“ณพลเดช”โอดศพล้นวัด! ชม “ธรรมศาสตร์” นำเข้าวัคซีนเหมือนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 09.00 ที่วัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร และว่าที่ผู้สมัคร สก. เขตสัมพันธวงศ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยามนี้ถือเป็นยามไม่ปกติของประเทศไทยและอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งวันนี้ตนได้มาเป็นประธานในการฌาปนกิจศพ ของนายประสิทธิ์ อดีตประธานชุมชนคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งก่อนที่นายประสิทธิ์จะเสียชีวิต ได้โทรมาหาตนว่าได้ไปตรวจโควิดที่ รพ.แห่งหนึ่ง ผลปรากฏเป็นลบ หลังจากนั้นอีกหนึ่งวันมีคนในชุมชนแจ้งว่า นายประสิทธิ์ เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อโควิด

ตนยังไม่เข้าใจถึงการตรวจของโรงพยาบาลแห่งนั้นว่าตรวจอย่างไรทำให้ต้องรีบจัดการเผา ในเวลา 09.00 น. ในวันนี้ สิ่งนี้สะท้อนถึงความตายไม่มีนิมิตหมาย และที่น่าตกใจคือญาติพี่น้องในครอบครัวติดกันทั้งบ้าน ทำให้ต้องกักตัวการเผาศพจึงเป็นการพลัดพรากที่รวดเร็วแม้กระทั่งการเผาศพบุคคลอันเป็นที่รักก็ไม่มีโอกาสที่จะมาทำความเคารพศพในวาระสุดท้าย ตนจึงขอวอนให้รัฐบาลเร่งการนำวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนอย่างรวดเร็วเพราะอย่างน้อยคนตายก็อาจจะไม่ถึงกับเสียชีวิตหากได้รับวัคซีน

ดร.ณพลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้เข้าไปกราบเจ้าอาวาสพระพิเรนทร์ ถึงปริมาณศพที่นำมาเผาในวัดในแต่ละวันทราบว่า มีปริมาณผู้เสียชีวิตมาต่อคิวกันมาก ทำให้ขณะนี้ต้องสั่งซ่อมเครื่องเผาศพอีกหนึ่งเครื่องซึ่งจะนำมาติดตั้งในเดือนหน้า ขณะเดียวกันวัดก็ต้องระดมทุนกันเองเพื่อซื้อเมรุเผาศพ ซึ่งต้องซื้อในราคา 2 ล้านกว่าบาท ทั้งนี้หลายศพที่นำเข้ามาเผาเป็นศพไร้ญาติ วัดก็ต้องมีต้นทุนที่จะต้องเผาศพ ซึ่งต้นทุนที่สำคัญคือน้ำมันดีเซล ซึ่งต้นทุนต่อครั้งอาจใช้น้ำมันถึง 50 ลิตร และต้นทุนในการดำเนินการต่างๆ อาจมากถึง 5,000 บาทต่อศพ ซึ่งตนเห็นว่าภาครัฐควรมาให้การสนับสนุนน้ำมันเผาศพและงบประมาณในการซ่อมเมรุ หรือบางครั้งอาจจะขอการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันต่างๆ ในการสนับสนุนน้ำมันเพื่อช่วยเหลือศพไร้ญาติก็ได้

ชื่นชม”ธรรมศาสตร์”ปลดล็อกนำเข้าวัคซีนเหมือนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ดร.ณพลเดช ยังได้กล่าวชื่นชมกรณีที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติโดยเอกฉันท์ให้ออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 เพื่อประกาศภารกิจและอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทั้งในประเทศ และต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดหา นำเข้า หรือขึ้นทะเบียน บรรดาสิ่งจำเป็นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน เวชภัณฑ์ เป็นการประกาศในทำนองเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งล่าสุด รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Arnon Mamout ว่าสภามหาวิทยาลัยได้มีมติดังกล่าวแล้ว

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลอยู่ในสังกัด ได้เปิดช่องทางเพื่อนำวัคซีนเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะขณะนี้หากจะมองวิถีการแก้ปัญหาโควิด โดยเฉพาะ อังกฤษและเยอรมัน เขาใช้วิธีแบบ Function approach คือจัดการโควิดแบบกิจกรรม ไม่ได้จัดการแบบ Area approach โดยการกำหนดเขตสีเขียว สีแดง หรือแดงเข้ม เพราะการกำหนดรูปแบบการจัดการแบบพื้นที่ที่เป็นรูปแบบสี จะทำให้การออกนโยบาย ประกาศต่างๆ จากภาครัฐกระทบกับธุรกิจต่างๆ อย่างเป็นลูกโซ่

“เห็นว่าการนำวัคซีนเข้ามาอย่างเร่งด่วนเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการแจกจ่ายให้กับบริษัทเอกชน ที่เขามีความจำเป็นที่จะต้องนำมาฉีดให้ความปลอดภัยกับพนักงานของเขา เขาก็จะปลอดภัยธุรกิจก็จะสามารถเคลื่อนไปได้ แม้จะติดแต่ก็ไม่ถึงตาย รักษาตัวให้หายในเวลาอันสั้นด้วยยาและการให้การแนะนำจากแพทย์ที่อาจจะใช้วิธี Online สิ่งนี้ตนเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินคู่ขนานไปกับการจัดการโควิด เราอย่าปล่อยให้ธุรกิจที่เขาดำเนินการอยู่ล้มลงเลย เพราะจะกระทบต่อภาษีที่จะเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลที่กำลังใช้ภาษีในการขับเคลื่อนประเทศ บางประเทศยอมที่จะทุ่มงบประมาณเพื่อให้ธุรกิจของภาคเอกชนอยู่ได้โดยการอุ้มภาคเอกชนโดยตรง ระหว่างนี้เราก็ดำเนินการแก้ปัญหาโควิด19 ไปด้วย อย่างนี้ประเทศก็จะสามารถเดินไปได้ ตนรู้สึกภูมิใจที่เป็นนักศึกษาในรั้วธรรมศาสตร์ อยากจะให้หลายๆ มหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลในสังกัดปลดล็อกแก้ระเบียบที่จะเป็นช่องทางการนำเข้า จะทำให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ก็จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้” ดร.ณพลเดช กล่าว

Leave a Reply