เรื่องเล่า:  โคก หนอง นา จังหวัดเพชรบูรณ์  “สัมผัส 2 สตรีผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่”     

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่  “โคก หนอง นา”  เปิดตัวโครงการในห้วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี 2563 โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย  เล่าว่า ตอนนั้นตนเองดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,264 ตำบล 25,179 แปลง

รวมทั้ง “จ้างงาน” นักศึกษา คนตกงานอีกประมาณ 1 หมื่นตำแหน่งทั่วประเทศ จนตอนหลังกระแสโคก หนอง นา กลายเป็น “ไวรัล” สร้างงาน สร้างธุรกิจ นำเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนได้อย่างแพร่หลาย ทั้งธุรกิจออกแบบ ขุดบ่อ ขายพันธุ์ต้นไม้  รับจ้างปลูกป่า ทำรีสอร์ต บางคนมีหัวด้านธุรกิจรับจ้าง การบริหารโคก หนอง นา แบบครบวงจร

“โคก หนอง นา”  ถือเป็นแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โดยเป็นการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด กักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ มีทั้งดิน น้ำ และอากาศที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม จนกลายเป็นครัวของโลก แต่ปัญหาดิน และน้ำกลับเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้แก่เกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อฤดูแล้งมาเยือนพื้นดินหลายแห่งมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไว้ให้ปวงชนชาวไทย กระทรวงมหาดไทย จึงได้น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่าน มาต่อยอดและส่งเสริมแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ ผ่านโครงการ “โคก หนอง นา ” เป็นการผสมผสานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน จนประสบความสำเร็จและมีผลผลิตหลากหลาย สร้างรายได้และอาชีพให้ครัวเรือน รวมถึงช่วยเหลือ แบ่งปันและเป็นต้นแบบให้ครัวเรือนและชุมชนได้เข้ามาศึกษาหลักกสิกรรมธรรมชาติ นำไปประยุกต์และปรับใช้ให้เข้ากับครัวเรือนของตนเอง

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” หลังจากออกจาก “จังหวัดพิษณุโลก” เดินทางมายังจังหวัดเพชรบูรณ์ ผ่านเทือกเขา ผ่านชุมชนหลายแห่ง รวมทั้ง “ผาซ่อนแก้ว” ท่ามกลางที่ฝนกำลังตกพรำ ๆ มองเห็นเทือก “เขาค้อ” ไกล ๆ โดยมี “ปุยเมฆ” ปกคลุมบาง ๆ

“จังหวัดเพชรบูรณ์” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนบนหรือภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 12,668 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 978,372 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก

สำหรับ “โคก หนอง นา” จังหวัดเพชรบูรณ์มีทั้งหมด  1,535 แปลง  แบ่งออกเป็นขนาด 1ไร่ มี 544 แปลง ขนาด 3 ไร่ 986 แปลง และขนาด 15 ไร่ มี 5 แปลง  หากคิดเป็นพื้นที่มี จำนวน3,577 ไร่  ปลูกต้นไม้ไว้ในแปลง 90,450 ต้น สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 4.5 ล้านลูกบาตรเมตร สร้างผู้นำต้นแบบได้ถึง 7,675 คน  ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมทำโคก หนอง นา มากที่สุดรองลงมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีแปลง “โคก หนอง นา” มากที่สุดในประเทศไทย เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,044 แปลง แบ่งเป็นขนาด 1ไร่และ 3 ไร่ มี  3,973 แปลง และขนาด 71 แปลง จนได้รับการขนานนามว่า “มหานครแห่ง โคก หนอง นา” ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีที่ปรึกษาปลัดกระกระทวงมหาดไทยที่เป็น “พระภิกษุ” ขับเคลื่อนนี้ถึง 2 รูป คือ พระพิพัฒน์วชิโรภาส และ พระปัญญาวชิรโมลี

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ”  ลงพื้นที่ไปดู “โคก หนอง นา” จังหวัดเพชรบูรณ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ทุกครั้งที่ไป “ประทับใจ” ถึงมิตรไมตรีและความสำเร็จที่ได้เห็นทุกครั้ง ครั้งนี้เช่นกัน

“พี่พล” จตุพล อ้นกลิ้ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็น “ไกด์กิตติมศักดิ์” อาสาพาลงพื้นที่ไปเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา  ของสุภาพสตรี “ดีกรีปริญญาโท”  ยอมหักดิบระบบ “ทุนนิยม” พาคู่ชีวิตไปใช้ชีวิตแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง”  ซึ่งทุกวันนี้เธอบอกว่าเรื่องเงิน “พออยู่ได้” แต่หากถามถึงความสุขระหว่างระบบทุนนิยมกับเศรษฐกิจพอเพียงเธอบอกว่า “สุขกว่า” เพราะตอบโจทย์ชีวิตให้เธอมากกว่า

