“ธรรมนาวาวัง” ในมุมมองของ “พระมหานรินทร์” อดีตเพจ alittlebuddha ในตำนาน!!

วันที่ 11 กันยายน 2567  มหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ. 9 อดีตแอดมินเพจ alittlebuddha  ในตำนาน ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริการในฐานะเจ้าอาวาส วัดไทยลาสเวกัส    ได้วิพากษ์วิเคราะห์  “หนังสือธรรมนาวาวัง” รายละเอียดมีดังนี้

กรณีหนังสือ “ธรรมนาวา วัง” ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ชี้ให้เห็นว่า มีการทำงานที่ข้ามขั้นตอน เล็งผลเลิศเกินไป จนมองข้ามจุดบกพร่อง มองเพียงมุมเดียว แล้วนำเอามุมมองของตนนั้นไปขยายผลใช้กับสังคมไทยทั้งระบบ แถมยังไม่มีการตรวจสอบใดๆ เห็นเป็นเพียงดี ๆ ก็ใส่เข้าไป ไม่มีการสำรวจสภาพสังคมไทยว่าแต่ละที่แต่ละแห่งแต่ละกลุ่มแต่ละบุคคล มีความแตกต่างกันอย่างไร การจะใช้พระธรรมคำสอน “เพียงกำมือเดียว” กับทุกคน เหมือนเป่าคาถาพัวะเดียวแล้วจบเหมือนการปลุกเสกพระเครื่องนั้น ทำไม่ได้ ไม่บังเกิดผล ไม่งั้นพระพุทธองค์ไม่ต้องสอนพระธรรมนานถึง 45 ปี ก็เทศน์เพียงกัณฑ์เดียวแล้วพิมพ์แจกก็เสร็จแล้ว หรือไม่ก็เทศน์ซ้ำๆ กัณฑ์เดียวทุกวัน ซึ่งก็ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงกระทำเช่นนั้น

แต่ที่ทรงต้องเทศน์เปลี่ยนไปทุกวัน จนนับได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น ก็เพราะแต่ละบุคคลที่เข้ามารับฟังพระธรรมเทศนานั้น มีอุปนิสัยใจคอและบารมีธรรมแตกต่างกัน ดูแต่พระธรรมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งพระทั้งห้ารูปเหล่านี้บวชเรียนมาด้วยกัน อยู่กับพระพุทธเจ้ามานานหลายปี เป็นพระธรรมเทศนายาวที่สุดด้วย แต่สุดท้ายก็ได้บรรลุเพียง “รูปเดียว” คือท่านพระโกณฑัญญะ ที่เหลือไม่มีใครได้บรรลุเลย ในตอนท้ายพระชนม์ชีพก็เช่นกัน ทรงแสดงธรรมแก่สุภัททปริพาชก ก็ไม่ได้บรรลุอะไรเลยแม้แต่โสดาบัน นั่นเป็นพระพุทธประวัติพื้นๆ ที่ใครๆ ก็อ่านได้ แต่แปลกใจว่า คนทำงานใหญ่ระดับประเทศ กลับมองข้ามไป ไม่สนใจในบริบททางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ คิดว่าดีแล้วก็เอาความคิดดีแต่ฝ่ายเดียวนั้น “อัดยัดเข้าไป” ในสังคมไทย ซึ่งสลับซับซ้อนกว่าสมัยพุทธกาลมากมายนัก ความปั่นป่วนจึงเกิดขึ้น กลายเป็นความเสียหาย และจะกลายเป็นบาดแผลในสังคมพุทธไทยไปอีกนาน

การทำงานในทางราชการที่เกี่ยวกับหลักสูตรหรือตำรับตำรานั้น ถ้าจะนำมาเป็นคู่มือการศึกษาของประชาชนทั้งประเทศ ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์อย่างรอบรู้ มาช่วยกันดูแล เพื่อความสมบูรณ์ในเนื้อหาและอุดช่องโหว่ให้น้อยที่สุด คือดูกันหลายตา แล้วจึงค่อยรับรองให้นำไปใช้ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ ดังที่เราเคยได้เห็นว่า หนังสือทุกเล่มที่จะนำไปใช้สอนในสถาบันการศึกษานั้น จะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาหรือหน่วยงานที่กำกับดูแล มิเช่นนั้นจะนำไปใช้ไม่ได้เด็ดขาด ถือว่าผิดกฎหมายเลยทีเดียว

