้มีนิสิตนานาชาติจำนวน 1,300 รูป/คน จาก 28 ประเทศ

วันที่ 10 และวันที่ 11 ธันวาคม 65  มีผู้คนทยอยเดินทางมาร่วมงานนับหมื่นคน ลานจอดรถที่ดูแล้วกว้างใหญ่แน่นไปด้วยรถหลากหลายชนิด มีรถบัสขนาดใหญ่เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับพระเถระที่คนเคารพนับถือว่า พระนิสิตบ้างหลายร้อยคัน

สรุปคือ “มจร” มีเสน่ห์ตรงนี้แหละ ที่ไม่เหมือนกับ “มหาวิทยาลัยอื่น”  ยิ่งตามซุ้มของนิสิตชนชาติพันธุ์ประเภทไทใหญ่ ปะโอ มอญ กะเหรี่ยง ยิ่งน่าดู เพราะนอกจากมีการจัดซุ้มที่สวยงามไว้ถ่ายรูปแล้ว บางซุ้มมีการแสดง การละเล่นด้วย โดยเฉพาะของชนชาติไทใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นชนชาติพันธุ์ที่มีนิสิตมาเรียนที่ “มจร” มากที่สุดถึง 300 กว่ารูป

และที่น่ายินดีคือว่า “ชนชาติไทใหญ่”  ก็มีมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นของตนเองที่ “มจร” เคยไปทำ MOU ไว้ด้วยเช่นกัน และเป็นชนชาติหนึ่งในประเทศเมียนมาที่มีประชากรและพระสงฆ์อยู่เป็นจำนวนมากและมี “ศักยภาพ” เท่าที่ฟังจากพระสงฆ์รามัญนิกาย บอกว่า.. “แม้แต่ในประเทศศรีลังกา จำนวนพระนิสิตของไทใหญ่ก็จะมีจำนวนมากกว่าชาติอื่น ๆ  เนื่องจาก ไทใหญ่มีพระสงฆ์เป็นจำนวนมากและสอง มีทุนในการศึกษา ไม่เหมือน “พระรามัญ” นิยมสร้างแต่วัดและเจดีย์ ไม่นิยมสนับสนุนการศึกษาแบบพระไทใหญ่มากนัก..”

ความจริงเป้าหมายหนึ่งของ “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” จากมหาวิทยาลัยรามัญรัฎฐะ เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เดินทางมาคราวนี้ก็คือ ขอเข้าพบ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หรือ พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ แต่เนื่องจากติดต่อมาแบบปัจจุบันทันด่วน พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส จึงมอบหมายให้ พระวีระศักดิ์ ชยธมฺโม  หรือ “พระอาจารย์ต้า  รับหน้าที่แทนพร้อมประชุมโต๊ะเล็กเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันต่อ หลังจาก “หยุดยาว” มานาน

ในขณะที่ “พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน”  ผู้เขียนพยายามติดต่อหลายครั้ง นัดกันหลายรอบ แต่  “เวลา” ไม่ลงตัวเจอไม่ได้พบกัน

งานประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬลงกรณราชวิทยาลัยปีนี้ผ่านพ้นไปแล้วด้วยความเรียบร้อย  “ปีหน้า” อาจจะแตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมาทั้งการจัดระเบียบร้านค้า ซุ้มถ่ายรูปหน้าตึกมวก.ที่เพิ่มสีสันสีชมพูอันเป็นสี “ประจำ” มหาวิทยาลัย บางคนหากไม่ทราบก็อาจมองว่า “ มจร” เปลี่ยนไปจากอิทธิพลของ “แพรี่”

หรือแม้กระทั้งยามค่ำคืน ขับรถเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยผ่านสระน้ำหน้าตึก มวก. เห็นไฟสว่างไสวสีสวยงาม ขาดอย่างเดียวคือ “ชิงช้าสวรรค์” ไม่งั้นเหมือนกับ “งานวัด”

ยุค “มจร” เปลี่ยนผ่านทั้งผู้บริหารที่มีการสลับปรับเปลี่ยนกันไปตามยุคตามสมัย มีการดึง “มือดี” คนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีม โดยมี “มือเก่า” คอยประคับประคอง งานอาจ “ติดขัด” บ้าง

แต่ “มจร” เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  มีการวางระบบจากรุ่นสู่รุ่นผ่านถึง 6 ยุคสมัยแล้ว การเปลี่ยนผ่านหรือการเปลี่ยนแปลง “ตัวบุคคล” ไม่มีผลมากเท่ากับ “ทัศนคติ” ที่ต้องบอกเชิงบวก

วันนี้เขียนเป็นเรื่องเล่าเล็ก ๆ  น้อย ๆ  พอให้เห็นภาพบรรยากาศคนทำงาน ทั้งเบื้องลึก เบื้องหลัง กว่างานจะออกมาดูดี ปรากฏภาพสวยงาม

ต้องยอมรับว่า “มจร” ทำงานกันเป็นทีม..

 

เล่าเรื่องโดย..อุทัย มณี

ภาพ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร

Leave a Reply