 “เอ๋”  วิจิตรา กระทู้ ณ บ้านวังซอง ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์  เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบโคก หนอง นา  เป็นศูนย์เรียนรู้การแปรรูปด้วยเช่นกัน ภายในแปลงโคก หนอง นา นอกจากเป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว ยังมีร้านจำหน่ายกาแฟและผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ผงผักเคลออร์แกนิค ข้าวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

“แนวคิดที่จุดประกายให้ทำ เศรษฐกิจพอเพียงเพราะ คำว่าทฤษฎี 9 ขั้น เคยได้ยินมาจากการที่เข้าไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์ ที่อำเภอมาบเอื้องเมื่อปี 2567 เริ่มแรกเลยคือกลับมาอยู่บ้านเพราะรู้สึกว่าชีวิตในกรุงเทพฯ มันไม่ตอบโจทย์ ไม่มีเป้าหมาย และไม่มีความสุข จึงได้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านและหาช่องทางว่าจะทำอะไร ตอนอยู่กรุงเทพฯเริ่มเป็นออฟฟิศซินโดรมและรู้สึกว่าไม่อยากไปทำงานตอนนั้นอายุเพียง 37 ปี ตอนนั้นก็มีทรัพย์สินครบแล้วทั้งบ้านและรถแต่เมื่อมีแล้วก็ต้องขยับขยายไปเรื่อย ๆ อย่างรถที่มีเป็นรุ่นเก่าก็อยากจะซื้อรุ่นใหม่ทุกอย่างมันเป็นวัตถุ ณตอนนั้นที่คิดคือวัตถุเหล่านี้มันไม่มีจบสิ้น แล้วเป้าหมายที่เราต้องการมันคืออะไร ประกอบกับตอนนั้นแม่เสียชีวิตก็เลยกลับมาอยู่บ้านก่อน ตอนนั้นก็แจ้งกับเจ้านายก่อนออกประมาณ 3 เดือนเนื่องจากงานที่ทำอยู่เป็นประเภทวิศวะบวกกับการตลาดคนที่ทำงานนี้ต้องรู้เทคนิคพอสมควร ซึ่งได้เรียนจบด้านสถาปัตย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต จบปริญญาด้านบริหารที่ มหาวิทยาลัยรามคําแหง เรียนม. 4 ที่เตรียมอุดมศึกษา ใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯตั้งแต่เด็กๆไม่เคยคิดว่าจะต้องกลับมาอยู่ที่บ้าน ที่บ้านก็เป็นลูกคนเล็กที่เติบโตมาแบบสบาย ชีวิตในวัยเรียนและการทำงานไปได้ดีทุกอย่าง เมื่ออายุ 37 ปีก็เริ่มหักดิบไม่อยากอยู่ในระบบการแข่งขัน ได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ก็จริงแต่เนื่องจากเป็นงานบริการ เมื่องานมีปัญหาเราก็จะต้องสแตนบายตลอด แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องงานน่าจะเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเมืองกรุงมากกว่า เงินเดือนที่ได้ก็อยู่ได้อย่างสุขสบาย แต่ก็ไม่มีเงินเก็บ เพราะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ทั้งไปเที่ยวและซื้อของ เพราะตอนนั้นเราไม่มีลูกด้วย …”

วิจิตรา กระทู้  เล่าเบื้องหลังหักดิบกลับบ้านเกิดหันหลังให้กับระบบเศรษฐกิจในเมืองยึดเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเล่าต่อด้วยใบหน้าที่มุ่งมั่นว่า กลับมาอยู่บ้านก็มีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง และคุยกับพี่ที่เป็นข้าราชการว่า “กลับมาอยู่บ้านแล้วจะทำอะไรดี” สามีก็ทำงานอยู่ที่เดียวกันที่ค่ายโทรศัพท์ชื่อดัง เมื่อกลับมาก็เริ่มต้นจากการทำข้าวอินทรีย์แบบหว่านต้นเดียว อะไรที่เราเรียนรู้มามันก็ไม่ใช่แบบที่คิด ทำแผนธุรกิจมาด้วยแต่มันก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนเลย  จากปี 2557 จนถึงปัจจุบันปี 2567 ก็ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว คิดว่าสิ่งที่ทำมานั้นบรรลุเป้าหมายเกินครึ่ง หากพูดถึงเรื่องความสุขนั้นเต็ม100% ความสุขในการได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ

“ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตอนนี้ก็จะมี เคลออร์แกนิค ที่เรามุ่งมั่นทำและกำลังขอ อย. และชาเก๊กฮวยที่มีตลาดแล้ว เคลออร์แกนิคยังไม่มีตลาด แต่เราก็นำไปจำหน่ายในชุมชน และส่งให้กับอาจารย์ยักษ์ เราผลิตเคลที่เป็นราชินีผักได้เยอะและมีใบแก่เยอะจึงนำไปแปรรูปโดยมีที่ปรึกษา คือมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ และให้พื้นที่นำไปตากเป็นพาราโบลาโดม และยังมีงบจำนวน 15,000 บาท จึงทำโจ๊กข้าวกล้องเคล และเเคกเกอร์เคล แต่การจะนำไปจำหน่ายได้ต้องเข้าสู่มาตรฐาน อย. ทางเรามุ่งเน้นไปแบบค่อยๆก้าว ทางกลุ่มของเราไม่ได้ไปกู้เงินมาทำ เพราะถ้ากู้มาจะเป็นจุดดับของวิสาหกิจชุมชนเลย ตอนนี้เรามีองค์ความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งมีสมาชิกในทีมช่วยกันทำปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปด้วย ตอนนี้ทั้งตัวเราและกลุ่มก็อยู่ตัวแล้วยิ่งถ้ามีเวลาดูแลจะยิ่งได้เงินเยอะ ปีที่ผ่านมาเราได้เข้าประกวดหลายๆครั้งทำให้มีคนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น เป็นการประชาสัมพันธ์กลุ่ม มีการเข้ามาดูงานซึ่งสร้างรายได้ให้เรา ปีนี้จึงได้ลดในส่วนของงานกับภาครัฐ เนื่องจากเรามีตลาดแน่นอนคือโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และยังมีเครือข่ายที่เป็นคนกลางที่ทำเรื่องของโลจิสติกส์ ส่งออกสินค้าและทำเรื่องการเงินให้เรา ทางเราจะเน้นเป็นผู้ผลิต..”

เมื่อทีมงานถามว่าเริ่มเข้าร่วมโครงการโคกหนองนา ตั้งแต่เมื่อไร “วิจิตรา กระทู้” เล่าต่อว่า  เริ่มเข้าโครงการโคกหนองนาปี 2564 ตอนนี้มีบ่อ 2 บ่อ เราได้ที่เก็บน้ำได้ที่โคกทางเราเน้นปลูกพืชแบบเกษตรผสมผสาน อีกทั้งที่นี่ที่นาแห่งนี้เป็นที่ลุ่มถ้าหากถึงหน้าฝนไม่สามารถปลูกอะไรได้นอกจากข้าว เมื่อได้ที่โคกเพิ่มขึ้นเราจึงปลูกพืชผักส่งให้ตลาดที่เรามีอยู่ ได้แหล่งน้ำและทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นสวนฟาร์มเปิดวันศุกร์ เสาร์ – อาทิตย์ ช่วงฤดูท่องเที่ยวจะเป็นเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ จะมีแปลงเก๊กฮวยสวย ๆ และแปลงพืชผักให้ดู นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย ทั้งเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการโคกหนองนา ศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชดำริ ที่เราได้รางวัลชนะเลิศเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

“ความสำเร็จที่ได้จากการทำโครงการโคกหนองนานี้นอกจากความสุขแล้วเรายังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนที่มาดูงาน ที่เราได้รางวัลศูนย์เรียนรู้นั้น เชื่อไหมว่า คู่แข่งของเราคืออบต.ที่ใหญ่มากซึ่งเขาของบประมาณแล้วมาลงฐานความรู้ 19 ฐานและอลังการมากในขณะที่เรามีฐานเรียนรู้หลักๆอยู่แค่ 6 ฐานแต่สิ่งที่เราชนะเขาได้คือ ประสบการณ์จริงและการได้ถ่ายทอดตั้งแต่ก้าวแรกที่เราทำมีทั้งทุกข์และสุข มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี สิ่งที่เราประสบความสำเร็จคุณก็นำไปใช้ ส่วนเรื่องที่เราล้มเหลวก็นำไปเป็นบทเรียน เปรียบเสมือนเป็นต้นแบบให้เขาได้เดิน ไม่เหมือนกับตอนที่เอ๋มาแรก ๆ เอ๋ไม่มีใครชี้แนะแนวทางนอกจากไปอบรมกับอาจารย์ แล้วไม่มีใครที่เป็นต้นแบบให้ได้เลย..”

