สัมภาษณ์พิเศษ :“เจ้าคุณประสาร” หลังผลงานวิจัย  “มจร”  ขึ้นสู่ฐานนานาชาติ “SCOPUS”

หลังเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา วารสาร Journal of International Buddhist Studies : JIBS ของสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” ได้รับการขึ้นสู่ฐานวารสารข้อมูล SCOPUS นับว่าเป็นวารสารฉบับแรกของมหาจุฬา ฯ และเป็นวารสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทยที่ได้รับการยอมรับในฐานวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติของ SCOPUS ซึ่งการยอมรับผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้ ทำให้  “มจร” ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นที่ยอมรับขึ้นอีกระดับหนึ่งในเวทีสากล ซึ่งการที่ “SCOPUS” ยอมรับผลงานวิจัยของ มจร ในคราวนี้ก็เปรียบเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมได้รับการรับรองจาก ISO หรือ HACCP ฉะนั้น ส่งออกผลผลิตได้ทั่วโลก..

เพื่อให้เกิดความกระจ่างเรื่องนี้ มีความเป็นมาอย่างไร และ ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รู้สึกอย่างไรบ้าง ทีมข่าว “Thebuddh” ได้ติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์พิเศษเรื่องนี้กับ พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร”  รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ในฐานะที่กำกับดูแลสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ โดยตรง

“เจ้าคุณประสาร” ได้เล่าถึง พัฒนาการของพันธกิจด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มุ่งสู่ความเป็นนานาชาติ ว่า  จุดเริ่มต้นเรื่องนี้บรรจุไว้ตั้งแต่ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยระยะที่ 10 แล้ว โดยระบุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ที่มุ่งพัฒนาสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์ประสานและทำวิจัยด้านพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ  ต่อเนื่องมาถึงแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ ระยะที่  11  (พ.ศ. 2555 – 2559 ) ซึ่ง ปรากฎในยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการวิจัยทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง  พอมาถึงแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะที่ 12  (พ.ศ.2560  – 2564 )   ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 2  ว่า พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์คามรู้และนวัตกรรมด้านพระพุทธศาสนาที่บูรณาการกับศาสตร์อื่น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม ประเทศชาติ  จนมาถึงปีพ.ศ. 2565

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยมติสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ใช้แผนปฏิบัติการ พ.ศ. 2565  (แผนเฉพาะกิจ) ระหว่างรอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  ประกาศใช้  ในยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัย ยึดหลัก CAT  คือ พร้อมรับ (Cope)  ปรับตัว (Adapt)  และเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต (Transform)  พร้อมรับ (Cope)  คือ การสังเคราะห์องค์ความรู้จากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยได้ทำมาทั้งหมด  และวางระบบและกลไกการส่งเสริม การเผยแพร่งานวิจัยในระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับ  ปรับตัว (Adapt)  คือ  พัฒนารูปแบบงานวิจัยไปสู่งานวิจัยแบบ R & D  (Research and Development) นำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา นำไปใช้ในการประกอบสัมมาอาชีพ นำไปใช้ในการใช้ชีวิตประจำวัน  เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต (Transform)  เป็นการเอาผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดของมหาจุฬา  และองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย R & D มาต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างพุทธนวัตกรรมตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนั่นเอง

“ปัจจุบันนี้ มหาจุฬา อยู่ในช่วงแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯระยะที่ 13  ซึ่งเราได้ใช้แผนนี้มา 1 ปีแล้ว  ในแผนฯ 13 ฉบับนี้ เป้าหมายเมื่อสิ้นสุดแผนจะอยู่ที่ “การเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” โดยในแผนพัฒนาระยะที่ 13   มียุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการวิจัยที่ระบุว่า “พัฒนางานวิจัยและสร้างพุทธนวัตกรรมให้มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ  โดยมีเป้าประสงค์ในยุทธศาสตร์ที่ 2   จำนวน 4  เป้าประสงค์ โดยเฉพาะเป้าประสงค์ที่ 2.3  ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ หรือพุทธนวัตกรรมได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในระดับชาติหรือ นานาชาติ  โดยมีกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของเป้าประสงค์นี้ว่า “ส่งเสริม สนับสนุน การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ หรือพุทธนวัตกรรมในระดับชาติหรือนานาชาติ   และ เป้าประสงค์ที่  2.4   ผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์หรือพุทธนวัตกรรมได้รับการอ้างอิง หรือนำไปใช้ประโยชน์ในระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งกลยุทธ์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนคือ “สร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการเผยแพร่และอ้างอิง รวมถึงการสืบค้นข้อมูล งานวิจัย งานสร้างสรรค์และพุทธนวัตกรรม”

