“มูลนิธิต่อต้านการทุจริต-มจร” สร้างพระช่อสะอาดรุ่น2 เสริมสุจริตวัฒนธรรมชุมชนและสังคมไทย

มูลนิธิต่อต้านการทุจริตจับมือมหาจุฬาฯ ผนึกกำลังพัฒนาพระสงฆ์ช่อสะอาด เสริมสร้างสุจริตวัฒนธรรมในชุมชนและสังคมไทย

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม พ.ศ.2562 มูลนิธิต่อต้านการทุจริต นำโดยศาตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ผนึกกำลังกันพัฒนาพระสงฆ์ช่อสะอาดรุ่นที่ 2 โดยจากการคัดเลือกจากหมู่บ้านช่อสะอาดจำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้หลังจากการพัฒนาแล้ว พระสงฆ์เหล่านี้จะกลับไปร่วมพัฒนาบ้าน วัด และโรงเรียน ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่อไป

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ในฐานะประธานโครงการฯ กล่าวว่า การที่พระสงฆ์หาญกล้าออกไปพัฒนาชุมชนและสังคมตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้านั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาภายในจนดวงจิตมีความสงบเย็น มั่นคงแน่วแน่ จนควรค่าและเหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน

“เหตุผลของการทำเช่นนั้น เพราะพระสงฆ์ที่ออกไปรับใช้ชุมชนและสังคมจะต้องเผชิญหน้ากับโลกธรรมทั้งที่เป็นอารมณ์ที่นำมาซึ่งความพอใจและก่อให้เกิดความไม่พอใจ จิตที่ฝึกมาอย่างดีย่อมสามารถรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น แล้วตั้งใจทำงานต่อไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนและสังคม” พระมหาหรรษา กล่าวและว่า

การพัฒนาพระสงฆ์ช่อสะอาดรุ่นที่ 2 ก็ใช้บาทฐานในการพัฒนาตามแนวทางนี้ โดยเริ่มต้นจาก (1) การให้สติ ( Mindfulness) เพื่อเติมเต็มพลังแห่งการตื่นรู้ (2) การปรับฐานคิด (Mindset) เพื่อเปิดมุมมองเชิงบวกต่อการทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ (3) การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง (Right Understanding) ทั้งวิถีโลกวิถีธรรม ทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติ (4) การพัฒนาทักษะให้สามารถออกแบบเครื่องมือต่างๆ ให้สอดรับการใช้งานในชุมชน และ (5) การเสริมสร้างเครือข่ายในการทำงานกับภาคประชาสังคมอื่นในสังคมไทย

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า พระสงฆ์ช่อสะอาดที่ผ่านการฝึกฝนและพัฒนา จะสามารถมองบริบทชุมชนต่างๆ จนสามารถออกแบบกลยุทธ์ แล้วสร้างกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แล้วทุ่มเทกายใจทำงานรับใช้ชุมชนบ้านเกิดของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิผล

ศาตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กล่าวว่า องค์ประกอบสำคัญที่เป็นฟันเฟืองของการพัฒนาชุมชน คือ “บวร” ได้แก่บ้าน วัด และโรงเรียนหรือราชการ นี่คือที่มาของพยายามการตอบโจทย์ที่ว่า เพราะเหตุใดชุมชนจึงต้องออกแบบวัดขึ้นมาเป็นประกอบหลักหนึ่งในสามสถาบันที่ร่วมเสริมสร้างชุมชนสันติสุข

“สถาบันวัดจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยพัฒนาชุมชุม การเกิดขึ้นของวัดจึงเกิดจากเจตนารมณ์ของชุมชน เพื่อให้วัดช่วยตอบโจทย์ชุมชน ประสานสมานชุมชุนให้สามารถผนึกกำลังกันทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนให้เจริญรุ่งเรือง” ศาตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กล่าวและว่า

เพราะเหตุใดชุมชนต้องสร้างวัด รักษาวัด อุปถัมภ์ค้ำชูดูแลวัด ก็เพื่อให้วัดกลับมาดูแลรักษาชุมชน และถ้าหากวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว มิอาจจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล คำถามคือ แล้วชุมชนจะดูแลรักษาวัดไปเพื่อเหตุผลอันใด เพราะบุญกุศลนั้น ถูกซ่อนตัวอยู่ภายใต้คุณค่าแท้ที่วัดและสังคมช่วยกันสร้างความหมายขึ้นร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พระสงฆ์ที่ได้รับการพัฒนาและฝึกอบรมอย่างดีแล้ว หลังจากนี้ จะได้นำโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์พื้นที่อย่างรอบด้านออกไปทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนช่อสะอาดครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยมีมูลนิธิต่อต้านการทุจริต หลักสูตรสันติศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานต่อไป

Leave a Reply