หรือ’เจ้าแม่กวนอิมเอไอ’ ฉุดศรัทธาโดนใจพุทธวัยโจ๋ ม.ญี่ปุ่นสอนพุทธอันดับหนึ่ง ‘มจร’ม.สงฆ์ไทยหล่นที่สอง?

หรือ’เจ้าแม่กวนอิมเอไอ’ ฉุดศรัทธาโดนใจพุทธวัยโจ๋ ม.ญี่ปุ่นสอนพุทธอันดับหนึ่ง ‘มจร’ม.สงฆ์ไทยหล่นที่สอง? : สำราญ สมพงษ์รายงาน

มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์ระบุว่า มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในโลกนี้ ที่มีการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนามาเป็นอันดับหนึ่งคือมหาวิทยาลัย RYUKOKu ประเทศญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) มหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายมาเป็นอันดับสอง ทั้งๆที่ประเทศไทยมีประชากรนับถือพระพุทธศาสนามากที่สุด ประกาศจะเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธโลก ส่วนมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้มาเป็นอันดับสาม ก็ต้องขออนุโมทนายินดีมา ณ โอกาสนี้

ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไรมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นถึงมีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนามาเป็นอันดับหนึ่งเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัด ข้อมูลไม่ระบุ

แต่อย่างไรก็ตามเว็บไซต์สยามรัฐ ( https://siamrath.co.th/n/97665) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “กวนอิมเอไอ” ฉุดศรัทธาโดนใจพุทธวัยโจ๋? ที่มีการเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมเดือนแห่งวันวิสาขบูชาโลกที่ผ่านมา พร้อมกันนี้เว็บไซต์บีบีซีไทยก็ได้รายงานเนื้อหาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้เว็บไซต์สยามรัฐได้ระบุว่า “วัดโคไดจิ” ในนครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างหุ่นยนต์“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ (AI : Artificial Intelligence)” หรือหุ่นยนต์สมองกล ทำหน้าที่ในการสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนาในพระสูตรต่างๆตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนร้านสะดวกซื้อ แบบไม่ต้องมีการหยุดพักหากมีปัจจัยจ่ายค่าไฟ หรือไม่ก็มีกระแสไฟฟ้าจากแผลงโซล่าร์เซลล์

หุ่นยนต์เอไอดังกล่าวเป็นการจำลองจาก “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” หรือ “เจ้าแม่กวนอิม” ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “คันนอน (Kannon)” โดยตั้งชื่อว่า “มินดาร์” ทำงานผ่านระบบ “แอนดรอยด์ (Android)” เฉกเช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ หรือสมาร์ทโฟน ของหลายๆ ค่าย มาเป็นสมองกล รับส่งข้อมูล ตลอดจนการประมวลผล ก่อนสำแดงประสิทธิภาพต่างๆ ออกมา นั่นคือ การสวดสาธยายพุทธมนต์ในบทต่างๆ และการแสดงพระธรรมเทศนาในพระสูตรทั้งหลาย

เจ้าแม่กวนอิมมินดาร์นี้เป็นการประดิษฐ์สร้างสรรค์ภายใต้การร่วมมือกันระหว่างวัดโคไดจิ กับ ศ.ฮิโรชิ อิชิคุโระ นักวิชาการระดับศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น กับวัดโคไดจิ โดยทางวัดจะให้ข้อมูลด้านคติธรรม หลักศาสนาต่างๆ กับทางคณะนักประดิษฐ์ ใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ ส่วนทางคณะนักประดิษฐ์ วิศวกร ภายใต้การนำของ ศ.ฮิโรชิ อิชิคุโระ ก็จะสร้างเครื่องจักรกลไกต่างๆ ให้หุ่นยนต์สามารถขยับลำตัว แขนขา และท่องสาธยายบทสวดมนต์ ตลอดจนแสดงพระธรรมเทศนาได้ โดยใช้เงินทุนประดิษฐ์และพัฒนาประมาณ 909,090 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 30 ล้านบาท (น้อยกว่างบประมาณในการสร้างวัดไทยบางวัด)

หลังจากเจ้าแม่กวนอิมมินดาร์ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกก็มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก ขณะที่กลุ่มของผู้เห็นด้วยคือนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเองโดยเห็นว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งทางหลวงพ่อเทนโช โกโตะ บอกว่า เป็นไปได้ว่า ชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เกิดและเติบโตมากับหุ่นยนต์ หรืออย่างน้อยก็การ์ตูนที่มีเรื่องราวของหุ่นยนต์ เลยไม่มีอคติกับการใช้หุ่นยนต์ในรูปแบบต่างๆ

“และด้วยเหตุนี้ทางวัดโคไดจิ ก็ขอนำร่องในการนำเอา “หุ่นยนต์พระแม่กวนอิมเอไอ” ซึ่งทางวัดเห็นว่า ก็เป็นการพัฒนาในรูปแบบปางหนึ่งของพุทธศิลป์ในพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สร้างแรงจูงใจ ชักชวนให้คนรุ่นใหม่หันหน้ามาเข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม กันมากขึ้น แล้วนำไปปฏิบัติ หรือแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของพวกเขา เพื่อสันติสุขจะได้บังเกิด โดยไม่เกี่ยงว่า ธรรมะที่พวกเขาได้รับฟังไปมาจากไหน แม้จากหุ่นยนต์เอไอก็ตาม” เว็บไซต์สยามรัฐระบุ

 

Leave a Reply