พร้อมกล่าวต่ออีกว่า แผนพัฒนามหาวิทยาลัยฯ เป็นแผนที่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึง เป็นแผนที่ในการทำงานของมหาวิทยาลัยในภาพรวมที่ทุกคนจะต้องขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายร่วมกันพระครูสุธีกิตติบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ รูปปัจจุบัน  ท่านเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1  มกราคม 2566   ได้รับมอบนโยบายจากองค์อธิการบดี คือ พระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต ที่ได้มอบนโยบายในการทำงานในประเด็นหลักๆ ดังนี้

1.พัฒนาศักยภาพอาจารย์และนักวิจัยสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ

2.การบริหารงานแบบธรรมาภิบาล โปร่งใส มีประสิทธิภาพ

3.การหาเวทีหรือช่องทางการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมา ออกสู่สาธารณชน ไม่เป็นวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ต้องเป็นวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

4.การคำนึงถึงความเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอันจะมุ่งไปสู่การสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคมนั่นเอง

จากกรอบแนวทางการทำงานที่ได้จากแผนพัฒนามหาวิทยาลัย และนโยบายของพระเดชพระคุณ          พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย    สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ โดย พระครูสุธีกิตติบัณฑิต  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ และ พระมหาเกรียงศักดิ์ อินฺทปญฺโญ, ผู้อำนวยการส่วนงานบริหาร ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ “สร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการเผยแพร่และอ้างอิง รวมถึงการสืบค้นข้อมูล งานวิจัย งานสร้างสรรค์และพุทธนวัตกรรม” โดยเข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาคุณภาพวารสารไทยเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus (2023-2025)” ที่ได้รับการตอบรับ (Accepted) เข้าสู่ฐานข้อมูล Scopus  โดยได้ทำการ submit ข้อมูล เมื่อวันที่ 3  ตุลาคม 2566 และได้รับการ accept ในวันที่ 15  ตุลาคม 2566   โดยใช้ชื่อวารสารว่า “ Journal of International Buddhist Studies E-ISSN: 2586-9620” หัวหน้ากองบรรณาธิการ: พระครูสุธีกิตติบัณฑิต   โดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเจ้าของวารสาร  นับเป็นวารสารแรกด้านพุทธศาสนาของไทยในฐานข้อมูล SCOPUS

พระราชวัชรสารบัณฑิต ในฐานะรองอธิการบดีที่กำกับดูแลสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์  ไดักล่าวปิดท้ายเพิ่มเติมว่า

“การทำให้มหาวิทยาลัยมีวารสารด้านพุทธศาสนาของไทยเข้าสู่ฐานข้อมูล SCOPUS ได้ในครั้งนี้ขออนุโมทนาขอบคุณ พระสุธีรัตนบัณฑิต อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พระครูวินัยธรสุริยา สุริโย  ผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาเขตนครศรีธรรมราช ฝ่ายวิชาการ ที่เป็นกำลังสำคัญในการติดต่อประสานงานกับศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI )และถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของพระครูสุธีกิตติบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ , พระมหาเกรียงศักดิ์ อินฺทปญฺโญ ผู้อำนวยการส่วนงานบริหาร ที่ได้ทุ่มเทกำลังแรงกาย แรงใจพร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ รวมทั้งองคาพยพของ มจร ทุกท่าน ทุกคน ในการสนองนโยบายท่านอธิการบดีสัมฤทธิ์ผลในครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าการยอมรับผลงานวิจัยของเราจาก SCOPUS คร้้งนี้จะทำให้ มจร ของพวกเราจะเป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาชาติ มากยิ่งขึ้น เพราะในทางวิชาการหาก SCOPUS ยอมรับ เครดิตเราดีขึ้นแน่ เหมือนโรงงานอุตสาหกรรม หากมีมาตรฐาน ISO รับรอง แปลว่าโรงงานนั้น ๆ  ได้มาตรฐาน..”

ตอนหน้าทีมข่าว ““Thebuddh” จะลงไปสัมภาษณ์พิเศษ  พระครูสุธีกิตติบัณฑิต  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ว่า กระบวนการขั้นตอนกว่าจะได้มาตรงนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง และอนาคตจะรักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ได้อย่างไร พบกันตอนหน้าครับ..

Leave a Reply