อำเภอเมืองพิษณุโลก จัดทำโครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดึงภาคีเครือข่ายร่วมบูรณาการ

 วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. นายนิสิต  สวัสดิเทพ  นายอำเภอเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคผู้นำศาสนา พระครูสุนทรโรจนคุณ เจ้าคณะตำบลอรัญญิก ภาคราชการ (ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ) ภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม (ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่(กำนัน) ผู้แทนคณะกรรมการสตรี)  ร่วมประชุมหารือจัดทำข้อเสนอโครงการ Project Brief โครงการอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ และสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565  ณ ห้องประชุมอำเภอเมืองพิษณุโลก

 นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวว่า หลังจากทีมอำเภอเมืองพิษณุโลก ผ่านฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา นายอำเภอและทีมงานภาคีเครือข่ายมีปณิธานร่วมกันที่จะ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ด้วยการสร้างผลงานในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลโอกาส ศักยภาพ ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และการรับฟังปัญหาความต้องการเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จัดทำเป็นโมเดลต้นไม้แห่งปัญหาของอำเภอ เพื่อนำไปสู่การการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ เช่น ความยากจน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาขยะ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องนำความรู้ ความสามารถ ทัศนคติที่ดี และความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคีเครือข่าย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา และทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สนองพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เพื่อพัฒนาและยกระดับการการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันเสนอโครงการ “ปลุกพลังความคิด ปรับวิถีชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนเมืองพิษณุโลกสู่ความยั่งยืน (SDGs)”

โครงการดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ มีกิจกรรมซึ่งจะดำเนินการทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อาทิเช่น  การปลุกพลังความคิดของคน การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ ต่อยอดโคกหนองนา ขยายผลจากส้มซ่าสู่ท่าโพธิ์ แปลงต้นแบบความพอเพียงบริษัทเพื่อสังคม การบริหารจัดการขยะครบวงจร ตลาดประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น อันจะเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยทำให้พื้นที่ทุกตำบล หมู่บ้าน ในอำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายสหประชาชาติและอุดมการณ์ของคนมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้พี่น้องประชาชน

Leave a Reply