ก่อนกลับ “เอ๋” ฝากทีมงานช่วยหาแหล่งบริจาคหรือติดตั้งโซล่าเซลล์ พร้อมกับอยากให้ภาครัฐช่วยเรื่องของการแปรรูป เทคโนโลยีที่ใช้ในการแปรรูป เนื่องจากแปลงโคก หนอง นา และ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ที่ตั้งขึ้นมา ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเรื่อง “ตลาด” แต่ติดปัญหาเรื่องการแปรรูปและการป้อนสู่ตลาดไม่ทัน ทำให้หลายรายต้อง “ถอย” ใช้พื้นที่ไปทำอย่างอื่น

“พี่พล” ไกด์กิตติมศักดิ์จากสำนักงานพัฒนาชุมชน ขับรถอ้อมไปอีกฟากหนึ่งของตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านและคลองชลประทานเพื่อไปหาแปลง “ฮักเด้อ” โคก หนอง นา

“ฮักเด้อ” โคก หนอง นา เป็นของ “น้ำค้าง คำจันทร์” บ้านหนองหวน ต.ห้วยสะแก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ผู้สานต่อ “ความฝัน” ของสามีผู้จากไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เธอเล่าว่า เริ่มทำโคกหนองนาเมื่อปี 2564 ด้วยงบเงินกู้จำนวน 3 ไร่ ตอนนั้น สามีเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับนโยบายจากอำเภอและมาคุยกันว่า “ทางอำเภออยากให้เป็นผู้นำร่องของหมู่บ้านเป็นแบบอย่างของชุมชน”จึงได้ประชุมร่วมกับลูกบ้านแต่ลูกบ้านก็ยังไม่มีใครอยากทำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนมากเป็นพื้นที่ สปก. ส่วนของเรามีโฉนด ก็เลยตกลงกันว่า “จะทำเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านดูก่อน” ผลไม้ทั้งมะพร้าว และกล้วยนี้ปลูกยังไม่ครบ 3 ปีแต่อุดมสมบูรณ์มาก พื้นที่นี้เดิมเป็นป่าข้าวโพดและน้ำท่วม จึงได้ขุดบ่อและทำคลองไส้ไก่ ตามรูปแบบจาก พช. จำนวน3 ไร่ ทำกันเองบางครั้งลูก 2 คนก็จะมาช่วย หลังจากขุดบ่อได้ไม่นานสามีที่เป็นหลัก ก็ได้เสียชีวิตลง  เนื่องจากเป็นโรคมะเร็ง จึงลงมือทำเอง สร้างเอง โดยมีสามีเป็นแรงผลักดัน เพราะเขาเริ่มไว้

“เดิมที่ดินตรงนี้ปลูกข้าวโพดเป็นพืชเชิงเดี่ยว ทำได้เฉพาะหน้าแล้ง พอถึงฤดูฝนน้ำท่วมก็จะท่วม ทำอะไรไม่ได้ต้องรอหน้าแล้งอย่างเดียว ตอนนี้พืชหลักยังไม่มีผลผลิต ยังไม่มีรายได้ ก็จะมีเพียงรายได้จากกล้วยบ้าง มะละกอบ้างและพืชผักสวนครัวที่เหลือกิน แต่การทำโคกหนองนานี้ช่วยให้มีกินมีใช้ มีแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ตัวเองชอบและมีความสุขแบบนี้มากกว่า   ซึ่งแปลงนี้จะมีคนเข้ามาดูงานเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งมีเครือข่ายมาเอามื้อสามัคคี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กัน  ในบ่อก็เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาบึก ปลายี่สก ปีหนึ่งเก็บขายครั้งหนึ่ง  ตอนนี้คิดกับลูก ๆ ว่า อยากทำโฮมสเตย์ เพื่อรายได้จะได้เพิ่มมากขึ้น และอยากแปรรูปผลิตภัณฑ์ในโคกหนองนาของเรา  ซึ่งการทำโคก หนอง นา จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่หัวใจและความมุ่งมั่นเป็นสำคัญ”

บรรยากาศแปลงโคก หนอง นา ของ  “น้ำค้าง คำจันทร์”  มีบรรยากาศที่ร่มรื่นออกแบบได้สวยงาม มีบ่อปลา 2-3 บ่อ หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ “จังหวัดเพชรบูรณ์” มาทำกิจกรรมบ่อยครั้ง เนื่องจากมีบ้านพัก “โฮมสเตย์” มีเรือนรับรองที่ร่มรื่น ทิวทัศน์รอบข้างเหมาะกับเป็นสถานที่พักผ่อน มองไปไกล ๆ เห็นทิวเขาทอดยาวสวยงาม สัมผัสกับรอบ ๆ  บรรยากาศเป็นท้องทุ่งนา บนคันนาปลูกไม้เศรษฐกิจไว้

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านและพระภิกษุที่ทำแปลงโคก หนอง นา หลายครั้ง ทุกครั้งเวลามาจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่เคยผิดหวัง จังหวัดเพชรบูรณ์ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผลการดำเนินงานแปลงโคก หนอง นา ที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ..

 

Leave a Reply