แต่กรณีหนังสือ “ธรรมนาวาวัง” นั้น จู่ๆ ก็มีการอ้าง “เบื้องสูง” นำออกแจกจ่ายโดยองคมนตรี โดยที่ “มหาเถรสมาคม” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมคำสอนในทุกระดับ กลับไม่ได้รับรู้ในเรื่องเหล่านี้เลย ไม่มีการนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อรับรอง จู่ๆ ก็อ้างในหลวงแล้วส่งตรงถึงมือพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศ รวมทั้งชาวไทยอีกมากมาย

พอเกิดปัญหาขึ้นมา ก็เกิดคำถามว่า แล้วมหาเถรสมาคมไปอยู่ไหน ทำไมไม่มาดูแล ก็ได้คำตอบว่า จะดูแลได้อย่างไร เพราะมีอำนาจสูงกว่ามหาเถรสมาคมเข้ามาดูแลแทน ถ้าแบบนี้มหาเถรสมาคมก็ไม่มีความหมาย เพราะมิได้มีบทบาทหน้าที่ในด้านพระธรรมวินัยอะไรเลย มีแต่ตำแหน่งเฉย ๆ คอยแต่แต่งตั้งพระสังฆาธิการ ย้ายโน่นย้ายนี่ แต่พระธรรมวินัยถูกย้ายไปย้ายมา กลับมองไม่เห็น แบบนี้ก็ไม่ใช่หน่วยงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแล้วล่ะ

แม้แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นหน่วยงานเผยแพร่หนังสือเล่มนี้กับเขาด้วย ก็ยังไม่กล้าจะแสดงอะไรออกมา จะว่าไม่รู้ก็คงไม่ใช่ มันยังไงๆ อยู่ การร่วมเผยแพร่ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิด ผิดถูกก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพราะถลำตัวเข้าไปแล้ว

ปัญหาของคณะสงฆ์ไทยในเวลานี้กำลังมาถึงตรงจุดที่ “ไม่มีหางเสือ” คอยกำกับดูแล ปล่อยให้ “วัง” ดำเนินการเองทั้งหมด เป็นผลพวงมาจากการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ให้สำนักพระราชวังมีอำนาจเหนือมหาเถรสมาคม โดยไม่ต้องมีหน่วยงานใดคอยตรวจสอบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จู่ ๆ ก็มีพระราชกิจจานุเบกษาบ้าง หนังสือประเภทธรรมนาวาวังบ้าง ออกมาสู่ตลาด โดยที่มหาเถรสมาคมหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ไร้บทบาทที่จะทำการตรวจสอบหรือแก้ไข เพราะไม่มีอำนาจนั่นเอง

แต่พระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมิได้อิงอยู่กับอำนาจ แต่อิงอยู่กับความถูกต้องสอดคล้องกับพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ ซึ่งครูบาอาจารย์แต่โบราณได้สืบสานผ่านมาถึงมือพวกเราในรุ่นหลัง การศึกษาอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมจึงทำให้เกิดความรอบรู้ และจะก่อให้เกิดเป็นความรอบคอบในการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้ก้าวไปสู่ยุคสมัยใหม่ โดยไม่ขัดแย้งกับแนวทางสมัยเก่า ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้แล้วว่า “เป็นเถรวาท”

การจะใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ช่วยให้กิจการด้านนี้สำฤทธิ์ผล แม้จะมีเจตนาดีก็ตาม ดังที่เห็นและเป็นไปแล้ว แน่นอนว่า เมื่อผิดแล้วก็ต้องแก้ แต่จะแก้ไขอย่างไร ใครเป็นคนผูกคนนั้นก็ต้องแก้ ตัวพระต้นเองนั้นก็ทราบว่าออกมายอมรับแล้วว่า บางแห่งผิดพลาด บกพร่อง แต่หน่วยงานที่ไปรับรองเอาความผิดพลาดบกพร่องของพระต้นนั้น จะออกมายอมรับอย่างไร และที่สำคัญ เมื่อหนังสือชุดนี้มีความผิดพลาดบกพร่อง ก็ต้องมีการเก็บคืน ไม่ปล่อยให้ตกค้างอยู่ในสังคมไทย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตข้างหน้า

ทำได้เช่นนี้ จึงจะถือว่ามีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง

Leave a Reply